(๑๙) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 9 สิงหาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๒๗
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า โลเก ต่อ)​

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า "โลเก" สืบต่อไป​

    ถ. โลก ๑-๒-๓-๔ ได้บรรยายมาแล้ว อยากทราบว่า โลก๕-๖ เป็นต้น ยังมีอยู่อีกหรือไม่ ถ้ามีอะไรบ้าง ขอทราบ?
    ต. โลก ๕-๖ เป็นต้น ยังมีอยู่อีก คือโลก ๕ ได้แก่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นั้นคือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ โลก ๖ นั้น คือ อายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ​


    ถ. ทำไมขันธ์ ๕ กับอายตนะภายใน ๖ จึงจัดเป็นโลก?
    ต. เพราะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือมีความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา จึงได้ชื่อว่า โลก​

    ถ. โลก ๗ ได้แก่อะไรบ้าง?
    ต. ได้แก่วิญญาณฐิติ ๗​

    ถ. วิญญาณฐิติ แปลว่าอย่างไร ใครแสดงไว้ ปรากฎอยู่ในที่ไหน คืออะไรบ้าง?

    ต. แปลว่า ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ มีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้า ๔๑ "สตฺติมา ภิกฺขเว วิญฺญาณฏฺฐิติโย" ดังนี้เป็นต้น ใจความว่า "ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ" มีอยู่ ๗ ดังต่อไปนี้ คือ

    ๑. นานตฺตกายา นานตฺตสญฺญิโน สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ คือ เปรตบางหมู่​



    ๒. นานตฺตกายา เอกตฺตสญฺญิโน สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทวดาชั้นพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน​

    ๓. เอกตฺตกายา นานตฺตสญฺญิโน สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น เทวดา เหล่าอาภัสสระ​

    ๔. เอกตฺตกายา เอกตฺตสญฺญิโน สัตว์บางเหล่ามีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทวดาเหลล่าสุภกิณหะ

    ๕. อากาสานญฺจานุปคา สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ
    ๖. วิญฺญาณญฺจายตนุปคา สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงวิญญาณณัญจายตนะ
    ๗. อากิญฺจญฺญายนุปคา สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ​









    ถ. โลก ๘ ได้แก่อะไร? คืออะไรบ้าง?
    ต. ได้แก่ โลกธรรม ๘ คือ มีลาภ ๑ เสื่อมลาภ ๑ มียศ ๑ เลื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์๑​

    ถ. โลก ๘ ประการนี้ ใครเป็นผู้แสดงไว้ มีปรากฎอยู่ในที่ไหน?
    ต. สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ารงแสดงไว้ มีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๕๘​

    ถ. โลกธรรมทั้ง ๘ นี้ เกิดขึ้นแก่พระอริยเจ้าหรือไม่?
    ต. เกิดขึ้น​

    ถ. ถ้าอย่างนั้น โลกธรรมที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชนกับพระอริยเจ้าจะต่างกันตรงไหน?
    ต. ต่างกันตรงที่มีปัญญากับไม่มีปัญญา​

    ถ. มีปัญญากับไม่มีปัญญาในข้อนี้ หมายความต่างกันอย่างไร ขอฟังอธิบาย?

    ต. หมายความต่างกันอย่างนี้ คือ

    ก.เมื่อโลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแก่พระอริยเจ้า เท่านมีปัญญาพิจารณาเห็นและทราบชัดตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมแต่ละอย่างนั้นล้วนแต่เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา โลกธรรมทั้ง ๘ ก็ครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ในโลกธรรม ๘ นั้น เพราะท่านละความยินดี ละความยินร้ายได้แล้ว ท่านละได้เพราะอำนาจแห่งวิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้น ท่านจึงพ้นจากความเกิด แก่ ตาย พ้นจากความโศกเศร้า ปริเทวนาการ พ้นจากทุกข์ โทมนัส อุปายาส​




    ข. เมื่อโลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแก่ปุถุชน ย่อมไม่มีปัญญาพิจารณาเห็น และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า "โลกธรรมเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา" เพราะฉะนั้น โลกธรรมทั้ง ๘ จึงครอบงำจิตของปุถุชนได้ คือเมื่อลาภเกิดขึ้นก็ยินดี ทะเยอทะยาน เห่อเหิมไปตามอารมณ์ที่ชอบ เมื่อลาภเสื่อมไปก็เป็นทุกข์เดือดร้อน เศร้าโศกเสียใจจนถึงกับฆ่าตัวตาย กินยาตายก็มี เมื่อยศเกิดขึ้น และยศเสื่อมไป เมื่อสุขเกิดขึ้น ทุกข์เกิดขึ้น เมื่อนินทาสรรเสริญ เกิดขึ้นแก่ปุถุชน ก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกันกับมีลาภเสื่อมลาภ หมายความว่า เมื่อลาภ ยศ สรรเสริญ สุขเกิดขึ้น ย่อมยินดีพอใจ เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายคือไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เมื่อความยินดียินร้ายยังมีอยู่ ผู้นั้นก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสได้​




    ถ. โลก ๙ ได้แก่อะไรบ้าง?
    ต. ได้แก่สัตตาวาส ๙​

    ถ. สัตตาวาส แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. แปลว่าภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ หมายความว่า ผู้ที่ได้ทำกุศลขึ้นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจรไว้ เมื่อแตกตายทำลายขันธ์ไป ย่อมบังเกิดในภพต่างๆ กัน​

    ถ. ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ในข้อนี้ ใครแสดงไว้ มีปรากฎอยู่ที่ไหน มีเท่าไร อะไรบ้าง?

    ต. สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ มีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๔๑๓ ว่า "นว อิเม ภิกฺขเว สตฺตาวาสา" เป็นต้น ใจความว่า ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ภพที่เป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ๙ ดังนี้ คือ

    ๑. นานาตฺตกายา นานตฺตสญฺญิโน สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นพวกมนุษย์ พวกเทวดาบางหมู่ พวกวินิปาติกะ คือเปรตบางหมู่​




    ๒. นานาตฺตกายา เอกตฺตสญฺญิโน สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่นพวกเทวดา ชั้นพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมญาณ​


    ๓. เอกตฺตกายา นานตฺตสญฺญิโน สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น เทวดา เหล่าอาภัสระ​



    ๔. เอตฺตกายา เอกตฺตสญฺญิโน สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทวดา เหล่าสุภกิณหะ​



    ๕. อสญฺญิโน อปฺปฏิสํเวทิโน สัตว์เหล่าหนึ่ง ไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เช่น เทวดาเหล่าอสัญญีสัตว์​



    ๖. อากาสานญฺจายตนนุปคา สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ดับปฏิฆสัญญา และไม่ใส่ใจถึงสัญญาต่างๆ เลย เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ว่า"อนนฺโต อากาโส" อากาศไม่มีที่สุด​



    ๗. วิญฺญาณญฺจายตนุปคา สัตว์เหล่าหนึ่ง ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะว่า "อนนฺตํ วิญฺญาณํ" วิญญาณไม่มีที่สุด​



    ๘. อากิญฺจญฺญายตนุปคา สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงวิญญาณนัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ ว่า "นตฺถิ กิญฺจิ" นิดหนึ่ง น้อยหนึ่งไม่มี​



    ๙. เนวสญฺญานาสญฺญายตนุปคา สัตว์เหล่าหนึ่ง ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ​






    ถ. โลก ๑๐ ได้แก่อะไรบ้าง?

    ต. โลก ๑๐ หมวด ๑ ได้แก่อุปกิเลส คือ

    ๑. โลภะ ความโลภ​



    ๒. โทสะ ความคิดประทุษร้าย​

    ๓. โมหะ ความหลง​

    ๔. มานะ ความถือตัว

    ๕. ทิฏฐิ ความเห็นผิด
    ๖. วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจ
    ๗. ถีนะ ความท้อถอย
    ๘. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
    ๙. อหิริกะ ความไม่ละอายบาป
    ๑๐. อโนตตัปปะ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป​










    โลก ๑๐ หมวด ๒ ได้แก่อายตนะ ๑๐ คือ
    ๑. จักขายตนะ อายตนะ คือจักขุ​


    ๒. โสตายตนะ อายตนะ คือโสตะ​

    ๓. ฆานายตนะ อายตนะ คือฆานะ

    ๔. ชิวหายตนะ อายตนะ คือชิวหา
    ๕. กายายตนะ อายตนะ คือกาย
    ๖. รูปายตนะ อายตนะ คือรูป
    ๗. สัททายตนะ อายตนะ คือ เสียง
    ๘. คันธายตนะ อายตนะ คือ กลิ่น
    ๙. รสายตนะ อายตนะ คือ รส
    ๑๐. โผฏฐัพพายตนะ อายตนะ คือ โผฏฐัพพะ​







    ถ. โลก ๑๑ ได้แก่อะไรบ้าง?
    ต. ได้แก่กามภพ ๑๑ คืออบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย ติรัจฉาน มนุษย์ ๑ เทวดา ๖ คือ เทวดาชั้นจาตุม ๑ ชั้นดาวดึงส์ ๑ ชั้นยามา ๑ ชั้นดุสิต ๑ ชั้นนิมมานรดี ๑ ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ๑ รวมเป็นกามภพ ๑๑ พอดี

    ถ. โลก ๑๒ ได้แก่อะไรบ้าง?

    ต. ได้แก่อายตนะ ๑๒ คืออายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖

    ก. อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ​



    ข. อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะ ธรรมในที่นี้ ได้แก่เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน ๑​




    ถ. โลก ๑๘ ได้แก่อะไรบ้าง?

    ต. ได้แก่ธาตุ ๑๘ คือ

    จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ



    โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ

    ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ

    ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ

    กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ
    มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ










    ถ. ธาตุ ๑๘ นี้ เป็นรูปล้วนๆ มีเท่าไร และเป็นนามล้วนๆ มีเท่าไร เป็นทั้งรูปทั้งนาม มีเท่าไร อะไรบ้าง?

    ต.

    เป็นรูปล้วนๆ มี ๑๐ คือ จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ รสธาตุ โผฏฐัพพธาตุ




    เป็นนามล้วนๆ มี ๗ คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ​



    เป็นทั้งรูปทั้งนามมี ๑ คือ ธัมมธาตุ ธัมมธาตุ นั้นได้แก่เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน ๑ จัดเป็นรูปนามได้ดังนี้ คือ เจตสิก ๕๒ นิพพาน ๑ เป็นนาม สุขุมรูป ๑๖ เป็นรูป​




    ถ. ธรรมารมณ์ ธัมมธาตุ ธัมมายตนะ ต่างกันอย่างไร?

    ต. ต่างกันอย่างนี้ คือ

    ๑. ธรรมารมณ์ มี ๖ คือ ปสาทรูป สุขุมรูป จิต เจตสิก บัญญัติ นิพพาน​



    ๒. ธัมมธาตุ กับธัมมายตนะ เป็นอันเดียวกัน คือ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป๑๖ นิพพาน ๑​




    ถ. ในธาตุ ๑๘ นั้น อะไรเป็นธาตุรับ อะไรเป็นธาตุกระทบ อะไรเป็นธาตุรู้
    ต. ธาตุรับ ได้แก่ ทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวาร โสตทวาร เป็นต้น
    ธาตุกระทบ ได้แก่อารมณ์ ๖ มีรูปารมณ์ สัททารมณ์ เป็นต้น
    ธาตุรู้ ได้แก่วิญญาณทั้ง ๖ มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น​

    ถ. มโนธาตุ มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มี ๓ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒

    ถ. มโนวิญญาณธาตุ มีเท่าไร คืออะไรบ้าง?
    ต. มี ๗๖ คือ ในจำนวนจิตทั้งหมด ๘๙ นั้น เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ กับมโนธาตุ ๓ คงเลือ ๓๖ จิต ๗๖ ดวงนี้แหละ เป็นมโนวิญญาณธาตุ

    ถ. ธาตุเหล่านี้ใครจะมาลบล้างได้หรือไม่?
    ต. ธาตุนี้ใครจะมาลบล้างไม่ได้ จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไปและจะต้องมีการเกิดดับอยู่เสมอ

    ถ. เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธาตุ ๑๘ ไว้?
    ต. ถ้าชนเหล่าใด ถือทั้งรูป ทั้งนามว่าเป็นตัว เป็นตน พระพุทธองค์ทรงแสดงธาตุ ๑๘ เพื่อทำลายสักกายทิฏฐิของชนเหล่านั้น เพราะในธาตุ ๑๘ นั้น มีรูปกับนามเกือบเท่าๆ กัน

    ถ. ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ต่างกันอย่างไร?
    ต. ต่างกันแต่พยัญชนะ คือตัวหนังสือ ส่วนองค์ธรรมเหมือนกัน คือ รูปกับนามเท่านั้น

    ถ. เวลาปฏิบัติจะให้กำหนดว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อย่างนี้หรือจึงจะถูก?
    ต. หามิได้ ให้กำหนดเพียงแต่รูปกับนามเท่านั้น จึงจะถูก

    ถ. เวลาลงมือปฏิบัติเพื่อจะให้ได้มรรค ผล นิพพานจริงๆ ภาวนาว่า "รูปนาม ๆ" ดังนี้ ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ถูกต้องจะให้ภาวนาว่าอย่างไร?

    ต. ยังไม่ถูกต้อง เพราะกำหนดอย่างนั้นไม่ทันปัจจุบัน ไม่ทันรูปนาม การปฏิบัติกรรมฐานนั้น มีหลักสำคัญอยู่อย่างนี้ คือ

    ๑. ได้ปัจจัย คือทันรูปนาม​



    ๒. เห็นรูปนาม คือ รู้รูปนาม​

    ๓. เห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผู้ที่จะเห็นพระไตรลักษณ์ ต้องเห็นรูปนามเสียก่อน รูปนามเหมือนกับตัวเสือ พระไตรลักษณ์เหมือนกับลายเสือ ฉะนั้น ผู้ที่จะเห็นรูปนามได้ก็ต้องกำหนดให้ได้ปัจจุบัน​

    ๔. ต่อจากนั้นวิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้น จนกระทั่งถึงมรรค ผล นิพพาน เป็นปริโยสาน​







    ถ. การรู้โลกต่างๆ ดังที่บรรยายมานี้ จัดเป็นสัตว์โลกหรือสังขารโลก หรือโอกาศโลก โลกในมหาสติปัฏฐานนี้ ท่านหมายเอาอะไร?
    ต. จัดเป็นสังขารโลก โลกในมหาสติปัฏฐานนี้ ท่านหมายเอากาย

    ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐานข้อว่า "โลเก" มา ๒ วันจันทร์แล้ว เห็นว่ามีเนื้อความพิสดารพอสมควรแล้ว จึงเป็นอันว่าจบลงเพียงเท่านี้ เฉพาะวันนี้ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้​

    ;aa40​

    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)
    คำบรรยาย :วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๘
    หน้า ๑๖๕-๑๗๒


     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มีนาคม 2011

แชร์หน้านี้

Loading...