เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 19 มิถุนายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,195
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,511
    ค่าพลัง:
    +26,344
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,195
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,511
    ค่าพลัง:
    +26,344
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ พวกเราก็ได้ทำการฉลองพัดเปรียญธรรมและประกาศนียบัตรผู้สอบได้ประโยคบาลีปี ๒๕๖๗ ไปแล้ว

    ในส่วนของงานฉลองนั้น ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกของวัดท่าขนุนและครั้งแรกของอำเภอทองผาภูมิ ในเรื่องของโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีวัดท่าขนุนนั้น จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๖๒ ตามโครงการ ๑ ตำบล ๑ มหาเปรียญ ซึ่งผู้ดำเนินโครงการคือท่านอาจารย์พระมหาวิสูตร วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙ รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ดูแลด้านการศึกษาคณะสงฆ์

    แต่เท่าที่ดำเนินการผ่านมานั้น สำนักเรียนบาลีที่ประสบความสำเร็จ ส่งพระสอบแล้วได้ประโยคบาลีก็มีแค่วัดเหนือ (วัดเทวสังฆาราม) วัดใต้ (วัดไชยชุมพลชนะสงคราม) วัดหัวนา วัดทุ่งมะสัง และวัดท่าขนุน ส่วนอีกวัดหนึ่งที่สอบประโยคบาลีได้มาก คือวัดเขาพุราง แต่นั่นเป็นของคณะสงฆ์ธรรมยุต

    ในเรื่องของการเรียนบาลีนั้น วัตถุประสงค์ของกระผม/อาตมภาพคือ ต้องการให้ทุกท่านมีความสามารถในการแปลพระไตรปิฎก หรือภาษาบาลีได้ถูกต้อง การที่เราจะแปลภาษาบาลีได้ถูกต้องนั้น ส่วนหนึ่งต้องมีการปฏิบัติธรรมควบคู่กันไปด้วย เนื่องเพราะว่าศัพท์บาลีหลายอย่างนั้น ถ้าเราไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม อาจจะแปลแล้วไม่เข้าถึงเนื้อหาหรืออรรถรสอย่างแท้จริง

    เอาแค่คำว่า "สุขในฌาน" เราก็บอกได้ว่าเป็นความสุขเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่มีอาการเป็นอย่างไรเราอธิบายไม่ได้ แต่ถ้าเราเรียนประโยคบาลีด้วย แล้วปฏิบัติธรรมด้วย เราก็จะเข้าใจว่า บุคคลที่โดนไฟใหญ่ ๔ กอง คือ รัก โลภ โกรธ หลง เผาอยู่ตลอดเวลา เมื่อกำลังใจเข้าถึงฌานได้ กำลังสมาบัติที่เกิดขึ้น สามารถดับไฟใหญ่ทั้งสี่กองลงได้ชั่วคราว บุคคลที่โดนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟดับลงจะมีความสุขสบายอย่างไรอธิบายเป็นคำพูดได้ยาก

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น วัตถุประสงค์การเรียน
    ของพวกท่านที่กระผม/อาตมภาพตั้งเอาไว้จึงไม่เหมือนกับที่อื่น เนื่องเพราะคำว่าบาลี มาจาก ปาลธาตุ คือ ในความรักษา เรียนเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก ถึงเวลาจะได้แปลได้ถูกต้อง

    แต่ว่าในบ้านเมืองเราส่วนใหญ่แล้วพอเรียนไป ผู้บังคับบัญชาเห็นความพากเพียร เนื่องเพราะว่าการเรียนบาลีนั้นยากมาก เมื่อสำเร็จการศึกษามีประโยคเปรียญธรรมติดตัว ท่านก็มักจะมอบหมายภาระหน้าที่ทางคณะสงฆ์ให้ จึงมีความเจริญก้าวหน้าในการปกครองคณะสงฆ์ มากกว่าบุคคลที่ไม่มีประโยคบาลีสนับสนุน ทำให้การเรียนบาลีของพวกเรานั้น ระยะหลัง ๆ มีวัตถุประสงค์ที่ผิดเพี้ยนไปมาก
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,195
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,511
    ค่าพลัง:
    +26,344
    โดยเฉพาะหลายสำนักมีการแย่งตัวผู้เป็นนักศึกษาบาลีกัน อยู่ในระดับจ้างให้เรียนในนามสำนักของตัวเอง เนื่องเพราะว่าเจ้าสำนักสามารถเอาผลงานตรงนี้ไปใช้ในด้านการศึกษา เวลาที่ขอยศขอตำแหน่งก็มักจะได้ง่าย เพราะว่ามีผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

    เมื่อได้ประโยคบาลีมาก็มีการให้รางวัลกันหนัก ๆ บางวัดผู้ที่จบประโยค ๙ มา ได้รับถวายปัจจัยให้เป็นล้านเลยก็มี..! ซึ่งวัดเราถ้าได้ระดับร้อยบาทก็ดีใจตายชักแล้ว และที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่มีการฉลองประโยคบาลีกันมาก่อนเลย

    รุ่นเก่า ๆ อย่างพระครูสุตกาญจนวัฒน์, ดร. อดีตก็คือพระมหาปรีชา จิรนาโค พระครูกาญจนปริยัติคุณ อดีตก็คือพระมหาชุมพร ปิยธมฺโม หรือแม้กระทั่งพระมหานันทวัฒน์ เขมธมฺโม ป.ธ.๖ ที่ไปศึกษาอยู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ จบประโยค ๖ แล้วเรียนต่อไม่ไหว เพราะว่าเจ็บไข้ได้ป่วย จนต้องเบนเข็มไปในทางสั่งสอนญาติโยม โดยการเปิดบ้านสุมโนขึ้นมา นำญาติโยมเจริญพระกรรมฐานแทน

    พอมาถึงรุ่นเราที่มีการฉลองกัน ก็ถือว่าเป็นไปตามทางโลก แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมว่า ในการเรียนของเรานั้น วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร ? โดยเฉพาะถ้าอยู่นาน ๆ ไป มีอายุพรรษาได้ระดับ อาจจะต้องไปรับหน้าที่พระสังฆาธิการระดับใดระดับหนึ่ง อย่างเช่นเจ้าอาวาส เป็นต้น ซึ่งกฎเกณฑ์กติกาเขาก็ตั้งโดยเอาความรู้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ มีแนวโน้มว่าต่อไปเจ้าอาวาสอย่างน้อยจบปริญญาตรี โดยเฉพาะปริญญาตรีทางด้านพระพุทธศาสนา

    จะว่าไปแล้วก็เป็นความปรารถนาดีของผู้บังคับบัญชา ที่ต้องการให้เราท่านทั้งหลายไม่ใช่ว่าบวชมาแล้ว "ฉันเช้าแล้วเอน ฉันเพลแล้วนอน ตอนบ่ายพักผ่อน ตอนค่ำจำวัด" อย่างน้อย ๆ การศึกษาเล่าเรียนของเรา ถึงจะไม่ได้ใช้งานจริง ก็ขอให้อยู่ในลักษณะภัณฑาคาริกปริยัติ ก็คือเรียนแบบคลังสะสมความรู้ มีโอกาสก็จะได้ถ่ายทอดต่อให้บุคคลรุ่นหลัง ๆ ต่อไป

    โดยเฉพาะบุคคลที่ทำหน้าที่การสอนในพระปริยัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นแผนกธรรม แผนกบาลี หรือว่าแผนกสามัญ จากประสบการณ์ของกระผม/อาตมภาพคือ ยิ่งสอนตัวเองยิ่งเก่ง เพราะว่าเท่ากับได้ทบทวนความรู้อยู่ตลอดเวลา อย่างที่หลายท่านจะเห็นว่า ถึงเวลาสอบนักธรรมสนามหลวง กระผม/อาตมภาพสามารถเฉลยปากเปล่าได้ทุกข้อ ก็เพราะว่าสอนแล้วสอนอีก ย้ำแล้วย้ำอีก แต่ว่าผู้เรียนก็มักจะเป็นผู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,195
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,511
    ค่าพลัง:
    +26,344
    ดังนั้น..การที่จะเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม บางทีก็เป็นการทวนความรู้เก่าของเราไปในตัว ขณะเดียวกันก็ได้สร้างธรรมทานไปด้วย

    ในเรื่องของการเรียนนั้น ควรที่จะเรียนให้ต่อเนื่องกันไป ก็คือไปให้สุดแรงสุดกำลังของเราก่อนแล้วค่อยหยุด ถ้าหากว่าเรียน ๆ หยุด ๆ จะมีประสบการณ์ประเภท "ไฟหมด" ก็คือไม่มีอารมณ์ที่จะเรียนต่ออีก..!

    ดังนั้น..ท่านใดที่เรียนอยู่ ถ้าเป็นไปได้ต้องตะเกียกตะกายไปให้เต็มที่ของเรา ถ้าสามารถจบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ก็ยิ่งดี ถ้าต้องการที่จะดูตัวอย่างกาญจนบุรีของเราก็มี ก่อนหน้านี้ก็มีพระมหาเอกชัย อุตฺตโม วัดหม่องกระแทะ ซึ่งท่านจบประโยค ๙ ตอนอายุ ๔๐ กว่าปี หรือกระผม/อาตมภาพก็ไม่แน่ใจว่าจะถึง ๕๐ ปีหรือเปล่า ?

    หรือแม้กระทั่งเจ้าคณะอำเภอพนมทวน ก็คือพระมหาธวัชชัย กลฺยาโณ ป.ธ.๙ นั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะว่าท่านผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วจึงมาบวช บวชแล้วเรียนบาลีจบประโยค ๙ ก็คือเรียนตอนอายุมากแล้ว แต่สามารถลุยจนจบประโยค ๙ ได้

    ก็แปลว่าในเรื่องของการศึกษานั้น ไม่ใช่ว่าอายุมากหรืออายุน้อย หากแต่อยู่ที่ความพยายามล้วน ๆ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราทั้งหลายพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คือเรามีรุ่นพี่ที่เป็นเปรียญธรรมที่เป็นประโยคสูง ก็เอาเป็นเป้าหมายไว้ว่าเราจะทำให้ได้ในระดับนั้น หรือท่านที่ยังไม่มีเปรียญธรรมอยู่ก็เพียรพยายามที่จะสอบให้ได้

    ถ้าดูตัวอย่างพระภิกษุสามเณรที่มาจากภาคอีสาน เมื่อถึงเวลาสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไป กลับบ้านไปกลายเป็น "พระมหา" แทบจะเป็นความหวังของหมู่บ้าน สมัยนี้เขาใช้คำว่า "ตัวแทนหมู่บ้าน" ก็คือมีอะไรชาวบ้านแทบจะมอบกายถวายชีวิตให้กับพระมหาที่จบมาจากเมืองกรุง ยิ่งได้ประโยคสูง ๆ ชาวบ้านก็ยิ่งตั้งความหวังเอาไว้มาก พูดง่าย ๆ ว่ายังไม่ทันจะเรียนจบ เขาก็แทบจะยกขึ้นเหนือเศียรเหนือเกล้าไปแล้ว..!

    แต่เราต้องไม่ลืมประโยคบาลีที่เราเรียนว่า ยโส ลทฺธา น มชฺเชยฺย บุคคลได้ยศแล้วไม่พึงเมา ก็คือต่อให้เราเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เราก็ยังคงเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกับผู้อื่น การศึกษาเป็นเพียงเครื่องช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับเรา มีหนทางที่จะศึกษาเรียนรู้ได้มากกว่าคนอื่นเท่านั้น

    ถ้าศึกษาไปแล้วใช้งานไม่ได้ก็ไร้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปหลงในเรื่องของยศ ในเรื่องของตำแหน่ง ก็มีแต่จะพาให้เราห่างไกลจากความดี แล้วอาจจะหลงทางจนพาเราสู่ทุคติไปเลยก็เป็นได้..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เถรี)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...