แก่นพุทธศาสน์ พุทธทาสภิกขุ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 25 มิถุนายน 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [​IMG]

    แก่นพุทธศาสน์
    เรื่อง
    ความว่าง (ตอนที่ ๑)
    พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)

    ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)
    ในอุปการะของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล
    มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์


    ๕ มกราคม ๒๕๐๕


    ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย


    การบรรยายในวันนี้จะได้ว่าด้วยเรื่องของ “ความว่าง” ทั้งนี้เป็นความต้องการของท่านผู้อำนวยการการอบรม
    เนื่องจากการบรรยายครั้งที่แล้วมาได้กล่าวถึงความว่างในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง แต่โอกาสไม่อำนวยให้กล่าวถึงเรื่องนั้น แต่เรื่องเดียวโดยเฉพาะ เพื่อความเข้าใจที่ทั่วถึง เพราะฉะนั้น เรื่องความว่างจึงคลุมเครืออยู่บางประการ จึงได้มีการบรรยายเฉพาะเรื่อง ความว่างอย่างเดียวในวันนี้
    ท่านทั้งหลายควรจะทราบว่า ความว่าง นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด ในบรรดาเรื่องของพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะว่า เป็นเรื่องหัวใจอย่างยิ่งของพุทธศาสนา นั่นเอง
    สิ่งที่เรียกกันว่าหัวใจ ก็พอจะมองเห็นหรือเข้าใจกันได้ทุกคนว่า หมายถึงสิ่งที่ลึก ที่ละเอียด สุขุม ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งการเดา หรือความตรึกไปตามความเคยชิน หรือตามกิริยาอาการของคน ธรรมดา แต่จะเข้าใจได้ก็ด้วยการตั้งอกตั้งใจศึกษา คำว่า “ศึกษา” นี้ มีความหมายอย่างยิ่งอยู่ตรงการสังเกตสนใจ สังเกตพิจารณาอยู่เสมอ ทุกคราวที่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับใจ ที่เป็นความทุกข์หรือเป็นความสุขก็ตาม ผู้ที่มีความคุ้นเคยกับการสังเกตในเรื่องทางจิตใจเท่านั้นที่จะเข้าใจธรรมะได้ดี ผู้ที่เพียงแต่อ่านๆ ไม่สามารถจะเข้าใจธรรมะได้ บางทียิ่งไปกว่านั้นก็คือจะเฝือ แต่ถ้าเป็นผู้ที่พยายามสังเกตเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของตัวเอง โดยเอาเรื่องจริงในใจของตัวเองเป็นเกณฑ์อยู่เสมอแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะฟั่นเฝือ จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ และความดับทุกข์ได้ดี และในที่สุดก็จะเข้าใจธรรมะ คือจะไม่อ่านหนังสือก็จะรู้เรื่องดี ลักษณะอย่างนี้เราเรียกว่ามีความเจนจัดทางวิญญาณ มาก คนเราตั้งแต่เกิดมาจนกว่าจะตาย ย่อมเต็มไปด้วยสิ่งๆ นี้ คือการที่ใจของเราได้สัมผัสกันเข้ากับสิ่งแวดล้อมแล้วเกิดผลเป็นอะไรขึ้นมา คราวไหนเป็นอย่างไร และคราวไหนเป็นอย่างไร เพราะว่าเรื่องที่เป็นไปเองนั้น ย่อมมีได้ทั้งฝ่ายที่เป็นทุกข์ และทั้งฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ คือทำให้ฉลาดขึ้น และมีจิตใจเป็นปกติ เข้มแข็งขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราคอยสังเกตว่า ความคิดเดินไปในรูปใด มันก่อให้เกิดความว่างจากความทุกข์ อย่างนี้แล้วจะมีความรู้ดีที่สุด และมีความเคยชินในการที่จะรู้สึกหรือเข้าใจ หรือเข้าถึงความว่างจากทุกข์นั้นได้มากขึ้น
    เพราะฉะนั้น จะต้องทำในใจไว้อย่างนี้ จึงจะเข้าใจเรื่องที่เรียกว่าลึก หรือประณีต ละเอียดสุขุมเช่นเรื่องความว่างนี้ได้
    ท่านทั้งหลายควรจะระลึกถึงข้อที่ได้กล่าวในการบรรยายครั้งก่อนว่า พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นแพทย์ในทางวิญญาณ และแบ่งโรคของคนเราออกเป็นโรคทางฝ่ายร่างกาย จิตใจ และโรคทางฝ่ายวิญญาณ โรคที่เราจะต้องไปโรงพยาบาลตามธรรมดา หรือไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาที่ปากคลองสาน เหล่านี้เรียกว่าโรคทางกายทั้งนั้น ส่วนโรคทางวิญญาณนั้น หมายถึงโรคที่ต้องแก้กันด้วยธรรมะ เพราะฉะนั้นจึงมีโรคทางจิต หรือทางวิญญาณ อีกประเภทหนึ่งต่างหากจากโรคทางกาย ข้อความในอรรถกถาเรียกโรคอย่างนี้ว่าโรคทางจิต
    แต่ว่าในภาษไทยเราเอาคำว่า “โรค” นี้มาใช้กับโรคทางกาย เช่น โรคที่จะต้องไปโรงพยาบาลที่ปากคลองสานนั้นเราเรียกกันว่า โรคจิต แต่โรคอย่างนี้ในภาษาบาลีในทางธรรมะ ยังเรียกว่าเป็นโรคทางกายอยู่นั่นเอง การแบ่งโรคเป็นโรคกายกับโรคจิตจึงมีต่างกันกับที่เราแบ่งกันในภาษาไทยเรา
    เพราะฉะนั้น อาตมาจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะเข้าใจโรค ก็ควรจะแยกเป็นโรคทางกายแท้ๆ คือทางตัวร่างกาย และโรคทางกายที่ลึกเข้าไปคือทางด้านจิตใจ (จิตไม่สมประกอบ) ทั้งสองอย่างนี้เอาไว้ทางฝ่ายร่างกาย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ก็คือฝ่ายจิตวิญญาณ คือโรคที่เกิดจากสติปัญญา ไม่ใช่ที่เกิดแก่ระบบประสาท หรือมันสมอง แต่เกิดแก่ระบบของสติปัญญา ที่จะรู้จะเข้าใจชีวิตหรือโลกตามที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นท่านจึงมีความหลง หรืออวิชชา หรือความเข้าใจผิดที่เนื่องมาจากอวิชชานั้น จะมีการกระทำที่ผิดๆ จนต้องเป็นทุกข์ ทั้งที่เราไม่เป็นโรคทางร่างกายหรือทางจิตที่ไม่สมประกอบนี้เป็นความหมายข้อแรกที่ต้องกำหนดไว้เป็นพื้นฐาน
    ที่ว่าเมื่อเรามีโรคทางจิตวิญญาณแล้วเราจะแก้กันด้วยอะไร? ถ้ากล่าวทางธรรมะ ต้องแก้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความว่าง” นั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่าง หรือ สุญญตา ในภาษาบาลีนั้น มันเป็นทั้ง ยาแก้โรค และเป็นทั้งความหายจากโรค เพราะว่าเราไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
    ยาที่จะแก้โรคก็คือความรู้ หรือการปฏิบัติ จนทำให้เกิดความว่าง ทีนี้ถ้าความว่างเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นยาแก้โรคและเมื่อหายจากโรค ก็ไม่มีอะไร นอกจากความว่างจากความทุกข์ หรือจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น คำว่า “ความว่าง” จึงหมายถึงทั้งยาแก้โรคและความหายจากโรค ความว่างมีขอบเขตกว้าง มีความหมายกว้างนั้น หมายถึงความว่างอยู่ในตัวมันเอง คือถ้าว่าเป็นความว่างแล้วต้องเป็นตัวเอง คือตัวมันเอง ไม่มีอะไรมาแตะต้อง ปรุงแต่งแก้ไข หรือทำอะไรกับมันได้ จึงถือว่าเป็นสภาพที่เป็นนิรันดร คือไม่ต้องเกิดในทีแรก แล้วดับไปในที่สุด มันจึงมี “ความมีความเป็น” อยู่อีกชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับความมีของสิ่งอื่นๆ ซึ่งมีการเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่เราก็ไม่มีคำอื่นใช้ เราจึงเรียกว่า ความมี มีสภาพที่เรียกว่า ความว่าง นี้อยู่เป็นนิรันดร
    ถ้าใครเข้าถึงหมายความว่า ถ้าจิตใจของผู้ใดเข้าถึงสิ่งๆ นี้ มันก็จะเป็นยาแก้โรค และเป็นความหายจากโรคขึ้นมาทันที เป็นสภาพที่ว่างนิรันดร คือไม่มีโรคนั่นเอง
    ท่านทั้งหลายลองพยายามคอยจับความหมายของคำว่า “ความว่าง” หรือที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “สุญญตา” นี้ให้ดีๆ ซึ่งอาตมาจะได้กล่าวเป็นลำดับไป
    สิ่งแรกที่สุกขอให้นึกว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่า บรรดาคำที่เป็นตถาคตภาษิต คือคำที่พระตถาคตกล่าวแล้วละก็ ต้องหมายถึงเรื่องความว่าง จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องอื่นเลย นอกนั้นที่ไม่ใช่เรื่องความว่างนั้น เป็นคำกล่าวของคนอื่น ไม่ใช่ของพระตถาคต คือจะเป็นคำกล่าวของสาวกชั้นหลัง ซึ่งนิยมความเยิ่นเย้อ พูดมากเรื่องไป เป็นเรื่องที่ตั้งใจจะแสดงความเฉลียวฉลาดหรือความไพเราะ ส่วนคำที่เป็นตถาคตภาษิตนั้น จะสั้นๆ ลุ่นๆ ระบุตรงไปยังเรื่องของความว่าง ว่างจากความทุกข์และว่างจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เป็นส่วนสำคัญ
    แต่ถ้าจะกล่าว ยังกล่าวได้อีกมากมายว่า เป็นความว่างจากตัวตน ว่างจากความมีอะไรเป็นตัวตน หรือเป็นของตน เพราะว่าความว่างนี้ มันมีความหมายมากมายมหาศาล จะกล่าวอย่างไรก็ได้ มันมีลักษณะว่างก็จริง แต่ว่ามีอะไรๆ ที่แสดงให้เห็นอยู่ที่นั่นมากมายเหลือที่จะพรรณนาได้
    ดังนั้น เราจะมุ่งหมายวินิจฉัยกันแต่เฉพาะ ความว่างจากความทุกข์ และ ว่างจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความว่างจากความรู้สึกว่า มีตัวเรา หรือมีของเราเท่านั้น คำว่า ความว่างในลักษณะที่จะเป็นการปฏิบัตินี้ หมายถึงความว่างอย่างนี้ ถ้าเราจะถามกันขึ้นว่า มีหลักพระพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร? ที่จะเป็นหลักกันจริงๆ เราก็จะพบว่า โดยทั่วๆ ไป พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้จักมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง คือบาลีว่า “สุญญโต โลกํ อเวกขัสสุ โมฆะราชะ สทา สโต” เป็นต้นนั้น คือมีใจความว่า “เธอจงมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง มีสติอยู่อย่างนี้ทุกเมื่อ และเมื่อเธอมองเห็นโลกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ความตายก็จะค้นหาตัวเธอไม่พบ” นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งมีใจความว่า “ถ้าใครเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่แล้ว ผู้นั้นจะอยู่เหนืออำนาจของความทุกข์ ซึ่งมีความตายเป็นประธาน” หรือเรียกกันในนามของความตาย นี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า การที่ทรงกำชับให้ดูโลก เห็นโลกโดยความเป็นของว่างนั้น เป็นสิ่งสูงสุดอยู่แล้ว ถ้าผู้ใดอยากจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ หรือความตายนี้ ก็ให้ดูโลกคือสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่มันเป็นจริง คือว่างจากความมีตัวเราหรือของเรา ทีนี้ พระพุทธภาษิตที่ถัดไป ก็คือแสดงอานิสงส์ว่า “นพพานํ ปรมํ สุญญํ” “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” ซึ่งแปลตามตัวพยัญชนะว่า ที่ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน และนิพพานคือเครื่องนำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่ง นี้ท่านต้องเข้าใจให้ชัดลงไปว่า สิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” ที่แปลว่า ดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น มีความหมายว่า เป็นความว่างอย่างยิ่ง คือเล็งถึงสิ่งซึ่งเป็นความว่างอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจว่า ว่างที่ไม่ใช่อย่างยิ่งนั้น ก็มีอยู่เหมือนกัน หมายความว่ารู้เรื่องความว่าง เข้าถึงความว่างที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือไม่ถูกต้องเต็มที่ อย่างนี้ยังไม่เป็น ความว่างอย่างยิ่ง เราจะต้องเข้าถึงด้วยสติปัญญาอย่างยิ่ง เต็มที่ จนไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตนโดยประการทั้งปวงจริงๆ จึงจะเรียกว่า ปรมํ สุญญํ คือความว่าง หรือของว่างอย่างยิ่ง ส่วนที่ว่า ความว่างอย่างยิ่งเป็นนิพพาน หรือเป็นอันเดียวกับ นิพพาน นั้น หมายความว่า ถ้ามันว่าง มันก็คือดับหมดของสิ่งที่ลุกโพลงๆ อยู่ หรือของสิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสเป็นสาย เป็นวงกลม เป็นต้น อยู่ จึงจะเรียกว่าดับอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ว่างอย่างยิ่ง กับ ดับอย่างยิ่ง มันจึงเป็นของอันเดียวกัน ที่ว่า นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง คือถ้าว่างอย่างยิ่งแล้วก็เป็นนิพพาน และเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น ข้อนี้เป็นคำพูดอย่างสมมติ ที่เรียกว่าพูดโดยโวหารสมมติ พูดโดยภาษาชาวบ้านทำนองเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้สนใจ เพราะว่า คนทั่วไปนี้ หลงในความสุข โดยไม่ต้องการสิ่งอื่นเลย จึงต้องบอกว่าเป็นสุข และเป็นสุขอย่างยิ่งด้วย แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว มันยิ่งกว่าสุข มันเหนือไปจากสุข เพราะว่าเป็นความว่าง ไม่ควรที่จะกล่าวว่า สุข หรือ ทุกข์ เลย เพราะอยู่เหนือความสุขและความทุกข์ที่คนธรรมดาเขารู้จักกันอยู่ ความว่างย่อมอยู่เหนือคำว่า “ความสุข” และ “ความทุกข์” แต่ถ้าพูดอย่างนี้คนก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จึงพูดว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดสมมติตามภาษาชาวบ้าน ไม่พูดว่า ว่างอย่างยิ่ง แต่พูดว่าสุขอย่างยิ่ง ขึ้นมาอีกโวหารหนึ่ง อีกคำหนึ่ง หรืออีกความหมายหนึ่ง เมื่อเป็นดังนี้ จะต้องถือเอาความหมายนี้ให้ถูกตรง คือว่าถ้าพูดถึงความสุขจริงๆ กันแล้ว มันต้องไม่ใช่ความสุขอย่างที่คนทั่วไปเขามองเห็น หรือมุ่งหมาย แต่ต้องเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง มีความหมายอีกแบบหนึ่ง คือว่างจากสิ่งที่ปรุงแต่งไหลเวียนเปลี่ยนแปลง อะไรต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นแหละจึงจะเรียกว่าน่าดูจริงๆ น่าชื่นใจ หรือน่าปรารถนาจริงๆ เพราะว่าถ้ามันยังไหลเวียนเปลี่ยนแปลง คือโยกเยกโคลงเคลงอยู่เสมอ มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร
    เพราะฉะนั้นความสุขทางเนื้อหนัง ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ทำนองนี้ มันจึงเป็นมายา และไม่กล่าวว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้าจะกล่าวก็เป็นความสุขตามความหมายของคนธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ใช่สุขอย่างที่เป็นนิพพาน หรือความว่าง
    เพราะฉะนั้น การที่ได้ยินคำว่า นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง นั้น อย่าเพ่อตะครุบเอาว่ามันตรงกับที่เรามุ่งหมายแล้วก็เลยฝันถึงนิพพาน โดยไม่เข้าใจความหมายว่าเป็น ความว่างอย่างยิ่ง ดังนี้เป็นต้น ทีนี้ พระพุทธภาษิตที่แสดงถึงหลักปฏิบัติเกี่ยวกับความว่างนั้น คือพระพุทธภาษิตที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อาตมากำลังเอ่ยถึงคำว่า “หัวใจของพุทธศาสนา” ฉะนั้นขอให้สนใจสักหน่อย นั่นคือพระพุทธภาษิตที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเราของเรา” ถ้าเป็นบาลีก็ว่า “สัพพเพ ธัมมา นาลํ อภินิเวสายะ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” สั้นๆ เท่านี้ ตามตัวหนังสือมีเพียงเท่านี้ แต่ถ้าขยายความในภาษาไทยไปอีกหน่อยก็ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา หรือของเรา นี่ฟังดูให้ดีอาจจะเข้าใจได้ในตัวประโยคนั้นเองว่า อันใครๆ (คือไม่ยกเว้นใคร) ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น คือทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของของเรา เป็นตัวเรา คือยึดมั่นว่า อัตตาเป็นความรู้สึกที่ว่า อหังการ เป็นของเรา ก็คือ เป็น อัตนียา แปลว่า เนื่องด้วยตัวเรา เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า มมังการ(มมังการ แปลว่า ความสำคัญว่าเป็นของเรา,อหังการ แปลว่า คติที่ถือตัวเราว่าเป็นเรา) เพราะฉะนั้น อย่าได้มีอหังการ หรือมมังการ ในสิ่งใดๆ หมด นับตั้งแต่ฝุ่นที่ไม่มีราคาอะไรเลยสักเม็ดหนึ่ง ขึ้นมาจนถึง วัตถุที่มีค่า เช่น เพชร นิล จินดา กระทั่ง กามารมณ์ กระทั่งสิ่งที่สูงไปกว่านั้น คือ ธรรมะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรค ผล นิพพาน อะไรก็ตาม ไม่ควรจะถูกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา
    เรื่องนี้ก็ได้กล่าวไว้ละเอียดแล้วในการบรรยายในบางที่บางแห่ง หาอ่านดูได้ มันยืดยาวเหมือนกัน ว่าอะไรคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ด้วยการพิสูจน์กันอย่างไร ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันด้วยพระองค์เองว่า นี่แหละคือบทสรุปของคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้นของตถาคต
    ถ้าได้ยินคำเช่นนี้ คือคำว่า ”สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” นี้แล้ว ก็เป็นอันว่าได้ยินได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ ก็เป็นอันได้ปฏิบัติทั้งหมด ถ้าได้ผลมาจากข้อนี้ ก็คือได้ผลทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องกลัวว่า มันจะมากเกินไปจนเราเข้าใจไม่ได้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบว่า สิ่งที่ตรัสรู้นั้นเท่ากับใบไม้ทั้งป่าทั้งดง แต่สิ่งที่นำมาสอนให้พวกเธอปฏิบัตินั้นกำมือเดียว ก็หมายถึง หลักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน หรือของตน นั่นเอง
    ที่ว่าถ้าได้ยินสิ่งนี้เป็นได้ยินทั้งหมดนั้น ก็เพราะว่าทุกเรื่องมันสรุปรวมอยู่ที่นี่ เพราะว่าเรื่องทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ ทีนี้ความยึดมั่นถือมั่นนี้ เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ในขณะที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นแหละเป็นความทุกข์ แล้วในขณะที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น ในขณะนั้นไม่มีทุกข์ การปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นให้เด็ดขาดลงไป เป็นว่างตลอดกาล ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นกลับมาอีกเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรอีกแล้ว
    ที่ว่าปฏิบัติในข้อนี้เป็นการปฏิบัติทั้งหมดนั้น หมายความว่า ท่านลองคิดดูว่ามันมีอะไรที่เหลืออยู่ ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เพราะในขณะที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะเป็น นาย ก. นาย ข. นาย ค. อะไรก็ตาม มีจิตใจปราศจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น ในขณะนั้นเขาก็มีอะไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เราไล่ไปตั้งแต่สรณาคมณ์ แล้วก็ ทาน แล้วก็ศีล แล้วก็ปัญญา มรรค ผล นิพพาน เป็นลำดับ ในขณะนั้นเขาเป็นคนเข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยที่ไม่ต้องตะโกน พุทธํ สรณํ คจฉามิ เป็นต้นเลย การร้องว่า พุทธํ สรณํ คจฉามิ เป็นต้น นั้น มันเป็นพิธี เป็นแบบพิธีที่เริ่มต้นด้วยของข้างนอก ยังไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่จิตใจ และถ้าในขณะใด คนใดก็ตาม มีจิตใจว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ว่าเรา-ว่าของเราแล้ว แปลว่าจิตใจกำลังว่าง เข้าถึงความว่าง มีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ เป็นอันเดียวกันกับหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะเวลาที่จิตว่างอย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้มี สรณาคมณ์ คือถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    ทีนี้เลื่อนขึ้นมาถึง การให้ทาน การบริจาค การให้ทาน การบริจาคนี้ก็หมายความว่า ให้ออกไป ให้หมดความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู หรือของกู ส่วนการทำบุญที่คิดว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาหลายเท่า เช่น ทำบุญหน่อยหนึ่งก็ขอให้ได้วิมานหลังหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นการค้ากำไรเกินควร ไม่ใช่การให้ทาน การให้ทานต้องเป็นการบริจาค สลัดสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา-ว่าของเรา นั่นแหละออกไป เพราะฉะนั้น ในขณะที่ผู้ใดมีจิตว่างจากความรู้สึกตัวว่าตัวเรา-ว่าของเรา ในขณะนั้นเรียกว่าบุคคลนั้นได้บริจาคทานถึงที่สุด เพราะว่าแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่มีแล้วจะเอาอะไรมาเหลืออยู่ ส่วนของเราก็พลอยหมดไปตามความที่ไม่มีตัวเรา เพราะเมื่อหมดความรู้สึกว่ามีตัวเรา สิ่งที่เป็นของเราก็สลายตัวลงไปเอง เพราะฉะนั้น ในขณะใดผู้ใดมีจิตใจว่างจากตัวตน ผู้นั้นได้ชื่อว่าได้บำเพ็ญทานอย่างยิ่ง แม้แต่ตัวเราก็บริจาคไปจนหมดสิ้น และพ่วงความรู้สึกว่าของเราเข้าไปด้วยจนหมดสิ้น ดังนั้น ในขณะที่มีจิตว่างอันแท้จริงนั้น จึงได้ชื่อว่ามีการบำเพ็ญทานถึงที่สุด
    ทีนี้เลื่อนขึ้นมาถึง เรื่องศีล คนที่จิตว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ตัวตน-ของตนนั้น เรียกว่าเป็นคนที่มีศีลที่แท้จริง และเต็มเปี่ยมถึงที่สุดด้วย ศีลนอกนั้น เป็นศีลล้มลุกคลุกคลาน คือศีลที่ตั้งเจตนาว่า เราจะเว้นอย่างนั้น เราจะเว้นอย่างนี้ แล้วก็เว้นไม่ได้ ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่นั่นเอง เพราะว่าไม่รู้จักปล่อยวางตัวตนเสียก่อน ไม่รู้จักปล่อยวางของของตนเสียก่อน คือไม่มีความว่างจากตัวตนเสียก่อน ศีลก็มีขึ้นไม่ได้ แม้จะมีก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เป็นอริยกันตศีล คือไม่เป็นศีลชนิดที่เป็นที่พอใจของพระอริยะเจ้าได้ เป็นโลกียศีลที่ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่เรื่อย ไม่เป็นโลกุตรศีลขึ้นมาได้ ถ้าเมื่อใดมีจิตว่างแม้ชั่วขณะหนึ่ง วันหนึ่ง หรือคืนหนึ่งก็ตาม มันก็มีศีลที่แท้จริงตลอดเวลาเหล่านั้น ทีนี้ถ้าพูดถึง สมาธิ จิตว่างนั้น เป็นสมาธิอย่างยิ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่นอย่างยิ่ง สมาธิที่พยายามปลุกปล้ำล้มๆ ลุกๆ มันก็ยังไม่ใช่สมาธิ และยิ่งสมาธิที่มีความมุ่งหมายเป็นอย่างอื่น นอกจากเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์แล้ว ล้วนแต่เป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น ท่านต้องทราบไว้ว่ามันมีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นคำว่า “สมาธิ” ในที่นี้ เราหมายถึง สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิอย่างอื่น ก็เป็นมิจฉาสมาธิไปหมด จิตที่ว่างจากความยึดมั่นว่าเราว่าของเราเท่านั้น ที่จะมั่นคงเป็นสมาธิได้อย่างแท้จริงและสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีจิตว่างจึงเป็นผู้ที่มีสมาธิอย่างถูกต้อง
    ทีนี้มาถึง ปัญญา เลื่อนขึ้นมาถึงปัญญา ยิ่งบ่งชัดว่ารู้ความว่าง หรือเข้าถึงความว่าง หรือเป็นตัวความว่างนั้นเองก็ตาม นั้นเป็นตัวปัญญาอย่างยิ่ง เพราะว่า ขณะที่มีจิตว่างนั้น เป็นความเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ขณะที่เป็นความโง่อย่างยิ่งก็คือ ขณะที่โมหะ หรือ อวิชชาเข้ามาครอบงำอยู่แล้ว ทำให้ยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ ว่าเป็นตัวตน หรือของตน ลองคิดดูก็จะเห็นได้ง่ายๆ ชัดแจ้งด้วยตนเองว่า พอสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว มันจะโง่ได้อย่างไร เพราะว่าความโง่มันเพิ่งเข้ามาต่อเมื่อมีอวิชชา ไปหลงยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ว่าของเรา ขณะที่จิตว่างจากความโง่อย่างนี้ ก็เข้าถึงความว่างจากตัวเรา ว่างจากของเรา มันก็ต้องเป็นความรู้ หรือเป็นปัญญาเต็มที่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉลาดเขาจึงพูดว่า ความว่างกับปัญญา หรือสติปัญญานี้เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่เป็นของสองสิ่งที่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นสิ่งๆ เดียวกันเลย ข้อนี้ย่อมหมายความว่า ปัญญาที่แท้จริง หรือถึงที่สุดของปัญญานั้น ก็คือความว่างนั่นเอง คือว่างจากโมหะที่หลงยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง หมายความว่า พอเอาโมหะอันนี้ออกไปเสีย จิตก็ถึงสภาพเดิมของจิตที่เป็นจิตเดิมแท้ คือปัญญา หรือสติปัญญา แต่คำว่า “จิต” อย่างที่กล่าวในที่นี้ มีความหมายเฉพาะในเรื่องที่กล่าวมานี้เท่านั้น คนอื่นอาจให้ความหมายแก่คำว่าจิตเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ได้เป็นจิตที่เป็นอันเดียวกันกับปัญญาอย่างนี้ก็ได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายอย่าได้เอาไปปนกัน ที่พูดว่า จิต ๘๙ ดวง จิต ๑๒๑ ดวงนั้นไม่ใช่เรื่องนี้ ตนละเรื่องกัน สิ่งที่เราเรียกว่าจิตเดิมแท้ ที่เป็นอันเดียวตัวเดียวกันกับปัญญานั้น เราหมายถึงจิตที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน
     
  2. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    แก่นพุทธศาสน์
    เรื่อง
    ความว่าง (ตอนที่ ๒)
    พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)


    ที่จริงสภาพอันนี้ก็ไม่ควรจะเรียกว่าจิตเลย ควรจะเรียกว่า ความว่าง แต่โดยเหตุที่มันเป็นสิ่งที่รู้อะไรได้ เราจึงเรียกว่าจิต หรือกลับมาเรียกจิตอีกทีหนึ่ง นี้มันแล้วแต่พวกไหนจะนิยมอย่างไร แต่ถ้าจะพูดไปตามที่เป็นจริงหรือตามธรรมชาติจริงๆ ก็พอจะพูดได้ว่า ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตก็คือสติปัญญา คือจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นในความว่างนั้นเอง จึงเป็นปัญญาโดยสมบูรณ์ ถ้าเลื่อนขึ้นไปถึง มรรค-ผล-นิพพาน มรรคผลนิพพานนั่นแหละ คือความว่างในระดับหนึ่งๆ สูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงที่เรียกว่า “ปรมสุญญตา” หรือ “ปรมํ สุญญํ” คือว่างอย่างยิ่ง
    นี่ท่านจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ สรณาคมน์ขึ้นไป แล้วถึง ทาน แล้วถึง ศีล ถึง สมาธิ ถึง ปัญญา ก็ไม่มีอะไรนอกไปจากความว่าง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน และมรรคผล นิพพาน ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ แต่เป็นขั้นเด็ดขาด ขั้นที่ถึงที่สุด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ได้ฟังข้อนี้คือได้ฟังทั้งหมด ได้ปฏิบัติข้อนี้ คือได้ปฏิบัติทั้งหมด และได้รับผลจากข้อนี้ คือการได้รับผลทั้งหมด โดยประโยคเพียงประโยคเดียวว่า “สพเพ ธมมา นาลํ อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเรา-ว่าของเรา” จงพยายามเก็บใจความขึ้นมาด้วยตัวเอง ให้ได้ความหมายของคำว่า “ความว่าง” นั้นเป็นอย่างไร ทีนี้ เรามาลองนึกถึงสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงนี้ไม่มีอะไรอื่น นอกจากสิ่งที่เราเรียกว่า “ธรรม” ในภาษาบาลีคือคำว่า ธมม ในภาษาสันสกฤตเขียม ธรม ในภาษาไทยเขียนว่า ธรรม ฌฉยๆ สามเสียงนี้มันจะออกสียงต่างกันอย่างไร มันก็หมายถึง ธรรมะ ซึ่งแปลว่า “สิ่ง” เท่านั้นแหละ “สพเพ ธมมา ก็แปลว่า สิ่งทั้งปวง” ท่านต้องทำในใจให้แจ่มแจ้ง เล็งถึงสิ่งทั้งปวงกันก่อนว่า ถ้าเราพูดเป็นไทยๆว่า “สิ่งทั้งปวง” แล้วมันหมายถึงอะไรบ้าง มันก็ต้องหมายถึงสิ่งทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไรหมด จะเป็นเรื่องโลก หรือเรื่องธรรมะ ก็คือสิ่งทั้งปวง จะเป็นฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายจิตใจ ก็คือสิ่งทั้งปวง หรือถ้าจะมีอะไรมาไปกว่านั้นอีก คือมากไปกว่าวัตถุ หรือ จิตใจ คือมีสิ่งที่สามขึ้นมาอีก ก็ยังคงเรียกว่าสิ่งทั้งปวง ซึ่งรวมความอยู่ในคำว่า “ธรรม” อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น อาตมาจึงแนะให้ท่านทั้งหลายรู้จักสังเกตว่า ? ตัวโลก คือสิ่งที่เป็นวัตถุ กล่าวคือ ตัวโลกทั้งหมดในฝ่ายวัตถุธรรมนี้ประเภทหนึ่ง ก็คือ ธรรม ? แล้วตัวจิตใจที่จะรู้จักโลกทั้งหมดทั้งสิ้น ก็คือ ธรรม ? ถ้าใจกับโลกกระทบกัน การกระทบนั้น ก็เป็น ธรรม ? แล้วผลของการกระทบนั้นเกิดอะไรขึ้น เกิดเป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ขึ้นมาก็ตาม หรือเกิดเป็นสติปัญญา รู้แจ่มแจ้งไปตามความเป็นจริงก็ตาม มันก็เรียกว่า ธรรม ทั้งนั้น
    ? จะถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ก็เรียกว่า ธรรม ทั้งนั้น ? ทีนี้ สติปัญญาก่อให้เกิดความรู้เป็นระบบต่างๆ ขึ้นมา อันนี้ ก็คือ ธรรม ? ความรู้นั้นเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติ เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา การปฏิบัตินั้นก็คือ ธรรม ? ครั้นปฏิบัติสิ่งต่างๆ ลงไปแล้ว ผลย่อมจะเกิดขึ้น สรุปแล้วเรียกว่า มรรค ผล นิพพาน เหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นแม้ผลนี้ ก็คือ ธรรม เพราะฉะนั้น สรุปแล้วมันก็คือธรรมทั้งนั้น กินความมาตั้งแต่เปลือกแท้ๆ กล่าวคือ โลก หรือ วัตถุ แล้วกินความจนถึงจิตใจ ถึงการกระทบระหว่าง ใจกับโลก ถึงผลที่เกิดขึ้นจากการกระทบ เป็นความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว กระทั่งเป็น วิชชาความรู้ชนิดที่ให้เกิดความรู้ทางธรรมะ การปฏิบัติธรรมะและ มรรค ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าเห็นทั้งหมดนี้แต่ละอย่างๆ ชัดเจนแล้ว ก็เรียกว่าเห็นสิ่งทั้งปวง แล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สิ่งทั้งปวงดังที่ว่ามานี้แหละ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นส่วนไหนเลย ว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของเรา คือส่วนที่เป็นวัตถุหรือร่างกายนี้ก็ยึดถือไม่ได้ ส่วนที่เป็นจิตใจก็ยิ่งยึดถือได้ เพราะมันยิ่งเป็นมายา ยิ่งไปกว่าส่วนที่เป็นวัตถุเสียอีก เพราะฉะนั้นจึงมีคำตรัสว่า ถ้าจะยึดถือตัวตนกันแล้ว น่าจะยึดถือที่ตัววัตถุดีกว่า เพราะมันยังเปลี่ยนแปลงช้ากว่า ไม่เป็นมายาหลอกลวงเหมือนจิตใจ อย่างที่เราเรียกกันว่า นามธรรม นั้น จิตใจในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “จิต” อันเป็นตัวเดียวกันกับความว่างอย่างที่กล่าวเมื่อตะกี้ แต่หมายถึงจิตที่เป็นความรู้สึกทางจิต ต่างๆ อันเป็นจิตที่คนธรรมดารู้จัก ทีนี้การกระทบกันระหว่างโลกกับจิตใจ มีผลเป็นความรู้สึกต่างๆ เป็นความรัก ความเกลียด ความโกรธ เหล่านี้ก็คือ ธรรม ซึ่งก็ยิ่งยึดถือไม่ได้ เพราะมันเป็นมายาที่เกิดจากมายา ที่เป็นฝ่ายกิเลส แล้วยิ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งในการที่จะไปยึดถือเข้า
    ทีนี้แม้ว่าเป็นฝ่ายสติปัญญา ก็ยังสอนไม่ไห้ยึดถือว่าเรา-ว่าของเรา เพราะว่ามันเป็นเพียงสักว่าธรรมชาติ ถ้าไปยึดถือเข้าจะเกิดความหลงผิดขึ้นมาใหม่ จะมีตัวเราและมีของเรา คือมีเราผู้มีสติปัญญา และมีสติปัญญาของเรา เป็นความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ก็เป็นความหนักเนื่องด้วยความยึดถือนั้นจนเกิดความรวนเรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้นแล้วก็เป็นทุกข์
    ทีนี้ก็มาถึงความรู้ ก็ให้ถือว่าเป็นสักแต่ว่าความรู้ อย่าได้ไปหลงยึดมั่นถือมั่น จะเกิดอาการของวีลพตปรามาสต่างๆ ขึ้นมา แล้วก็จะต้องเป็นทุกข์โดยไม่รู้สึกตัวเพราะเหตุนั้น
    การปฏิบัติธรรมะนั้นก็เหมือนกัน มันเป็นสักว่าการปฏิบัติเป็นความจริงของธรรมชาติ ทำลงไปอย่างไร ผลย่อมเกิดขึ้นอย่างนั้น โดยสมส่วนกันเสมอ จะไปเอามาเป็นเรา เป็นของเราไม่ได้ เพราะถ้าเกิดไปยึดมั่นถือมั่น จะหลงผิดขึ้นมาอีก เป็นการสร้างตัวตนที่ลมๆ แล้งๆ ขึ้นมาอีก ล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์เหมือนกับที่ไปยึดในเรื่องกามารมณ์หรือยึดในเรื่องผิดๆ อย่างอื่นก็เหมือนกัน พอมาถึงมรรค ผล นิพพาน นั่นก็คือ ธรรม หรือ ธรรมชาติ ที่เป็นอย่างนั้นเอง หรือแม้ที่สุด ตัวความว่างเอง ก็สักแต่ว่าธรรมชาติ พระนิพพานเอง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับความว่าง ก็เป็นสักแต่ว่าธรรมชาติ ถ้าไปยึดถือเข้าก็เป็นผิดนิพพาน หรือผิดความว่าง ผิดตัวนิพพาน เพราะว่านิพพาน หรือว่าความว่างจริงไม่ใช่วิสัยที่จะถูกยึดมั่น-ถือมั่น ว่าตัวหรือว่าของตัวได้เลย
    เพราะฉะนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่า ถ้าผู้ใดยึดมั่นลงไปที่นิพพาน หรือความว่าง ย่อมจะผิดตัวความว่าง หรือผิดตัวนิพพานทันที
    นี่คือการบอกให้ทราบว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรม ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากธรรม คำว่าธรรมนี้ หมายถึงธรรมชาติ ธรรมชาติเท่านั้นที่ว่าธรรมะล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือ นี้คือธรรมชาติ ถือหลักให้ตรงตัวพยัญชนะว่าธรรมะได้เลย กล่าวคือคำธรรมะนี้ แปลว่าสิ่งที่ทรงตัวมันอยู่ ถ้าสิ่งใดมีการทรงตัวอยู่แล้ว สิ่งนั้นเรียกว่าธรรม และแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือสิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนี้ประเภทหนึ่ง กับสิ่งที่ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง นี้อีกประเภทหนึ่ง ท่านไปดูเอาเองจะพบว่ามันมีเพียงสองสิ่งนี้ สิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเพราะมีอะไรปรุงแต่ง นั้นมันมีการทรงตัวมันเอง อยู่ที่ความไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนั้นเอง หรือว่ากระแสความไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนั้นแหละคือตัวมันเอง เป็นความหมายของคำว่าธรรมะ คือทรงตัวอยู่ ส่วนสิ่งใดที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งนี้หมายถึงพระนิพพาน หรือความว่างอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งนี้มันก็มีการทรงตัวมันเองอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลง คือภาวะแห่งการไม่เปลี่ยนแปลงนั่นแหละคือตัวมันเอง ในที่นี้มันจึงเป็นธรรมะประเภทที่ไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง
    แต่ทั้งประเภทที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงก็ตาม และไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม มันก็สักแต่ว่า ธรรมคือสิ่งที่ทรงตัวมันเองอยู่โดยภาวะอย่างหนึ่งๆ ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าธรรมชาติ จึงไม่มีอะไรที่มากไปกว่าสิ่งที่เป็นเพียงธรรมชาติ จึงว่ามีแต่ธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีอะไร มีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
    เมื่อเป็นธรรมะเท่านั้นแล้ว จะไปยึดถือว่าเรา-ว่าของเราได้อย่างไร? หมายความว่ามันเป็นเพียงธรรมชาติ ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่าธรรม คำว่าธรรมะในกรณีอย่างนี้ แปลว่าธรรมชาติหรือธรรมดา ซึ่งหมายความว่าเป็น ตถาตา คือ มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเพียงธรรมะ สิ่งทั้งปวงจึงไม่มีอะไรนอกจากธรรม หรือธรรมก็ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งทั้งปวง ดังนั้นก็แปลว่า สิ่งทั้งปวงคือธรรมะ
    เพราะฉะนั้น ธรรมะแท้จะต้องว่างจากตัวตนหมด ไม่ว่าธรรมะส่วนไหน ข้อไหน ชั้นไหน ประเภทไหน ธรรมะจะต้องเป็นอันเดียวกันกับความว่าง คือว่างจากตัวตนนั่นเอง
    เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหาให้พบ ความว่างในสิ่งทั้งปวง หาให้พบความว่างที่สิ่งทั้งปวง หรือว่าจะศึกษาความว่าง ก็ต้องศึกษาที่สิ่งทั้งปวง ซึ่งรวมเรียกสั้นๆ ว่า “ธรรม” หรือจะพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าสิ่งทั้งปวงก็สักแต่เท่ากับธรรมะ ธรรมะเท่ากับสิ่งทั้งปวง หรือสิ่งทั้งปวงเท่ากับความว่าง เพราะฉะนั้น ความว่างก็เท่ากับธรรมะ แล้วแต่จะพูด แต่ให้รู้ความจริงว่า มันไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติที่เป็นความว่าง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเลยว่าเราหรือว่าของเราก็ตาม
    เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะเห็นได้ชัดว่า ความว่างนี้ หรือของว่างนี้ ก็คือความจริงของสิ่งทั้งปวง ต้องหมดความหลงโดยประการทั้งปวงเท่านั้น จึงจะเห็นความว่าง หรือถ้าเห็นความว่างนั้น ก็คือปัญญาที่ไม่หลง ปัญญาที่แท้ที่บริสุทธิ์ที่ไม่หลง แต่ทีนี้มันมี ธรรมะอีกประเภทหนึ่ง คือธรรมะประเภทอวิชชา หรือความหลงผิด เป็น ปฏิกิริยาที่เกิดมาจากการที่จิตใจกระทบกับวัตถุหรือโลก เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เมื่อจิตใจหรือธรรมประเภทจิตใจกระทบกันกับธรรมประเภทวัตถุนี้ ย่อมมีปฏิกิริยาเป็นความรู้สึก ในความรู้สึกนี้เดินไปทางอวิชชาก็ได้ เดินไปทางวิชชา คือรู้แจ้งก็ได้ มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อม แล้วแต่สภาพตามที่เป็นอยู่จริงของสังขารกลุ่มนั้น หรือของธรรมะกลุ่มนั้น มันจะเป็นไปในรูปไหน เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมอีก ไม่ใช่สิ่งอื่น แต่เป็นธรรมะฝ่ายอวิชชา ทำให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นไปในทางที่มีตัวตนหรือของตน แต่อย่าลืมว่า นี้ก็คือสักแต่ธรรม เนื้อแท้ของมันก็คือความว่าง
    ฉะนั้น อย่าลืม อวิชชา ก็คือความว่าง เท่ากันกับวิชชา หรือเท่ากันกับนิพพาน มันเป็นธรรมะเท่ากัน ถ้าเรามองว่าเป็นธรรมะเท่ากันแล้ว เราจะเห็นว่าว่างจากตัวตนอยู่เรื่อย ธรรมะในขั้นนี้ แม้จะเป็นสิ่งเดียวกันกับความว่างอย่างนี้ มันก็มีผลไปอีกทางหนึ่ง ตามแบบของอวิชชาคือทำให้เกิดเป็นมายา ว่าตัวว่าตนขึ้นมาได้ในความรู้สึก หรือในความยึดถือ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังให้ดี ในธรรมที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นหรือประเภทอวิชชา และมันก็ผสมอยู่ในสิ่งทั้งปวง รวมอยู่ในคำว่า “สิ่งทั้งปวง” คำเดียวกันด้วย ฉะนั้น ถ้าเรารู้จักวิ่งทั้งปวงจริงๆ แล้ว ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นที่เป็นอวิชชานี้ ไม่อาจเกิด ทีนี้หากว่าเราไม่รู้ธรรมะ หรือไม่รู้สิ่งทั้งปวง ปล่อยไปตามอำนาจของสัญชาตญาณอย่างสัตว์ที่ยังไหลยังหลงอยู่ มันจึงได้ช่องได้โอกาส แก่ธรรมะฝ่ายอวิชชา หรือฝ่ายยึดมั่นถือมั่นไปเสียตะพึด
    ฉะนั้น คนเราจึงมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นกันอยู่คล้ายกับว่าเป็นมรดกที่ตกทอดมาตั้งแต่ไม่รู้ว่าครั้งไหน เราจะเห็นได้ว่า พอเกิดมาก็ได้รับการอบรมแวดล้อมโดยเจตนาบ้าง ไม่เจตนาบ้าง ให้เป็นไปแต่ในธรรมะฝ่ายที่ไม่รู้ คือเป็นไปแต่ในทางยึดมั่นว่าตัวว่าของตนทั้งนั้น การอบรมให้รู้ไปในทางไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนี้ไม่ได้ทำกันเลย
    เด็กๆ เกิดมาไม่ได้รับการอบรมอย่างนี้กันเลย มีแต่ได้รับการอบรมไปในทางมีตัวมีตนทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าเด็กๆ เกิดมานั้น จิตอันเดิมของเด็กๆ นั้นยังไม่มีตัวมีตนอะไรมากมาย แต่มาได้รับการแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน พอลืมตา พอรู้สึกอะไรได้ ก็มีการแวดล้อมให้ยึดถือว่า พ่อของตน แม่ของตน ที่อยู่อาศัยของตน อาหารของตน แม้แต่จานสำหรับจะกินข้าวก็ต้องใบนี้เป็นของตน คนอื่นมากินไม่ได้ อาการที่เป็นไปเองโดไม่ได้ตั้งใจโดยอัตโนมัติ อย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อย คือความรู้สึกว่าตัวตนนี้เกิดขึ้นมา แล้วเจริญงอกงามขึ้นเรื่อย ส่วนความรู้สึกที่ตรงข้าม ไม่เป็นไปในทางตัวตนไม่มีเลย แล้วมันจะเป็นอย่างไร กว่าเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนแก่คนเฒ่านี้ มันก็หนาไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน
    นี่แหละ เราจึงมีตัวตนเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นตัวตน คือมีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั่นแหละเป็นชีวิต หรือเป็นชีวิตตามธรรมดา ก็คือสัญชาติญาณแห่งความยึดมั่นว่าตัวตนแล้วเรื่องมันจึงเป็นไปในทางที่มีแต่จะเป็นทุกข์ เป็นความหนัก กดทับ บีบคั้น ร้อยรัด พัวพัน หุ้มห่อ เสียบแทง เผาลน ซึ่งเป็นอาการของความทุกข์ทั้งนั้น จึงเป็นอันว่า ถ้าลงยึดมั่นถือมั่นแล้ว แม้ในฝ่ายดี ในด้านดีก็เป็นความทุกข์ ทีนี้ฝ่ายโลกมาสมมติฝ่ายดี หรือด้านดีกันแบบนี้ มันจึงเป็นความผิด หรือความชั่ว แต่ความดีก็ยังเป็นความทุกข์ตามแบบของคนดี เพราะว่ามันยังไม่ว่าง มันยังวุ่นอยู่เหมือนกัน ต่อเมื่อมีความว่างอยู่เหนือดี จึงจะไม่ทุกข์
    เพราะฉะนั้น หลักใหญ่ของพุทธศาสนา จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการกำจัดสิ่งนี้เสีย เพียงคำเดียวเท่านั้น กล่าวคือกำจัดความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน หรือของตนนี้เสีย โดยอาศัยบทที่ว่า สพเพ ธมมา นาลํ อภินิเวสาย นั่นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ทีนี้เมื่อเรามาเป็นตัวเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่น อย่างเป็นตัวเดียวกันแท้ดังนี้แล้ว เราจะทำอย่างไร? ใครจะช่วยเรา? หรือว่าถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้เสียเองแล้ว ใครจะไปช่วยจิต? อย่างนี้ก็ได้ตั้งปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ มันก็ไม่มีอะไรอีก มันก็คือจิตอีกนั่นแหละ เพราะได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ ความผิดก็ธรรมะ ความถูกก็ธรรมะ ความทุกข์ก็ธรรมะ ความดับทุกข์ก็ธรรมะ เครื่องมือแก้ไขความทุกข์ก็ธรรมะ ตัวเนื้อหนังร่างกายก็ธรรมะ ตัวจิตใจก็ธรรมะ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ มันจะต้องเป็นไปในตัวของมันเอง โดยอาศัยกลไกที่เป็นไปได้ในตัวมันเอง อย่างนี้เราจะเรียกว่าเป็นบุญหรือเป็นบาปก็สุดแท้ คือว่าถ้าใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อกระทบโลกนี้มากเข้า เกิดเป็นไปในทางสติปัญญา อย่างนี้ก็เป็นบุญ ที่นี้ใครคนหนึ่งเมื่อได้กระทบกับโลกนี้มากเข้า เป็นไปในทางความโง่ ความหลงมากขึ้น อย่างนี้มันก็เป็นบาป เราสังเกตดูจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครเสียเปรียบใคร เราเกิดมาก็เป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกคน คือเราก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ อยู่ด้วยกันทุกคน แล้วข้างนอกก็มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัส มีธรรมารมณ์ ให้ด้วยกันทุกคน แล้วมีโอกาสที่จะกระทบกับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยกันทุกคน และกระทบเหมือนๆ กันทุกคน แต่แล้วทำไมมันจึงแยกเดินไปทางโง่บ้าง ฉลาดบ้าง เพราะฉะนั้นที่แยกเดินไปในทางฉลาดก็นับว่าเป็นกุศลหรือเป็นบุญ ที่มันแยกเดินไปในทางโง่ก็นับว่าเป็นบาปเป็นอกุศล แต่มันยังดีอยู่ว่า ธรรมะนี้ ดูช่างจะเป็นเครื่องคุ้มครองคนเสียจริงๆ โดยที่มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าถูกความทุกข์เข้าแล้วย่อมรู้จักหลาบ รู้จักจำ เหมือนอย่างว่า เด็กๆ เอามือไปจับขยำเข้าที่ไฟอย่างนี้ มันก็คงไม่ยอมขยำอีก เพราะมันรู้จักหลาบรู้จักจำ แต่ว่านี่มันเป็นเรื่องทางวัตถุ มันง่าย ส่วนเรื่องที่ไปขยำเอาไฟ คือความยึดมั่นถือมั่น หรือความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้านี้ โดยมากมันกลับไม่รู้สึกว่าเราขยำไฟ มันก็เลยไม่มีอาการที่ว่า รู้จักหลาบรู้จักจำ มันกลับไปเห็นไปตามความหลงนั้นว่า เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาไปเสีย
    การที่จะแก้ไขได้ก็มีอยู่ทางเดียวคือว่า รู้จักมันอย่างถูกต้องว่า ธรรมะนี้คืออะไร จนรู้ว่า ธรรมะนี้คือไฟ คือยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ มันก็จักเป็นไปในทางสติปัญญา รู้จักหลาบรู้จักจำต่อการที่จะไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นอะไร ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา แล้วเกิดไฟขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นไฟเผาใจไม่ใช่ไฟไหม้มือ แต่บางทีมันก็เผาลึกเกินไป จนไม่รู้สึกว่าเป็นไฟหรือความเร่าร้อน ฉะนั้นคนจึงจมอยู่ในกองไฟหรือในวัฏสงสารอันเป็นกองไฟที่เร่าร้อนอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าเตาหลอมเหล็กอย่างนี้ ถ้าเรามองเห็นเช่นเดียวกับที่เด็กขยำไฟ และไม่ยอมจับไฟต่อไปแล้ว มันก็เป็นไปตามทางนั้นได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสอธิบายข้อนี้ไว้ว่า เมื่อเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นเมื่อใด จิตก็จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นเมื่อนั้น นี่แหละปัญหามันมีอยู่ว่า เราเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นหรือยัง ถ้ายังมันก็ยังไม่คลาย ถ้าไม่คลาย ก็ไม่ว่าง ภาษิตในมัชฌิมนิกายมีอย่างนี้ เป็นรูปพถทธภาษิต และยังตรัสไว้ในที่อีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อใดเห็นความว่าง เมื่อนั้นจึงจะพอใจในนิพพาน คือย้อนไปดูอีกทีหนึ่งว่า “เมื่อใดเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นจิตจึงจะคลายจากความยึดมั่นถือมั่น” เมื่อใดจิตคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นจึงจะมีโอกาสมองเห็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าความว่าง คือว่างจากตัวตน
    พอเริ่มเห็นความว่างจากตัวตนเท่านั้น จิตจะเหไปพอใจในอายตนะนั้น คือ นิพพาน อายตนนั้น คือ นิพพาน ก็หมายความว่า นิพพาน ก็เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่เรารู้จักได้เท่านั้น สิ่งใดที่อยู่ในวิสัยที่เราจะรู้จักมันได้โดยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว สิ่งๆนั้นเรียกว่า “อายตนะ” ทั้งนั้น
    ท่านได้ลดเอานิพพานนี้ลงมาให้เป็นอายตนะอันหนึ่งเหมือนกับอายตนะทั้งหลาย แล้วเรายังจะโง่จนถึงกับไม่รู้จักอายตนะนี้ได้อย่างไร เราจะรู้จักได้ต่อเมื่อเห็นว่าว่างจากตัวตน เพราะคลายความยึดมั่นถือมั่น จึงจะพอใจในอายตนะ คือนิพพาน
    การที่จะให้พอใจในนิพพานนี้มันยากเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วว่า คนเรามีชีวิตเป็นความยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่คลาย เมื่อไม่คลายก็ไม่เห็นความว่าง ไม่พอใจในอายตนะคือนิพพาน เราจะมองเห็นความจริงข้อนี้ได้ โดยมองออกไปถึงศาสนาอื่นดูบ้าง ในศาสนาอื่นนั้นไม่มีคำว่า อัตตวาทุปาทาน (อัตตวาทุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรา) เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะเหตุว่าในลัทธิอื่นนั้น เขามีตัวสำหรับให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น จึงไม่ถือว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรานี้เป็นของผิด มันกลายเป็นเรื่องถูกไป มันกลายเป็นความมุ่งหมายของศาสนา หรือของลัทธินั้นๆ ไปทีเดียว คือว่าสอนให้เข้าถึงสภาพที่เป็นตัวเราให้ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่มีคำว่าอัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ซึ่งพระพุทธศาสนาสอนว่าต้องละเสีย เขากลับมีตัวเราให้ยึดถือ ในพุทธศาสนาเรานี้ มีอัตตวาทุปาทาน คือกำหนดชื่อลงไปว่านี้เป็นกิเลส นี้เป็นความโง่ นี้เป็นความหลง คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา เพราะฉะนั้น หลักปฏิบัติจึงมีอยู่ตรงที่ให้ละอัตตวาทุปาทานนี้เสีย เพราะฉะนั้นคำสอนเรื่องอนัตตาจึงมีแต่ในพุทธศาสนา ไม่มีในคำสอนลัทธิอื่น ซึ่งสอนให้มีอัตตา ให้ยึดมั่นถือมั่น แล้วเข้าถึงให้ได้ ส่วนเรานี้ ให้ทำลายความรู้สึกว่าตัวตนเสียให้หมดเลย ให้เห็นสภาพเป็นอนัตตา คือว่างจากอัตตาในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
     
  3. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    แก่นพุทธศาสน์
    เรื่อง
    ความว่าง (ตอนที่ ๒) ต่อ
    พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)


    อนัตตาจึงมีแต่พูดกันแต่พวกเราพุทธศาสนา จะมีความรู้ความเข้าใจขึ้นมาได้ ก็แต่ในหมู่บุคคลที่ถูกสอนว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าสอนว่ามีอัตตาที่ควรยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะปฏิบัติเพื่อความว่างจากตัวตนนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องสังเกตให้เห็นในข้อที่ว่า มันต้องเห็นโทษของไฟ เราจึงจะกลัวไฟไหม้เรา เช่นเดียวกับที่เราต้องเห็นโทษของไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือไฟของความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ซึ่งเป็นต้นเหตุของไฟทั้งปวงนี้ มันจึงจะค่อยๆ เบื่อหน่ายเกลียดชังสิ่งที่เรียกว่าไฟ คือคลายความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ไม่คิดที่จะก่อไฟอีกต่อไป
    ทีนี้ ก็มาถึงความว่าง ที่ว่าถ้าเห็นแล้วจะพอใจในนิพพาน นั้น เราต้องเข้าใจให้ดีๆ ว่า ความว่างนี้เป็นอย่างไร? ความว่างในขั้นแรกก็คือว่า ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราของเรา เรียกว่าว่าง ถ้าความรู้สึกว่าตัวเราของเรามีอยู่แล้ว มันก็ไม่ใช่ความว่าง มันเป็นจิตที่กำลังวุ่นอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเราของเรา
    ฉะนั้น เราเอาคำสองคำขึ้นมาเป็นเครื่องช่วยการกำหนดจดจำว่า ว่างกับวุ่น ว่างคำหนึ่ง วุ่นคำหนึ่ง ว่างก็คือว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราหรือของเรา วุ่น ก็คือมันวุ่น มันกลุ้ม มันปั่นป่วนอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวเราของเรา
    ที่ว่าว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราว่าของเรานั้น มันมีอาการอย่างไร? บาลีที่เป็นพระพุทธภาษิตเรียงไว้ให้ ๔ ข้อ คือว่า “น อหํ กวจินิ” รู้สึกว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา “น กสสจิ กิญจนํ กิสมิญจิ” ความกังวลต่อสิ่งใดหรือในอะไรๆ ก็ไม่มีว่าเป็นตัวเรา นี้คู่หนึ่ง คู่ที่ ๒ ก็ว่า “น มม กวจินิ” ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา “กิสมิญจิ กิญจนํ นตถิ” กังวลในอะไรๆ ก็ไม่มีว่าของเรา
    เอากันง่ายๆ เป็นไทยๆ ก็ว่าไม่รู้สึกว่ามีเราแล้วก็ไม่มีกังวลอะไรที่เป็นตัวเรา แล้วอีกคู่หนึ่งก็ว่า ไม่มีอะไรว่าเป็นของเรา แล้วไม่มีกังวลในอะไรว่าเป็นของเรา
    เรารู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นเรา แต่บางทีก็มีเหลืออยู่เป็นกังวลว่าจะมีอะไรเป็นของเรา เรารู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา แต่เราอดสงสัยไม่ได้ว่ามันอาจมีอะไรที่ว่าเป็นของเรา
    มันจะต้องมีความเห็นชัดแจ้งเด็ดขาด เกลี้ยงเกลาลงไปว่า มันไม่มีอะไรเป็นของเรา และไม่มีอะไรที่อาจจะเป็นของเราที่เราคอยสงสัย กังวล คอยคิด คอยนึก คอยท่าอยู่ เมื่อจิตใจของใครเกลี้ยงไปจากสิ่งทั้งสี่นี้ เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าท่านถือว่าเป็นความว่าง ในอเนญชสัปปายสูตร มัชฌิมนิกาย บัญญัติไว้อย่างนี้ในฐานะที่เป็นพุทธภาษิต
    อรรถกถาก็สรุปไว้ดื้อๆ ตรงๆว่า “น อตตเนน” ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน “น อตตนิเยน” ไม่เห็นว่าเป็นของตนนี้ก็พอแล้ว ก็เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ต้องปราศจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน ของตนนั่นเอง
    ทีนี้เมื่อไม่มีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ลองคิดดูเถอะว่า มันจะมีอะไร มันมองไม่เห็นอะไรที่ไหนที่น่าจะเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน หรือได้กำลังเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนอยู่ หรือว่าควรจะเป็นตัวตนหรือของของตนต่อไปข้างหน้า มันไม่มีทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีทั้งขณะนี้ และไม่มีทั้งที่จะกังวลข้างหน้า และข้างหลังด้วย เป็นจิตที่เข้าถึงความว่าง ด้วยการมองเห็นสิ่งทั้งปวงชัดเจน ตามลักษณะที่ถูกต้องของมันว่า ไม่มีส่วนไหนที่มีความหมายของคำว่าตัวตนหรือของตนเลย เป็นธรรมะ คือธรรมชาติล้วนๆ เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างยืดยาว
    นี่แหละคือจิตที่เป็นอันเดียวกันกับความว่าง หรือว่าความว่างที่เป็นสิ่งเดียวกันกับจิต หรือที่เราจะพูดว่าจิตเข้าถึงความว่างหรือบางทีก็พูดถอยหลังมาอีกนิดว่า จิตได้ลุถึงความว่างซึ่งทำให้คนบางคนเกิดความเข้าใจว่าจิตอย่างหนึ่ง ความว่างก็อย่างหนึ่ง
    ที่ใช้คำว่า “เข้าไปรู้ต่อความว่าง” อย่างนี้ยังไม่ถูกต้องนัก ขอให้เข้าใจว่า ถ้าจิตไม่เป็นอันเดียวกันกับความว่างแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องความว่าง และจิตมันก็เป็นความว่างอยู่แล้วตามธรรมชาติ ความโง่ต่างหากที่เข้าไปทำให้ไม่เห็นเป็นว่าง ฉะนั้นพอความโง่ออกไป จิตกับความว่างก็เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันจึงรู้ตัวมันเอง ไม่ต้องไปรู้อะไรที่ไหน ถือว่ารู้ความว่างและเป็นอันรู้ว่าไม่มีอะไรนอกจากความว่างจากตัวตน จากของตน
    นี่แหละความว่างอันนี้คือสิ่งสูงสุดเพียงสิ่งเดียวที่เป็นพุทะวจนะที่ทรงสอน ทรงมุ่งหมาย จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตภาษิต คือคำที่ตถาคตกล่าวนั้น มีแต่สุญญตา มีแต่เรื่องสุญญตา บาลีสังยุตนิกายมีอยู่อย่างนี้ และในบาลีนั้นเองก็ว่า ธรรมที่ลึกที่สุดก็คือเรื่องสุญญตา นอกนั้นเรื่องตื้น ธรรมะที่ลึกจนต้องมีพระตถาคตตรัสรู้ขึ้นมาในโลกนี้ และสอนนั้นมีแต่สุญญตา เรื่องนอกนั้นเรื่องตื้น ไม่จำเป็นจะต้องมีตถาคตเกิดขึ้นมา ทีนี้ในอีกวรรคหนึ่งในสังยุตนิกายนั้นว่า ธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่พวกฆราวาสนั้น คือเรื่องสุญญตา
    ที่มาของเรื่องสุญญตานี้ อาตมาได้เคยเล่าให้ฟังหลายครั้งหลายหนในที่อื่นว่า มีฆราวาส คหบดี พวกหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลขอร้องที่จะได้รับธรรมะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่พวกฆราวาสที่ครองเรือน แออัดอยู่ด้วยบุตร ภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทน์ของหอม พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสูตรนี้ คือตรัสเรื่องสุญญตา
    เมื่อเขาว่ามันยากไป ก็ทรงลดมาเพียงเรื่องโสดาปัตติยังคะ คือข้อปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพระโสดาบัน กล่าวคือให้เข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้จริง แล้วก็มีศีลชนิดที่เป็นอริยกันตศีล คือเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้จริง แต่แล้วมันกลายเป็นว่า ถูกพระพุทธเจ้าล่อเข้าบ่วง เข้ากับของพระองค์ได้สนิท พูดอย่างโวหารหยาบๆ ของพวกเราก็คือว่า พระพุทธเจ้าท่านต้มคนพวกนี้ได้สนิท คือว่าเขาไม่เอาเรื่องสุญญตา พระองค์ก็ยื่นเรื่องที่หลีกสุญญตาไปไม่พ้น คือบ่วงที่จะคล้องเข้าไปสู่สุญญตาให้คนเหล่านี้ไป ให้เขาไปทำอย่างไรที่จะเข้าให้ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้ และมีศีลที่เป็นที่พอใจของพระอริยเจ้าได้ มันก็มีแต่เรื่องนี้ คือมองเห็นความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นไปเรื่อยๆ
    ทีนี้เรามาคิดดูว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ผิดหรือเปล่า ในการที่พูดว่า เรื่องสุญญตานี้เป็นเรื่องสำหรับฆราวาส ถ้าพระพุทธเจ้าถูก พวกเราสมัยนี้ก็เป็นคนบ้าๆ บอๆ ไปทั้งหมด คือผิดๆไปทั้งหมด เพราะไปเห็นว่าเรื่องสุญญตานั้นไม่ใช่เรื่องสำหรับพวกเราฆราวาสที่ครองเรือน เรื่องสุญญตาเป็นเรื่องของผู้ที่จะไปนิพพานที่ไหนก็ไม่รู้ นี่แหละกำลังพูดกันอยู่อย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้ากำลังพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องสุญญตานี้ คือเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสโดยตรง แล้วใครจะเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูก เราก็ต้องยอมพิจารณาเรื่องสุญญตาว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนานแก่ฆราวาสอย่างไร?
    ทางที่พิจารณาเรื่องนี้ ก็จะต้องมองกันไปตั้งแต่ว่าใครมันทุกข์มากที่สุด ร้อนมากที่สุด หรือยู่ในใจกลางเตาหลอมยิ่งกว่าใคร? มันก็ไม่มีใคร นอกจากพวกฆราวาส และเมื่อเป็นดังนี้แล้ว ใครเล่าที่จะต้องการเครื่องดับไฟ หรือว่าสิ่งที่จะมากำจัดความทุกข์โดยประการทั้งปวง? มันก็พวกฆราวาสนั่นแหละ พวกที่อยู่กลางกองไฟ จึงต้องหาเครื่องดับไฟให้พบในท่ามกลางกองไฟ มันดิ้นไป ไปที่ไหนไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรนอกจากไฟ ไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ ชนิดที่ไม่ยึดถือเข้าแล้วเป็นไฟทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงจะต้องหาจุดที่เย็นที่สุด กลางกองไฟนั่นเอง มันก็คือความว่างจากตัวตนของตน คือสุญญตา
    ฆราวาสต้องหาให้พบสุญญตา ต้องอยู่ในขอบวงของสุญญตา ถ้าไม่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของสุญญตาได้ อย่างน้อยอย่างเลวที่สุดก็ควรจะอยู่ในขอบวงของสุญญตา คือรู้เรื่องความว่างตามสมควรที่ควรจะรู้ นี่แหละจึงจะนับว่าเป็นประโยชน์สุขตลอดกาลนานของพวกฆราวาส
    พวกนี้เขาไปถามว่า อะไรจะเป็นประโยชน์สุขเกื้อกูลสิ้นกาลนาน แก่พวกข้าพระองค์? พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “สุญญตปปฏิสํยุตตา โลกุตตรา ธมมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอยู่เหนือวิสัยโลก ที่เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตา โลกุตตรา อยู่เหนือวิสัยโลก ก็คือว่ามันอยู่เหนือไฟ เราหมายความในที่นี้ว่า โลกนี้มันคือไฟ ฉะนั้น โลกุตตรา คือต้องอยู่เหนือไฟ และที่เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตานั้น มันย่อมต้องหมายถึงตัวความว่าง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเรา หรือว่าของเรา
    ดังนั้น “สุญญตปปฏิสํยุตตา โลกุตตรา ธมมา” นั้นจึงคือของขวัญสำหรับฆราวาสโดยตรง ที่พระพุทธเจ้าท่านมอบให้เป็นพุทธภาษิตที่ยืนยันอยู่อย่างนี้ จึงขอให้ลองคิดดูใหม่ว่ามันจำเป็นเท่าไหร่ที่จะต้องสนใจ และมีเพียงเรื่องเดียวจริงหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นกันเลย
    ในบาลีสังยุตนิกายนั้น ได้ตรัสยืนยันไว้ชัดว่า สุญญตาคือนิพพาน นิพพานก็คือสุญญตา ในที่แห่งนั้น มันมีเรื่องที่จะต้องให้ตรัสอย่างนั้น ซึ่งเป็นความจริงง่ายๆ ว่า นิพพานก็คือสุญญตา สุญญตาก็คือนิพพาน ก็หมายถึงว่าว่างจากกิเลส และว่างจากความทุกข์ ฉะนั้น นิพพานนั่นแหละคือเรื่องราวสำหรับฆราวาส ถ้าฆราวาสยังไม่รู้ความหมายของนิพพาน ยังไม่ได้อยู่ในขอบวงของนิพพาน ก็แปลว่าอยู่กลางกองไฟมากกว่าพวกไหนหมด
    ทีนี้นิพพานก็ขยายความออกไปได้ชัดๆ ว่า ว่างจากความทุกข์ รวมทั้งว่างจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น ในขณะใด พวกเรามีจิตว่างจากตัวตน ว่างจากของตนอยู่บ้าง เช่นขณะที่นั่งอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ อาตมายืนยันได้ว่า ทุกคนหรือแทบจะทุกคนนี้ มีจิตว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนหรือของของตน เพราะมันไม่มีอะไรมาก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น มันมีแต่คำพูดที่อาตมากำลังกล่าวไปแต่ในทางที่ให้เกลีบดชังตัวตนหรือของตน และท่านทั้งหลายกำลังสนใจฟังเรื่องมันก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกว่าตัวตน แล้วลองคิดดูว่าใจในว่างหรือไม่ว่าง ว่างจากตัวตนหรือของตนนั้นมันว่างหรือไม่ว่าง ถ้ามันว่างอยู่บ้าง (ใช้คำว่าอยู่บ้างเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด หรือตลอดกาล) นั่นก็เรียกได้ว่า ท่านทั้งหลายกำลังอยู่ในขอบวงของนิพพาน แม้ว่าไม่เด็ดขาดหรือสมบูรณ์ ก็ยังเป็นนิพพานอยู่นั่นเอง
    ธรรมะมีอยู่หลายความหมาย หลายชั้น หลายระดับ ธรรมะที่เป็นความหมายของนิพพาน หรือในระดับของนิพพานนั้น มันอยู่ที่จิตใจของท่านทั้งหลายที่กำลังว่างจากความรู้สึกว่าตัวตนหรือของตนอยู่บ้างในบางขณะ เพราะฉะนั้น ขอให้กำหนดจดจำความรู้สึกอันนี้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ไว้ให้ดีๆ และให้มันติดไปที่บ้านด้วย บางทีกลับไปที่บ้านแล้วมันจะรู้สึกเหมือนกับขึ้นไปบนเรือนของคนอื่น หรือว่าไปทำการทำงานอะไรที่บ้าน จะได้มีความรู้สึกว่าเหมือนกับไปช่วยงานของคนอื่น ที่บ้านคนอื่น อย่างนี้ยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วมันไม่ทุกข์ บ้านหรือการงานที่เคยเป็นทุกข์นั้น มันจะไม่ทุกข์ แต่จะเป็นอยู่ด้วยจิตว่างจากตัวตนหรือของตนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเอานิพพาน หรือเอาสุญญตาเป็นพระเครื่องรางแขวนคออยู่เสมอ มันคุ้มครองป้องกันความทุกข์หรืออุปัทวะ เสนียดจัญไรนี้ โดยประการทั้งปวง นี้แหละเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าจริงๆ นอกนั้นเป็นเรื่องมายา
    ที่พูดอย่างนี้ เดี๋ยวจะว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ท่านทั้งหลายต้องไม่คิดว่า อาตมาเป็นคนเดินตลาดขายสินค้าของพระพุทธเจ้า จะต้องคิดว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน ถ้าจะพูดเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องชี้ชวนให้เกิดความสนใจนี้ มันก็เพราะว่ามีความหวังดีต่อกัน แต่ถ้าใครมีสติปัญญามากกว่านั้น ก็อาจจะเห็นได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่ออาตมา ไม่ต้องเชื่อตามอาตมา ก็มีทางที่จะสนใจศึกษาต่อไปได้ ถึงความจริงที่เป็นปรมัตถสัจจะนี้ยิ่งขึ้นไปทุกที ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องเขยิบการศึกษานี้เลื่อนสูงขึ้นไปถึงเรื่องธาตุ
    คำว่า “ธาตุ” นี้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ธรรม” รากของศัพท์ก็มาจากที่เดียวกันด้วย คำว่าธรรมะนี้มาจากคำว่า ธร แปลว่า ทรง คือทรงตัวมันอยู่ได้เหมือนที่ได้อธิบายมาแล้ว คำว่า “ธาตุ” นี้ก็เหมือนกัน นักศัพทศาสตร์เขายอมรับว่ามันมาจากคำว่า ธร ด้วยเหมือนกัน คือแปลว่า ทรง เพราะฉะนั้นคำว่าธาตุนี้ มันก็แปลว่าสิ่งที่ทรงตัวมันเองอยู่เหมือนกัน เช่นเดียวกับคำว่าธรรมะ ที่เปลี่ยนแปลงก็มีการทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราต้องมาเรียนถึงสิ่งที่ไม่อาจเป็นตัวตนได้เลย คือสิ่งที่เรียกว่าธาตุนี้บ้าง
    ท่านทั้งหลายรู้จักธาตุชนิดไหนกันบ้าง ที่จะเอามาเป็นตัวความว่างได้? คนที่เรียนฟิสิกส์หรือเคมี ก็รู้เรื่องธาตุแต่ฝ่ายวัตถุล้วนๆ เป็นธาตุแท้กี่สิบอย่างหรือถึงน้อยอย่าง และยิ่งพบเรื่อยๆ ธาตุอย่างนี้เป็นความว่างไม่ได้ หรือว่าถ้าว่างก็เป็นความหมายอันลึกของสิ่งเหล่านี้ เพราะว่านี้เป็นแต่เพียงรูปธาตุ
    ทีนี้ยังมีธาตุฝ่ายจิตใจ ฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายนามธรรมอีกธาตุหนึ่ง ซึ่งเราไม่อาจจะพิสูจน์ได้ด้วยวิชาฟิสิกส์หรือเคมีอย่างนั้น มันก็ต้องเรียนวิทยาศาสตร์อย่างพระพุทธเจ้า จึงจะรู้เรื่องธาตุ นามธาตุ หรืออรูปธาตุ คือธาตุที่ไม่มีรูป และเป็นแต่เพียงนามหรือเรื่องทางจิต ทางเจตสิก ทางจิตใจ ที่ว่ามาถึงแค่นี้เรารู้มา ๒ ธาตุแล้ว
    สิ่งที่เรียกว่าความว่างนี้จะอยู่ในธาตุไหน?
    ถ้าใครคิดว่าความว่างเป็นรูปหรือวัตถุธาตุ เพื่อนก็หัวเราะตาย บางคนอาจจะคิดว่า ความว่างนี้เป็นนามธาตุหรืออรูปธาตุ อย่างนี้พระอริยะเจ้าก็หัวเราะตาย หัวเราะคนๆนั้น เพราะว่าความว่างนี้มันไม่ใช่ ทั้งรูปธาตุ และ อรูปธาตุ มันยังมีธาตุของมันอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในความหมายของคนธรรมดาจะพูดกัน ท่านก็เลยเรียกมันว่า นิโรธธาตุ
    วัตถุธาตุ หรือ รูปธาตุ นั้นก็หมายถึงของที่เป็นวัตถุนี้อย่างหนึ่งแล้ว จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ตาม และ อรูปธาตุ นั้นหมายถึง จิตใจ จิตเจตสิก หรือความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในทางจิต ทางเจตสิก นี้เรียกว่าอรูปธาตุ แล้วมันจะมีธาตุชนิดไหนอีกที่มันจะไม่ซ้ำกับสองธาตุนี้ มันก็มีได้ทางเดียว แต่ว่าเป็นธาตุที่มันตรงกันข้ามจากสองอย่างนี้ และเป็นที่ดับสิ้น หายไปหมดของสองธาตุนี้ด้วย ท่านจึงเรียกมันว่า นิโรธธาตุ บางทีก็เรียกว่า นิพพานธาตุ บางทีก็เรียกว่า อมตธาตุ
    ที่เรียกว่า นิโรธธาตุ หรือ นิพพานธาตุ นั้น ล้วนแต่แปลว่าดับ ธาตุแห่งความดับของธาตุอื่นๆ ทั้งหมด หรือว่าธาตุเป็นที่ดับของธาตุทั้งหมด และที่เรียกว่า อมตธาตุ แปลว่าธาตุที่ไม่ตายนั้น หมายความว่า ธาตุอื่นๆ นอกจากนี้มันตายหมด มันตายได้ มันตายเป็น ส่วนนิโรธธาตุนี้ ไม่เกี่ยวกับการเกิดหรือการตาย แต่ว่ากลับเป็นที่ดับสิ้นของธาตุอื่นๆ แล้วสุญญตาก็คือสิ่งซึ่งอยู่ในธาตุพวกนี้ หรือเป็นธาตุพวกนี้ จะเรียกว่าสุญญตธาตุก็ได้ เป็นธาตุอันเป็นที่ทำความว่างให้แก่ธาตุอื่นๆ
    เพื่อความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ธาตุ” ชนิดที่ทำให้เข้าใจธรรมะได้แล้ว ต้องเรียนธาตุอย่างที่กล่าวมานี้ อย่าไปมัวหลงเข้าใจว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รู้เท่านั้นแล้วก็พอแล้ว มันเป็นเรื่องของเด็กอมมือ ก่อนพุทธกาลเขาก็พูด เขาก็สอนกันอยู่ มันต้องรู้ต้องไปถึงวิญญาณธาตุ คือธาตุทางนามธรรม หรือวิญญาณ แล้วก็อากาศธาตุ แล้วก็สุญญตธาตุ กล่าวคือธาตุแห่งความว่างเข้าไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดับหมดของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ แปลว่าเรามีธาตุที่ประหลาดที่สุดในพุทธศาสนานี้ เรียกว่าธาตุแห่งความว่างหรือสุญญตธาตุ หรือ นิโรธธาตุ หรือ นิพพานธาตุ หรือ อมตธาตุ ส่วน ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นมันอยู่ในพวกรูปธาตุ ส่วนจิตใจ วิญญาณ เจตสิก อะไรต่างๆ นั้น มันอยู่ในพวกอรูปธาตุ ส่วนนิพพานหรือสุญญตธาตุนี้ มันอยู่ในพวกนิโรธธาตุ ท่านต้องไปหาเวลาสงบๆ นั่งดูธาตุให้ทั่วทุกธาตุ แล้วจะเห็นชัดว่ามันมีอยู่ ๓ ธาตุอย่างนี้จริงๆ ก็จะเริ่มพบสุญญตธาตุหรือนิพพานธาตุแล้วจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า อนัตตา หรือ สุญญตา ที่เรากำลังกล่าวนี้ได้มากขึ้น
    เพราะฉะนั้น เราอาจจะวางหลักได้ว่า ในตัวความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกูของกูนั่นแหละ มันมีรูปธาตุและอรูปธาตุ แล้วที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูนั่นแหละ ก็มีนิโรธธาตุหรือจะกลับกันเสียก็ได้ว่า ถ้ามีนิโรธธาตุเข้ามา มันก็เห็นแต่ความว่าง เห็นความว่างจากตัวกูของกูนี้ปรากฏชัดออกมา ถ้าธาตุนอกนั้นเข้ามา มันก็เห็นเป็นรูป เป็นนาม เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ เป็นเวทนา สัญญ สังขาร วิญญาณ อะไรยุ่งไปหมด แล้วก็มีส่วนที่จะเกิดความยึดถือทั้งนั้น หรือถ้าไม่ยึดถือในทางรัก ก็จะยึดถือในทางไม่รัก คือเกลียด
    ดังนั้นคนเราจึงมี ๒ อารมณ์เท่านั้น คือ พอใจ กับ ไม่พอใจ เราเคยชินอยู่แต่กับ ๒ อารมณ์นี้เท่านั้น เราสนใจกันอยู่แต่อารมณ์ที่น่ารัก เพื่อจะให้ได้และสนใจอยู่แต่ที่จะหลบเลี่ยงอารมณ์เกลียด หรือทำลายมันเสีย เรื่องมันก็วุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีว่าง ถ้าให้ว่างล่ะจะทำอย่างไร? ก็คือเราอยู่เหนือหรือว่าเอาชนะธาตุที่วุ่นเหล่านั้น มาอยู่กับธาตุที่ว่าง มันก็ว่างได้
    อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกเพื่อแสดงคุณสมบัติของธาตุว่า เนกขัมมธาตุ เนกขัมมธาตุนี้ เป็นเหตุให้ออกจากกามาราณ์ แล้วถัดมาธาตุที่สองเรียกว่าอรูปธาตุ ธาตุนี้เป็นเหตุให้ออกจากรูป แล้วธาตุที่สามเรียกว่า นิโรธธาตุ ธาตุนี้เป็นเหตุให้ออกจากสังขตะ
    ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีอย่างนี้ เรื่องชักจะยุ่งขึ้นทุกที จำต้องพูดเป็นภาษาไทยจะดีกว่า คือว่าถ้าเรามองเห็นเนกขัมมธาตุ ก็จะเป็นเหตุให้ออกจากกาม กามารมณ์ หมายความว่า เรามองเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากกาม เห็นธาตุชนิดที่ตรงข้ามจากกาม เรียกว่า เห็นเนกขัมมธาตุ กามเป็นไฟ และถ้าไม่ถูกไฟนั้นเผา คือตรงกันข้ามอย่างนี้ เรียกว่า เนกขัมมธาตุ จิตที่น้อมไปสู่การออกจากกามนี้ เรียกว่าประกอบอยู่ด้วยเนกขัมมธาตุ
    ทีนี้สัตว์ทั้งหลายที่พ้นไปจากกามได้นั้น ก็ไปติดอยู่ที่ของสวยงาม สนุกสนาน ที่ไม่เกี่ยวกับกาม แต่ว่ายังเกี่ยวกับรูป คือรูปธรรมที่บริสุทธิ์ อย่างพวกฤาษี มุนี โยคี ติดความสุขในรูปฌาน เหล่านี้เป็นต้น หรือบางทีเราเห็นคนแก่ๆ บางคนติดในเครื่องลายคราม ต้นบอน ต้นโกศล อะไรไม่เกี่ยวกับกาม แล้วหลงใหลยิ่งกว่ากามไปก็มี อย่างนี้ก็สงเคราะห์เรียกว่า เป็นพวกติดอยู่ในรูปเหมือนกัน ออกจากรูปไม่ได้ ถ้าออกจากรูปให้ได้ ก็ต้องมีความรู้เรื่องอรูปธาตุ คือธาตุที่เป็นไปเหนือรูป
    ทีนี้มันจะไปติดอะไรอีก ถ้ามันหลุดรูปไปได้ ไม่ติดรูป? หลุดจากรูปไปได้ ก็ไปติดสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั่วๆ ไป ที่มากไปกว่านั้น ข้อนี้ก็ได้แก่กุศลธรรมทั้งปวง อกุศลธรรมเราไม่พูดถึงก็ได้ เพราะมันไม่มีใครเอา เพราะมีแต่คนเกลียด แต่กุศลทั้งปวงที่ปรุงแต่งให้เป็นคนดีวิเศษ เกิดในสวรรค์ ฝันกันไม่มีที่สิ้นสุด นี้เรียกว่า สังขตะ คือสิ่งปรุงแต่ง คนเราก็มัวเมาอยู่แต่ที่จะเป็นตัวตน เป็นของของตน เป็นตัวตนอย่างสัตว์เดียรัจฉานไม่ดี ก็เป็นอย่างมนุษย์ เป็นอย่างมนุษย์ไมดี ก็เป็นอย่างเทวดา เป็นอย่างเทวดาไม่ดี ก็เป็นอย่างพรหม เป็นอย่างพรหมไม่ดี ก็เป็นอย่างมหาพรหม แล้วก็มีตัวตนอยู่เรื่อย อย่างนี้เรียกว่าสังขตะทั้งนั้น ต่อเมื่อเข้าถึงนิโรธธาตุ มันจึงจะออกจากสังขตะได้
    นี่แหละเป็นธาตุสุดท้าย เป็นนิพพานธาตุ คือเป็นที่ดับสิ้นแห่งตัวกูและของกู ถ้าดับได้สิ้นเชิงจริงๆ ก็เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ถ้ายังดับไม่ได้สิ้นเชิง ก็เป็นพระอริยเจ้าที่รองๆ ลงมา เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ คือตัวกูยังมีเชื้อเหลืออยู่บ้างไม่ว่างทีเดียว หรือมันว่างได้ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด ไม่ใช่ ปรมัง สุญญัง
    รวมความแล้ว เราจะต้องรู้จักธาตุ คือหมายถึงส่วนประกอบอันแท้จริงของสิ่งทั้งปวงนี้ ขอให้เข้าใจในลักษณะอย่างนี้ คือว่า โดยหลักใหญ่แล้ว มันจะมีอยู่ คือ รูปธาตุ ธาตุที่มีรูป อรูปธาตุ ธาตุที่ไม่มีรูป และนิโรธธาตุ ธาตุซึ่งเป็นที่ดับทั้งของรูปและของอรูป อย่างนี้แล้วกล้าท้าว่า ไม่มีอะไรที่จะนอกไปจาก ๓ คำนี้
    นี่แหละ เราลองเรียนวิทยาศาสตร์อย่างของพระพุทธเจ้ากันบ้าง ที่มันครอบคลุมทั้งฝ่ายกาย ฝ่ายจิต และฝ่ายวิญญาณ เป็นเหตุให้เรารู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมดครบถ้วนจริงๆ จึงจะเรียกว่า เรารู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจริง จึงจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงได้อีกต่อไป ไม่มีความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงนั้น นี่แหละความว่างของเรา มันต้องมีความหมายอย่างนี้
    ทีนี้เราจะพูดกันถึงสิ่งประกอบเล็กๆ น้อย ให้ยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อแวดล้อมความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับความว่างในอุปปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย มีพุทธภาษิตว่า สุญญตานี้เรียกว่า มหาปุริสวิหาร สุญญตาคือมหาปุริสวิหาร แปลว่าความว่างนั้น นั่นแหละคือวิหารของพระมหาบุรุษ คือว่ามหาบุรุษอยู่ในวิหารนี้ วิหารนี้ได้แก่ความว่าง นี่หมายความว่า มหาบุรุษนั้น ไม่มีจิตใจที่เที่ยวซอกแซกไปอยู่ที่มุมนั้นมุมนี้เหมือนปุถุชน แต่ว่ามีจิตใจอยู่ในความว่าง อยู่ด้วยความว่าง หรือเป็นความว่างเสียเลย ฉะนั้นจึงเรียก สุญญตาว่า มหาปุริวิหาร โดยเฉพาะก็คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นั่นเอง ความว่างเป็นวิหาร เป็นที่อยู่ของมหาบุรุษ ก็แปลว่า จิตใจของท่านอยู่ด้วยความว่าง คือมีลมหายใจอยู่ด้วยความว่าง
    พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันส่วนพระองค์โดยเฉพาะว่า ตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร หรือให้ชีวิตล่วงไปๆ ด้วยสุญญตาวิหาร คือว่าเมื่อท่านกำลังแสดงธรรมสอนคน จิตของท่านก็ว่างจาก ตัวตน-ของตน เมื่อไปบิณฑบาตหรือทำกิจส่วนพระองค์ จิตของท่านก็ยังว่างจากตัวตนหรือของตน หรือเมื่อท่านทรงพักผ่อนหาความสุขส่วนพระองค์ ที่เรียกว่ายามว่าง ทิววิหาร สุขวิหาร อะไรนี่ ท่านก็เป็นอยู่ด้วยความว่างจากตัวตน หรือของตน ท่านจึงทรงยืนยันแก่พระสารีบุตรว่า ตถาคตให้เวลาล่วงไปด้วยสุญญตาวิหารนี้เราไม่พูดกันถึงบุคคลธรรมดาสามัญที่เป็นปุถุชน เราพูดถึงมหาบุรุษ พูดถึงพระพุทธเจ้า ว่าท่านมีลมหายใจอยู่อย่างไร ท่านอยู่ในโบสถ์วิหารอะไร ถ้าเราอยากไปเห็นกุฏิวิหารของพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าได้นึกถึงเรื่องอิฐเรื่องปูนเรื่องอะไรที่อินเดียกันนัก ลองนึกถึงวิหารที่ชื่อว่า “สุญญตาวิหาร” หรือ ไมหาปุริสวิหาร” กันบ้าง แต่อย่าลืมว่า มันต้องเป็น “ปรมํ สุญญํ” คือว่างอย่างยิ่ง
     
  4. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    แก่นพุทธศาสน์
    เรื่อง
    ความว่าง (ตอนที่ ๓)
    พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)


    สุญญตาขนาดว่างอย่างยิ่ง ไม่ใช่สุญญตาวอบๆ แวมๆ เหมือนพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ กลับไปบ้านก็ไม่ว่างเสียแล้ว สุญญตาวิหาร หรือ มหาปุริสวิหาร นั้นหมายถึงว่างอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงมีคำอีกคำหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะยาวมาก เรียกว่า “ปรมนุตตรสุญญตา” คือ ปรม+อนตตระ+สุญญตา รวมกันทั้ง ๓ คำ เป็น ปรมนุตตรสุญญตา สุญญตาที่ว่างอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า ข้อนี้ ถ้าระบุตามคำเทคนิคของธรรมะ จะมีกล่าวถึง เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต จนจิตว่างจากอาสวะ เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิตที่จิตผ่องใสจนไร้อาสวะนี้ อาจจะเป็นอย่าง กุปปธรรม หรือ อกุปปธรรม ก็ได้ คือว่าจะเป็นอย่างของคนที่จะกลับไปไม่ว่างอีก หรือว่าเป็นของคนที่ว่างเด็ดขาดไปเลยก็ได้ ถ้าในขณะใดประกอบด้วยเจโตสมาธิประเภทที่ไม่มีนิมิต จะยึดถือว่ามีอะไรเป็นตัวตน-ของตนแล้ว จิตกำลังผ่องใสไร้อาสวะอยู่ในเวลานั้นแล้ว ก็เรียกว่า “ปรมานุตตรสุญญตา” ได้ ซึ่งพระอริยะเจ้าหรือพระอรหันต์นั้น ท่านทำอยู่เป็นว่าเล่น คือเป็นไปเอง
    ถ้าเราเป็นปุถุชน จะเป็นโยคีที่สมบูรณ์กันสักที ก็ควรจะเข้าถึงเจโตสมาธิให้ได้ตามกาล แม้จะไม่สิ้นอาสวะโดยเด็ดขาด ก็เป็นการไร้อาสวะอยู่ในบางโอกาส บางขณะ แต่นี่เราไปยืมของท่านมา คือไปยืมของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์มา สำหรับให้พวกเราลองดูบ้างเท่านั้น เพื่อว่าอย่าได้ท้อถอยเสียทีเดียว เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่างก็ดี ความหลุดพ้นก็ดี หรือนิพพานก็ดี มันมีได้ทั้งประเภทที่เด็ดขาดลงไป และประเภทที่ยังกลับไปกลับมาได้ สำหรับคนเราตามธรรมดา หรือยิ่งกว่านั้น ยังมีประเภทที่ประจวบเหมาะก็ยังได้ ในเมื่อสิ่งต่างๆ แวดล้อมเหมาะสมดี เราอาจจะมีจิตใจว่างอย่างนี้ได้สักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้ แต่ว่าเป็นเรื่องเป็นราวนั้น คือเราต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติกระทำให้มันว่าง ตามที่เราสามารถจะกระทำได้ ที่แท้จริงนั้น ที่เป็น ปรมนุตตรสุญญตา จริงๆ นั้น ท่านหมายถึงว่าได้ทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนได้เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานลงไปจริงๆ แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อจะกล่าวถึงสุญญตาสุดยอด ท่านต้องบัญญัตินามไว้ว่า ปรมนุตตรสุญญตา
    เรื่องสุญญตาสุดยอดนี้ ถ้าลองเหลือบให้ต่ำลง ลดหลั่นไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจ สุญญตาที่ต่ำๆ หรือ รองๆ ลงมา คือถ้าไล่จากทางสูง คือเอาปรมานุตตรสุญญตาเป็นยอดสุดแล้ว ที่ลดต่ำลงมาก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้เป็นความว่างที่รองลงมา แล้วก็ อากิญจัญญายตนะ รองลงมาอีก วิญญาณัญจายตนะ รองลงมาอีก อากาสานัญจายตนะ รองลงมาอีก แล้ว ปฐวีสัญญา รองลงมาอีก แล้วก็ อรัญญาสัญญา รองลงมาอีก นี่มองจากข้างบนสุดลงมาหาพื้นต่ำ นี้เข้าใจยาก ดูไปจากพื้นต่ำดีกว่า คือให้ค่อยๆ เงยขึ้นไปหาข้างบน อันแรกที่สุดเรียกว่า อรัญญสัญญา คือมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นป่า นี่ถ้าที่ในบ้านในเมืองนี้มันวุ่นวาย เราลองทำความสำคัญมั่นหมายด้วยจิตใจว่าเป็นป่า เหมือนอยู่ในป่าหรือออกไปอยู่ป่าจริงๆ แล้วทำสัญญาว่าป่าให้ว่าง มีความสงัดจากเสียงรบกวน มันก็เรียกว่าว่างชนิดหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่าทำสัญญาว่าป่าเท่านั้น ก็ได้สุญญตาเด็กเล่นขึ้นมาแล้ว ทีนี้สูงขึ้นไปอีก ปฐวีสัญญา ทำความมั่นหมายว่าดิน คือสักว่าดินเท่านั้น ดิน ก็หมายความว่าธาตุดิน รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ เป็นธาตุดินไปหมด ก็อาจกำจัดความกำหนัดในกามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้ นี่ก็เป็นสุญญตาที่สูงกว่าเด็กอมมือ จึงควรที่คนหนุ่มคนสาวควรจะลองดู ทีนี้ถ้าจะให้มันสูงขึ้นไปอีก ก็ต้องทำสัญญาเป็น อากาสานัญจายตนะ ทำความรู้สึกว่าทั้งหมดมีแต่อากาศที่ไม่มีที่สิ้นสุด อากาศนี้คือความว่างชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงสุญญตา ที่ว่างที่โล่งไม่มีอะไร นี้ก็ยังได้ความว่างหรือสุญญตาที่สูงขึ้นไป
    ทีนี้อย่าไปสนใจในเรื่องความว่าง ที่ว่าง ที่โล่งนั้น ให้สนใจเรื่องที่ละเอียดกว่านั้น จับตัวได้ยากกว่านั้น คือวิญญาณ อย่างที่เรียกว่า วิญญาณณัญจายตนะ ทำในใจว่า ไม่มีอะไรนอกจากมีแต่วิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีแต่วิญญาณธาตุทีไม่มีที่สิ้นสุด เหล่านี้ก็ยังว่างขึ้นมาอีก ทีนี้ถ้าจะให้สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็เป็นสุญญตา ประเภททำในใจถึง อากิญจัญญายตนะ ว่าไม่มีอะไรเลย ที่แท้มันไม่มีอะไรเลย คือว่าจะไม่ให้จิตไปกำหนดถึงอะไรเลย กำหนดความไม่มีอะไรเลย แต่ยังรู้สึกอยู่ว่าไม่มีอะไรเลย อย่างนี้ก็เป็นความว่างขึ้นไปอีก ทีนี้ไต่ไปอีกทีหนึ่งก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือทำความรู้สึกอยู่ด้วยความไม่รู้สึก เรียกว่าจะเหมือนกับคนเป็นก็ไม่ใช่ คนตายก็ไม่ใช่ คือมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ นี่หมายถึงการไม่ทำสัญญาในอะไรเลย มีความรู้สึกอยู่แต่ว่า ไม่ทำสัญญาว่าอะไรเลย ละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงกับว่า คนนั้นเรียกว่าคนตายแล้วก็ไม่ใช่ คนเป็นอยู่ก็ไม่เชิง อย่างนี้เรียกว่าว่างเหมือนกัน ว่างทั้ง ๖ ระดับนี้ ไม่ชื่อว่าสุญญตาอย่างที่ว่า คือไม่ใช่ ปรมนุตตรสุญญตา เป็นแต่เพียงท่านแสดงให้เห็นว่า ที่ว่าว่างๆ นี้มันว่างขึ้นมาได้อย่างไร มันว่างยิ่งขึ้นไปๆๆ ได้อย่างไร แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังไม่ใช่ว่างอย่าง มหาปุริสวิหาร มันว่างอย่างพวกฤๅษี มุนี ก่อนพุทธกาล หรือในครั้งพุทธกาลค่อยๆ คลำไปๆ จนมาพบและจนมุมอยู่ที่นี่ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนอีก จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงพบสุญญตาที่แท้เป็นปุริสวิหาร หรือปรมานุตตรสุญญตา ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง อรรถกถาเรียกความรู้สึกต่อสุญญตานี้ว่า สุญญตาผัสสะ หรือ สุญญโตผัสโส พวกเรารู้กันแต่ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ ไม่เคยมีสุญญตาผัสสะ ไม่เคยผัสสะต่อสุญญตา เพราะว่าเรารู้จักกันแต่รูปธาตุ อรูปธาตุ ไม่รู้เรื่องนิโรธธาตุ เมื่อไรเรารู้เรื่องนิโรธธาตุ เราจะได้สัมผัสอันใหม่ คือสุญญตาผัสสะ อย่างที่อรรถกถาเรียก แล้วอันนี้มันเป็นชื่อของอริยมรรคในขั้นทำลายกิเลสได้จริง ต่อเมื่อสร้างอริยมรรคที่ทำลายกิเลสได้จริง และทำลายกิเลสอยู่ ขณะนั้นเรียกว่า “สุญญตาผัสสะ” คือเราได้เอามือไปแตะสุญญตาเข้าแล้ว นี่พูดอย่างอุปมาว่าเหมือนกับเราเอามือไปแตะสุญญตาเข้าแล้ว คือจิตของเราได้สัมผัสกันเข้ากับความว่าง
    ความว่างในลักษณะที่เป็นผัสสะเช่นนี้ มันหมายถึงอริยมรรคของคนที่เห็นอนัตตา คืออนัตตาปัสสนา เห็นว่าไม่มีตัวตน ไม่มีของตน เป็นสักแต่ว่าธรรมะ ธรรมชาติเรื่อยไปยิ่งขึ้นๆ เป็นอริยมรรคทำนองนี้อยู่แล้ว ก็เรียกว่า สุญญโต ในที่นี้ และผัสสะใดที่เกิดขึ้นในขณะแรกแห่งมรรคนั้น ผัสสะนั้นเรียกว่า “สุญญโตผัสโส” หรือสุญญตาผัสสะ คือการแตะต้องสุญญตา ทีนี้ อนัตตานุปัสสนา ที่ทำให้มีอาการอย่างนี้ได้นั้น มันสืบต่อมาจากการเห็นทุกข์ คืออนัตตานุปัสสนา จะต้องสืบต่อมาจากทุกขานุปัสสนา เหมือนกับว่าไปขยำเอาไฟเข้าแล้วมันร้อนอย่างนี้ มันจึงจะรู้ว่าไฟนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรขยำเลย หรือว่าธรรมทั้งปวงนี้ ไปขยำเข้าแล้วก็เป็นไฟขึ้นมา แล้วรู้ว่าธรรมทั้งปวงนี้ไม่ควรขยำเลย คือไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเลย
    ทีนี้หากความเจนจัดทางวิญญาณ ของเรามากพอ ในการที่ว่าไฟมันไหม้เอาอย่างไรแล้วมันเผาเอาอย่างไร มันร้อยรัด หุ้มห่อ ทิ่มแทง พัวพัน เผาลนอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า “ทุกขานุปัสสนา” ความเจนจัดทางวิญญาณ ในชั้นนี้เรียกว่า ทุกขานุปัสสนา เป็นเหตุให้เกิดอนัตตานุปัสสนา หรือ สุญญตานุปัสสนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นผัสสะต่อธรรมะ คือ ผัสสะที่รู้สึกต่อธรรมะขณะนั้นเรียกว่า “สุญญตาผัสสะ” ทีนี้จะต้องคิดต่อไปถึงว่า บางคนเขาค้านว่า ถ้าไม่ถึงนิพพาน จะรู้เรื่องนิพพานได้อย่างไร อย่างว่าไม่เคยเห็นยุโรป จะเห็นยุโรปได้อย่างไร? นี้มันไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ มันเป็นเรื่องในทางจิตใจ คือจิตใจของคนเรานี่มันว่าง เป็นการชิมลองอยู่ได้เองแล้ว เหมือนกับอาตมาบอกว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนที่อยู่ที่นี่ส่วนมากจิตว่างอยู่ แต่ว่าเป็นการชิมลอง อย่างนี้ขอให้ขยันดู เพราะฉะนั้น ในนิเทศของการปฏิบัติอานาปานสติ ตอน จิตตานุปัสสนาที่ว่า เพ่งดูจิตตามที่เป็นจริงอย่างไรนั้น จึงมีตอนกล่าวถึงว่า ถ้าจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ ถ้ารู้ว่าจิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ ถ้าจิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตไม่หดหู่ ก็รู้ว่าจิตไม่หดหู่ จิตวิมุตติ ก็รู้ว่าจิตวิมุตติ จิตไม่วิมุตติ ก็รู้ว่าจิตไม่วิมุตติ นี้คือความหมายของคำว่า ว่าง หรือ ไม่ว่าง นั่นเอง ให้เราดูที่จิตของเราที่กำลังวิมุตติ คือว่างจากสิ่งทั้งปวงอยู่ หรือว่าจิตของเรากำลังถูกจับกุม ยึดถือสิ่งใดอยู่ ในการปฏิบัติขึ้นต้นเพียงขั้นนี้ ก็ยังสอนให้ดูจิตที่ว่าง หรือจิตที่วิมุตติอยู่แล้ว ซึ่งมันก็มีให้ดูในภายใน ไม่ใช่คาดคะเนเอาตามตัวหนังสือที่เคยอ่าน เพราะฉะนั้น เป็นอันว่า นิพพาน หรือ ความว่าง หรือ สุญญตา นี้มีให้ดู เป็นสิ่งที่มีให้เราดูได้ แม้ในขณะที่เป็นปุถุชนอย่างนี้ เพราะว่ามันมีความว่างอย่าง ตทังควิมุตติ อยู่บ้าง คือบังเอิญเหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เรียกว่าบังเอิญเป็น ตทังควิมุตติ ถ้าได้แวดล้อมอะไรอย่างนี้แล้วจิตก็ยังว่างอยู่ อย่างนี้ก็ว่างเหมือนกัน หรือถ้าใครทำสมาธิถูกวิธี จิตมันว่างสบายไปหมด ยิ่งกว่าความสุขชนิดไหนหมดก็ได้ นั่นเป็น วิกขัมภนวิมุตติ ไม่ต้องพูดถึง สมุจเฉทวิมุตติ ที่เป็นของพระอรหันต์ เราก็ยังมีความว่างมาดูเป็นตัวอย่างได้ เหมือนกับตัวอย่างสินค้าของพระพุทธเจ้า ถ้าใครสนใจก็พอจะหาดูได้จากตัวของตัวเอง
    เพราะฉะนั้น เราควรจะทำอานาปานสติไปตามลำดับ ทำกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา มันเป็นการชิมความว่างเรื่อยไป ตั้งแต่ต้นจนปลายทั้งนั้น ในที่สุดมันก็จะเข้าใจความว่าง เพราะมองเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น แล้วจิตก็จะหันไปพอใจในอายตนะนั้น คือ นิพพาน หรือ ความว่างขึ้นมาได้ทันที นี่แหละ เรียกว่าเราดูความว่างไปได้เรื่อยๆ ดูสุญญตาไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะไปถึงปรมสุญญตา เป็นการก้าวหน้าไปตามกฎของมันเอง หรือว่าตามกฎของธรรมชาติเอง ที่ว่ารู้เห็นสิ่งใดด้วยตนเอง อย่างมั่นคง แล้วเป็นไปได้อย่างมั่นคง ไม่โยกเยก เหมือนความรู้ที่ได้มาจากการได้ยิน ได้ฟัง หรือว่าเป็นความรู้ที่เป็นมายา ทำนองนั้น ทีนี้จะเป็นความสุขขึ้นมาได้อย่างไรนั้น เราไม่ต้องทำหรอก เราไม่ต้องอธิบาย หรือไม่ต้องไปทำให้ยุ่งยาก เราทำให้ว่างเถอะ มันกำพอแล้ว คือทำให้ว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะ คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ว่าของเราแล้ว มันก็ว่างจาก โลภะ โทสะ ธมหะ เมื่อว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะ ก็คือว่างจริงๆ มันเป็นคำๆเดียวกัน เมื่อนั้นความทุกข์ทั้งปวงก็จะหมดไป แม้แต่กรรมก็หมดไปเอง
    ในบาลีอังคุตตรนิกาย ยืนยันในข้อที่ว่า กรรมหมดไปเอง ในเมื่อว่างจาก โลภะ โทสะ โมหะ หรือว่างจากตัวกู-ของกู ซึ่งพูดกันให้สั้นๆ ในที่นี้ก็ว่า ถ้ามันว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเราแล้ว กรรมก็จะหมดไปเอง ซึ่งหมายความว่า หมดไปทั้งกรรม และวิบากของกรรม และกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำกรรมมันหมดพร้อมกันเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปกลัวกรรม กลัวจะต้องเป็นไปตามกรรม เราไม่ต้องสนใจกับเรื่องกรรม แต่เราสนใจกับความว่าง ทำความว่างให้แก่ตัวกูและของกูได้แล้ว กรรมย่อมสลายไปหมดสิ้น ไม่มีทางที่จะต้องเป็นไปตามกรรม
    นี่แหละ จุดนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนอย่างองคุลีมาเป็นพระอรหันต์ได้ที่ตรงนั้น อย่าอธิบายผิดๆ อย่างที่เขาอธิบายกันว่า ไม่ฆ่าคนแล้วก็เป็นพระอรหันต์ หรือว่าพระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่องคุลีมาลว่า ฉันหยุดแล้ว แกไม่หยุด แกไม่หยุดก็คือยังฆ่าคนอยู่ แล้วองคุลีมาลก็หยุดฆ่าคน แล้วจึงเป็นพระอรหันต์
    อย่างนี้คนนั้นอธิบายเอาเอง แต่หากแล้วยังเป็นการตู่พระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะคำว่า “หยุด” ของพระพุทธเจ้านี้ ท่านหมายถึงหยุดการทีตัวกู หยุดมีของกู หยุดมีตัวเรา หยุดมีของเรา หยุดความยึดมั่น มันคือความว่าง เพราะฉะนั้น ความว่างนั่นแหละ คือความหยุด ความหยุดชนิดนี้เท่านั้น ที่จะทำองคุลีมาลให้เป็นพระอรหันต์ได้ ไม่ใช่หยุดฆ่าคน หยุดฆ่าคนนั้น ใครๆ ก็ไม่ฆ่าคนอยู่แล้ว ทำไม่ไม้เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าความหยุด หรือหยุดที่แท้นั้น มันคือความว่าจนไม่มีตัวเราที่จะอยู่ที่ไหน หรือจะไปที่ไหน หรือจะมาที่ไหน หรือจะทำอะไร นั่นมันจึงหยุดแท้ ถ้ายังมีตัวเราอยู่แล้ว มันหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงควรจะเข้าใจคำว่า ว่าง นี้ คือคำๆ เดียวกับคำว่า หยุด ที่พระพุทธเจ้าสั่งองคุลีมาลคำเดียวแล้วกลายเป็นพระอรหันต์ไปได้ ทั้งที่ฆ่าคนมามือยังเลือดแดงๆ อยู่ หรือที่แขวนคะแนนคนที่ฆ่าไปแล้วด้วยกระดูกนิ้วมืออยู่ที่คอตั้ง ๙๙๙ หรือ ๙๙ ซึ่งแปลว่ามันมากเต็มที่ นั่นแหละ คือไม่หยุด มันมีความยึดมั่นถือมั่นอะไร จนวิ่งป่วนไปหมดไม่หยุด ทีนี้กรรมจะหมดไปเอง หรือว่าจะถึงความหยุดก็ต้องอาศัยคำๆ เดียว คือความว่างจากตัวกู-ของกู ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกรรมทั้งปวง การกระทำให้ว่างนี้ จัดว่าเป็นการทำโยคะในทางพุทธศาสนาก็ได้ คือเราดูกันที่ตัวการกระทำให้ว่างนี้นี่แหละที่เรียกว่าโยคะ มันเป็นโยคะสูงสุด ถึงขั้นที่เรียกว่ายอดของโยคะ กล่าวคือชั้นราชะโยคะอะไรนั้น ในที่เช่นนี้ แม้เราจะยืมคำว่าราชะโยคะในฝ่ายเวทานตะมาใช้ ซึ่งมีความหมายว่าสุดยอดของโยคะ แต่ราชะโยคะอย่างเขาทีตัวตนถึงที่สุด สำหรับพระพุทธศาสนาเรา โดยเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อริยสัจจทัศนะ คือโยคะ นั่นก็แปลว่า โยคะในพุทธศาสนานี้ก็มี แต่มันหมายถึงการทำความว่างให้แจ้งออกมา ให้ปรากฏออกมา เพราะฉะนั้นการกระทำใดอันเป็นไปเพื่อความว่างปรากฏออกมาแล้ว การกระทำอันนั้นเรียกว่า “โยคะ” ได้เหมือนกัน ถ้าใครอยากจะใช้คำว่า โยคะ หรือชอบพูดถึงโยคะ อยากมีโยคะ อะไรนี้ ต้องมีให้ถูกอย่างนี้ จึงจะสมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า โยคะคืออริยสัจจทัศนะ-การทำของจริงที่สุดให้ปรากฏออกมาเรียกว่าโยคะ แล้วเราก็เอามาใช้กันกับการทำทุกอย่างในทางจิตใจเพื่อให้หยุดความยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา ว่าของเราเสีย นี่และคือโยคะ เราจะเอาคำว่า โยคะ ของพวกอื่นมาใช้มาเรียกได้ทั้งนั้น มันจะมีความหมายที่ปรับให้เข้ากันได้ทั้งนั้น อย่าง กรรมโยคะ ให้ทำความไม่เห็นแก่ตัว ให้ประพฤติประโยชน์ของผู้อื่นดายไป อย่างนี้ก็มี ถ้าว่าเราอย่ามีตัวเรา มีของเรา เราอย่ามีความรู้สึกว่า ตัวเรา ว่าของเรา อย่างนี้ ทำไปเถอะ มันจะเป็นกรรมโยคะหมด แม้จะเป็นโยคะชั้นต่ำๆ เตี้ยๆ คือกาทำบุญทำกุศลทำความดี ความสงบ เสียสละแก่ผู้อื่น ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างนี้ ต้องทำด้วยจิตที่ว่าง ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู อย่าให้ความรู้สึกแล่น หรือโน้มเอียงไปในทางว่าของฉัน หรือตัวฉัน มันก็เป็นโยคะไปหมด นี่แปลว่า ไม่ต้องแสวงหาโยคะอย่างอื่น จะเป็นชื่อสักกี่สิบโยคะ กี่ชนิดโยคะก็ตาม ก็เป็นอันทำโยคะทั้งสิ้น กล่าวคือ การทำตัวตน หรือของตนให้หมดไป คือทำความว่างให้ปรากฏขึ้นมา เท่าที่กล่าวมาค่อนข้างจะยืดยาวนี้ ก็เพื่อจะให้เข้าใจเรื่อง “ความว่าง” คำเดียว ว่าจากิเลส คือว่างจากความรู้สึกว่า ตัวกู หรือของกู แล้วว่างจากความทุกข์นั้นมันแน่นอน เพราะเมื่อมันว่างจากกิเลสแล้ว ก็ว่างจากทุกข์ ว่างจากตัวกู-ของกูอย่างเดียวเท่านั้น จะว่างหมดจากทุกสิ่ง และสภาพอันนั้นมันเป็นนิโรธธาตุ ไม่ใช่ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่ อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่ อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่ วิญญาณัญจายตนะ อะไรเยอะแยะ ล้วนแล้วแต่พระพุทธเจ้าท่านปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ทั้งนั้น มันมีแต่ นิโรธธาตุ เป็นความว่างจาก ตัวกู-ของกู เป็นที่ดับแห่งกรรม เป็นที่ดับแห่งกิเลส เป็นที่ดับแห่งความทุกข์ ข้อสุดท้ายที่เราจะต้องนึกถึง ก็คือว่า สิ่งนี้เป็นของที่เนื่องกันอยู่กับทุกสิ่ง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่าลืมเสียว่า ทุกสิ่งไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ ธรรมะก็ไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติธรรมดา หรือความที่มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็น ตถตา เพราะฉะนั้น มันจึงว่างจากตัวตน-ของตนอยู่แล้ว
    ธรรมะประเภทโง่ ประเภทหลง ประเภทอวิชชานี้ มันโผล่ขึ้นมาเรื่อย เพราะการเป็นอยู่ หรือชีวิตประจำวัน หรือวัฒนธรรมของเราสมัยนี้ มันให้โอกาสแก่ธรรมะฝ่ายตัวกู ฝ่ายของกู คือฝ่ายอวิชชา ไม่ได้ให้โอกาสแก่ฝ่ายวิชชา เพราะฉะนั้น เราจึงต้องถูกลงโทษด้วย บาปดั้งเดิมของเรา ที่พอเกิดมาแล้วก็มีแต่จะหลงไปโดยอัตโนมัติ นี้เรื่อยไปไม่เข็ดหลาบ แม้เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังไม่รู้สึก เป็นคนกลางคนแล้วก็ยังไม่รู้สึก เป็นคนแก่คนเฒ่าแล้วก็ยังไม่รู้สึกก็มี ถ้าอย่างไรก็ควรที่จะรู้สึกในวัยกลางคน หรือเมื่อยามแก่เฒ่า จะได้พ้นโทษ จะได้ออกจากกรงขังของวัฏฏสงสาร จะได้รับอิสรภาพ สู่ที่โล่งแจ้ง ไม่มีขอบเขต ไม่มีอะไรจำกัด
    เมื่อพุทธศาสนาแผ่ไปถึงเมือองจีน คนจีนสมัยโบราณเขามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรับเอา ได้เกิดวรรณกรรมอย่างของเว่ยหล่าง หรือของฮวงโปขึ้นมา อธิบายเรื่องจิต เรื่องธรรมะ เรื่องพุทธะ เรื่องหนทาง เรื่องความว่าง ให้เข้าใจกันได้ด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ คือโผล่ขึ้นมาประโยคแรกก็ชี้ว่า จิตก็ดี ธรรมะก็ดี พุทธะก็ดี หนทางก็ดี ความว่างก็ดี คือสิ่งเดียวกัน มันเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว ประโยคเดียวเท่านี้พอแล้ว มันเท่ากับพระไตรปิฎกทั้งหมดได้เหมือนกัน แต่เราไม่อาจเข้าใจเลยก็ได้
    ยิ่งพวกเราที่ศึกษาปฏิบัติกันอยู่ในแบบเก่านี้แล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจประโยคนี้ได้เลย ควรที่จะละอาย มีหิริโอตัปปะในเรื่องนี้กันเสียบ้าง มันจะไปได้เร็ว และยิ่งกว่านั้น พุทธบริษัทเมืองจีนยังพูดก้าวไปถึงว่า ความว่างนี้มันเป็นอยู่เองแล้ว แต่เราไม่เห็นเอง อาตมาอาจจะพิสูจน์ได้เหมือนกับที่พูดอยู่แล้วๆ เล่าๆ ว่า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ มีจิตว่างอยู่เองแล้วในขณะนี้ แต่ก็หามองเห็นไม่ และไม่ยอมรับว่านี้เป็นความว่างเสียด้วยซ้ำไป นี่แหละฮวงโปจึงด่าว่า คนพวกนี้เหมือนกับคนมีเพชรติดอยู่ที่หน้าผากแล้วก็ไม่รู้ แล้วเที่ยววิ่งหาไปรอบๆโลก หรือบางทีก็นอกโลก ไปหาที่เมืองนรก เมืองสวรรค์ เมืองพรหมโลก เมืองอะไรต่ออะไร หารอบๆ โลกมนุษย์นี่ยังไม่พอ ยังไปเที่ยวหาเสียหลายๆ โลก ทำบุญสักหนึ่งบาท แล้วก็จะให้ได้ไปสวรรค์ ไปพบอะไรที่ต้องการ อย่างนี้เรียกว่ามันไม่ดูของดีที่ติดอยู่ที่หน้าผาก แล้วก็จะไปหาที่รอบๆ โลก หรือโลกอื่นๆ อีก เพราะฉะนั้น เรื่องวิธีคลำให้พบ เขาก็พูดอย่างเหนือเมฆหรืออะไรทำนองนั้นยิ่งขึ้นไปอีก “ไม่ต้องทำอะไร คืออยู่นิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไร แล้วมันก็จะว่างเอง” คำว่า “อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไร” นี้ มันมีความหมายมากอยู่ คือว่าเรามันซุกซน เรามันสัปดน เที่ยวรับเอาอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเข้ามา เมื่อรับเข้ามาแล้วยังโง่พอที่จะเปิดโอกาสให้ธรรมะฝ่ายอวิชชานั้นขึ้นนั่งแท่นบัญชางานเสียเรื่อย มันจึงเป็นไปแต่ในทางยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู-ว่าของกู เรียกว่าซน ไม่ยอมอยู่นิ่งๆ “อยู่นิ่ง” ก็หมายความว่า ไม่รับเอาอารมณ์เข้ามา หรือว่าอารมณ์มากระทบ ก็ให้มันตายด้าน เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เมื่อตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น เป็นต้น นี้เรียกว่ามันไม่รับเข้ามา หรือว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ มันเลยไปเป็นเวทนา คือพอใจ หรือไม่พอใจเสียแล้ว ก็ให้หยุดเพียงแค่นั้น อย่าได้อยากต่อไปอีก ตามความพอใจหรือความไม่พอใจ อย่างนี้ก็พอที่จะให้อภัย ว่ายังอยู่นิ่งๆ อยู่ได้ เรื่องมันจะได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ถ้าพอใจแล้วทำอะไรต่อไปยืดยาว เดี๋ยวตัวกู-ของกู ก็โผล่ออกมา หรือว่าถ้าไม่พอใจ แล้วก็ทำอะไรไปตามความไม่พอใจ มันก็เป็นความทุกข์ นี้เรียกว่าไม่อยู่นิ่งๆ เพราะฉะนั้น คำว่าอยู่นิ่งๆ ของเว่ยหล่าง หรือฮวงโปก็ตามนั้น มันได้แก่การปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความไม่ควรยึดมั่นมือมั่น ว่าตัวเรา-ว่าของเรานั่นเอง อยู่นิ่งๆ คำนี้มันมีความหมายอันเดียว อย่างเดียวกับประโยคที่ว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” นั่นเอง เพราะว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้ว ธุระอะไรจะไปยุ่ง หรือเข้าไปวุ่น หรือวิ่งเข้าไปหาที่สิ่งเหล่านั้นให้มันวุ่นทำไม ไม่อยู่นิ่งๆ เพราะฉะนั้นคำว่า “อยู่นิ่งๆ” จึงมีความหมายอย่างนี้ เราจงดูให้เห็นความว่างที่พึงประสงค์ การที่กล่าวว่ามีความว่างชนิดที่ก่อให้เกิดความหยุด หรือความสะอาด ความสว่าง ความสงบ อะไรก็ตาม นี้ยังพูดอย่างสมมติ เพราะว่าถ้าพูดอย่างความจริง หรือพูดอย่างถูกต้องแล้ว มันไม่มีอะไรนอกจากความว่าง มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น แล้วความว่างนั้นมันไม่ก่อให้เกิดอะไร เพราะว่าความว่างนั้นมันเป็นตัวพุทธะ ตัวธรรมะ ตัวสังฆะ ตัวหนทาง ตัวสะอาด ตัวสว่าง ตัวสงบ อะไรหมด อยู่ที่ความว่างนั้น ถ้ายังพูดว่า ความว่างเป็นเหตุให้เกิดนั่น เกิดนี่แล้ว ก็แปลว่าเรายังไม่รู้ถึงที่สุด ยังไม่ใช่ว่างถึงที่สุด เพราะถ้าว่างถึงที่สุดแล้ว มันไม่ต้องทำอะไร อยู่นิ่งๆ มันก็เป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะ สะอาด สว่าง สงบ นิพพาน อะไรในตัวมันเอง ในตัวที่ไม่ปรุงแต่งให้เป็นอะไรขึ้นมานั่นเอง เมื่อจะสอนคนเขลาๆ โดยวิธีที่ง่ายที่สุด ให้รู้จักสังเกตความว่างนั้น ฮวงโปได้ให้ปริศนาไว้อันหนึ่งว่า ให้ดูที่จิตของเด็กก่อนที่จะปฏิสนธิ อาตามก็ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ให้หาดูจิตของเด็กก่อนที่จะปฏิสนธิในครรภ์นั้นมันอยู่ที่ไหน ถ้าหาอันนี้พบ แล้วจะหาความว่างพบได้ง่ายๆ เหมือนกับคลำพบของที่มีอยู่ที่หน้าผากแล้ว ขอสรุปว่า เรื่องความว่างนี้ไม่ใช่เรื่องอื่น คือเรื่องทั้งหมดของพุทธศาสนา จะว่าพระพุทธเจ้าหายใจเข้าออกอยู่ด้วยความว่าง หรือว่ามันเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา เป็นความรู้ เป็นการปฏิบัติ เป็นผลของการปฏิบัติ ถ้าเรียนก็ต้องเรียนเรื่องนี้ ปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อผลอันนี้ ได้ผลมาก็ต้องเป็นอันนี้ แล้วในที่สุดเราก็จะได้สิ่งที่ควรจะได้ที่สุด ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เพราะว่าเมื่อเข้าถึงความว่างนั้นได้นั้น มันก็หมดปัญหา มันไม่ใช่อยู่ข้างบนหรือข้างล่าง หรือมันไม่ใช่อยู่ที่ไหน มันไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ควรหุบปากมากกว่า แต่เราก็ยังต้องพูดว่าเป็นสุขที่สุดอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องระวังให้ดี เรื่อง “นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง” กับ “นิพพาน คือว่างอย่างยิ่ง” นั้นจะต้องจับความหมายให้ถูกต้อง อย่าเอาความสุขตามความหมายที่เคยชินกันมาก่อน เหมือนกับพวกก่อนพุทธกาลโน้น ไพล่ไปเอาความสมบูรณ์ถึงที่สุดทางกามารมณ์ มาเป็นนิพพานก็เคยมี ไปเอาความสุขทางฝ่ายรูป ความสุขจากรูปสมาบัติ เป็นนิพพานมาแล้วก็มี พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ออกมาเสีย คือเอาเนกขัมมธาตุเป็นเครื่องมือออกมาจากกาม เอาอรูปธาตุเป็นเครื่องมือออกจากความหลงใหลในรูปสมาบัติ และในที่สุด ก็เอานิโรธธาตุเป็นเครื่องออกมาเสียจากสังขตะ คือความวุ่นวายนานาชนิดมาสู่ความว่าง ท่านจะเข้าใจได้หรือไม่ จะปฏิบัติได้หรือไม่ย่อมเป็นเรื่องของท่านทั้งหลายเอง อาตมามีหน้าที่แต่จะกล่าวไปตามที่มันมีอยู่อย่างไร การรู้ การเข้าใจ และการปฏิบัติย่อมตกเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้

    คัดลอกมาจาก
     

แชร์หน้านี้

Loading...