หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สาธุการนามพระผู้ให้ในใจชน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย aprin, 27 ธันวาคม 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอน...ชาติภูมิที่สามผาน

    เรื่องการค้าขายด้วยความซื่อสัตย์ และมีศีลนี้ ไม่เพียงยึดถือมาแต่ครั้งเป็นฆราวาสแต่ได้นำมาสอนลูกศิษย์ที่มีอาชีพค้าขายอยู่เสมอๆ....

    พระอาจารย์ฟัก เกิดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2478 ณ บ้านเลขที่ 1 หมู่ 4 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นบุตรคนโตของคุณพ่อสังข์ คุณแม่เจน พูลกสิ มีน้องสาวคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่อายุได้เพียง 9 ขวบ

    “ตอนเด็ก ท่านอ้วนขาวเหมือนลูกฟัก เลยถูกเรียกว่า ฟัก แต่พ่อแม่จะเรียกท่านว่า ‘หนู’ มีน้องสาวหนึ่งคนชื่อ แฟง เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 5 ขวบ ท่านเลยกลายเป็นลูกโทนไปโดยปริยาย” คุณยายเวง เพื่อนรุ่นพี่ของท่านพระอาจารย์ สมัยเป็นฆราวาส กล่าวถึงที่มาของนามพระอาจารย์ฟัก

    ครอบครัวพูลกสิ เป็นครอบครัวชาวสวนเล็กๆ ที่ไม่ร่ำรวยแต่ไม่ขัดสน หากแต่อบอุ่นอยู่ท่ามกลางญาติฝ่ายคุณพ่อสังข์ เพราะคุณแม่เจนพื้นเพเป็นคน ต.ศรีพญา เมื่อออกเรือนจึงย้ายมาอยู่กับคุณพ่อสังข์ที่ ต.สองพี่น้อง

    [​IMG]

    พระอาจารย์ฟัก บอกเล่าถึงบุคลิกของโยมพ่อไว้ว่า คุณพ่อสังข์เคยเป็นเสนารักษ์เก่า ค่อนข้างดุ ใจร้อน ปากไวแต่ไหวพริบดี “เจ้าปัญญา” เวลาพูดโต้ตอบกับผู้คน มีจิตใจดี เมตตาสัตว์ เป็นคนอยู่ในศีลในธรรม มักโน้มน้าวลูกและเพื่อนๆ ลูกให้ถือศีลห้าอยู่เสมอ

    เมื่ออายุครบเกณฑ์ได้รับการศึกษา โยมบิดาได้นำไปฝากเรียนที่โรงเรียนวัดสามผาน จนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ใน พ.ศ. 2490 ความที่เป็นคนฉลาด ความจำเป็นเยี่ยม เรียนเก่งมาก จึงสอบได้ที่หนึ่งมาตลอด โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์

    ครูขจร หรรษาพันธ์ ผู้เคยสอนหนังสือพระอาจารย์ฟักเคยเล่าไว้ว่า โรงเรียนวัดสามผานนั้นมีห้องเรียนคือ ใต้ถุนและศาลาการเปรียญวัดสามผาน

    “ท่านเป็นเด็กที่มีนิสัยเงียบขรึม พูดน้อยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสะอาด มีระเบียบวินัยตั้งใจเรียน ไม่เคยทำความยากลำบากให้กับ|ครูผู้สอน ครูจำท่านได้ดีเพราะท่านสนใจตั้งใจเรียน ชอบนั่งแถวหน้า มีความสามารถในการเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีเยี่ยม ครั้งหนึ่งครูให้นักเรียนในชั้นทดลองทำโจทย์คณิตศาสตร์ข้อหนึ่ง ซึ่งนับว่ายากมาก ปรากฏว่าท่านหาคำตอบได้เพียงคนเดียว”

    ความสามารถทางคณิตศาสตร์ดังว่านี่เอง ทำให้เวลาใครจะซื้อขายที่ดินหรือต้องการคำนวณที่ดินมักมาหาท่าน เพื่อให้ช่วยคำนวณว่าถ้าแปลงเนื้อที่จากที่วัดเป็นวามาออกเป็นไร่จะได้เท่าไหร่อยู่เนืองๆ

    การศึกษาทางโลกของท่านยุติลงที่ชั้น ป.4 เหมือนคนอื่นๆ ในสมัยนั้น ซึ่งถือว่าเรียนแค่นั้นก็พอแล้ว เพราะถ้าจะเรียนต่อต้องเดินทางเข้าไปเรียนในตัวจังหวัด ซึ่งการเดินทางในยุคนั้นลำบากมาก เว้นแต่จะย้ายไปอยู่ในตัวจังหวัด
    เป็นที่รู้กันในหมู่ญาติมิตรว่า สมัยเป็นเด็กนั้น ท่านเป็นคนกลัวผีมาก มักจะบอกใครๆ ว่าเห็นผีเสมอเวลาไปไหนค่ำๆ มืดๆ จึงต้องหาเพื่อนไปด้วยตลอด แต่พอถามไปถามมาจึงรู้ว่า เวลาเห็นอะไรที่เป็นเงาตะคุ่มๆ อยู่ในความมืดนั้น ท่านก็ว่าเป็นผีอยู่ร่ำไปตามประสาคนกลัวผี

    แม้จะกลัวผี แต่ก็มีกิจกรรมยามค่ำอย่างหนึ่งซึ่งท่านนิยมมากในวัยเด็กนั่นคือ การจับปลายามค่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดใจกับโยมพ่อในเรื่องนี้อยู่เสมอ

    เวลาจะจับปลาในยามค่ำ ท่านจะออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่มืดเพื่อไปชักชวนญาติ และเพื่อนๆ อย่าง คุณยายเวง, ก๋งสวัสดิ์ หรือกำนันเวก ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายพ่อและเป็นเพื่อนรุ่นเด็กกว่าท่าน 4-5 ปี ให้พวกเขาไปเป็นเพื่อน

    “เวลาไปก็จะจุดไต้นำทางเดินกันไปยังทุ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็คือด้านหน้าทางเข้าวัดเขาน้อยนั่นแหละ ผมเองก็ไม่ค่อยอยากไป เพราะเป็นพวกกลัวผีเช่นกัน ท่านจับปลาเก่งมาก มักจะได้ปลาทุกงวดมากบ้างน้อยบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะได้ไม่น้อย ผมไม่ค่อยได้กับเขาหรอกแต่ท่านก็จะแบ่งให้เสมอ ปลาที่ได้ก็ไม่ได้เอาไปขายมักมาแจกกันในหมู่ญาติ” กำนันเวก เล่า

    ภายหลังบวชแล้วรู้ว่าโยมพ่อยังเก็บอุปกรณ์ตกปลาไว้หลังบ้าน ได้ขอให้โยมบิดาเอาไปเผาทิ้งให้หมด เมื่อท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดเขาน้อยแล้ว คราวใดท่านนึกได้ถึงกรรมนี้ ท่านจะให้คนไปซื้อปลาเป็นๆ ในตลาดที่กำลังรอฆ่า แล้วนำมาปล่อยเสมอพร้อมบอกบุญนี้ให้กับคณะผู้เคยร่วมทำกรรมนั้น ร่วมกันมาให้ปัจจัยซื้อปลาคนละเล็กละน้อยเสมอ

    กิจกรรมยามกลางคืนที่ทำให้ชาวคณะกลัวผียอมฝ่าความมืดออกจากบ้านอีกประการหนึ่งได้คือ การออกไปดูลิเก แต่โยม|บิดาจะอนุญาตให้ออกไปดูลิเกได้ก็ต่อเมื่อคุณยายเวงซึ่งเป็นญาติเดินมารับท่านเท่านั้น ขากลับเมื่อลิเกเลิกแล้ว คุณยายเวงหรือญาติๆ ก็ต้องมาส่งที่บ้านและรอให้โยมมารดาเจน ถือตะเกียงออกมารับจึงลากลับได้ เห็นได้ว่าทั้งบิดามารดาดูแลเอาใจใส่ท่านมาก ทั้งเข้าใจในความรู้สึกกลัวผีของลูก ทั้งยังห่วงระวังไม่ให้ไปเที่ยวกับคนที่ไม่รู้จัก
    พระอาจารย์ฟักเป็นผู้ที่มีปัญญาตั้งแต่เด็กๆ กำนันเวกสหายรุ่นน้องในช่วงเยาว์วัยเล่าว่า ท่านชอบชวนไปเก็บผลไม้บนเขาน้อย ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่รกร้างไม่มีเจ้าของ มีผลหมากรากไม้ขึ้นเองหลากชนิด และแต่ละชนิดมีผลดกมาก เช่น ลูกสำรอง ลูกคุย เป็นสถานที่โปรดปรานสำหรับเด็กๆ ในหมู่บ้าน

    ครั้งหนึ่งท่านชวนกำนันเวกไปเก็บลูกคุย ซึ่งมีผลสีขาว เมื่อสุกผลจะเป็นสีแดงออกเป็นช่อ ความที่กำนันเวกอายุอ่อนกว่าจึงมักยอมฟังท่านทุกเรื่อง ก่อนขึ้นต้นคุย พระอาจารย์ฟักได้ตกลงกับกำนันเวกเสียก่อนว่า “พวกที่เป็นช่อๆ ให้เวกเอาไปนะ พวกร่วงๆ นี่เราจะเอาเอง” ฟังดูเหมือนพี่ใหญ่เสียสละให้น้อง พอขึ้นไปเก็บเสร็จลงมาแบ่งกัน ท่านพระอาจารย์ฟักกลับได้เยอะมาก ส่วนกำนันได้ติดมือกลับไม่กี่ช่อ

    กำนันเวกมาพิจารณาย้อนหลังจึงได้ความว่า “ต้นคุย” นี้สูงใหญ่มากเมื่อขึ้นไปเด็ดจะต้องโยนผลมันกลับลงมา พวงช่อที่เด็ดออกมาต้องระกิ่งไม้ลงมาเรื่อย กว่าจะถึงพื้นย่อมร่วงเกือบหมด เรื่องนี้คงอยู่ในใจกำนันไม่ลืม เมื่อพูดขึ้นมาให้ท่านพระอาจารย์ฟักฟังเมื่อไหร่ ท่านจะหัวเราะจนหน้าแดง พร้อมบอกว่า จำได้ๆ

    เรื่องซุกซนในวัยเป็นเด็กอีกอย่างคือชอบเล่น “น้ำเต้าปูปลา”

    “น้ำเต้าปูปลา” เป็นการพนันชนิดหนึ่งซึ่งมักมีเล่นในงานโอกาสพิเศษ เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และในงานขึ้นบ้านใหม่ของผู้ใหญ่ชุน ชนะสิทธิ์ ก็มีการแสดงลิเก และเล่นพนันน้ำเต้าปูปลาด้วย งานนั้นท่านอยู่ในวงน้ำเต้าปูปลา ขณะที่กำนันเวกกำลังดูลิเกเพลินอยู่ ขณะทุกคนต่างสนุกสนานอยู่นั้น จู่ๆ ตำรวจก็พรวดพราดมาจากไหนไม่ทันรู้ตัวกรูเข้ามารวบขาพนันทั้งหลาย รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านเจ้าของงานไปโรงพักท่าใหม่แบบยกก๊วน

    ถึงโรงพักสอบสวนแล้ว ผู้กองบุญฤทธิ์ สมิท เห็นนามสกุล “พูลกสิ” เลยถามว่าเป็นอะไรกับนายสังข์ พอรู้ว่าท่านเป็นลูกของเพื่อน ผู้กองก็เมตตาเอาตัวออกมาไว้ในห้องรอให้บิดามารับตัวกลับ

    ฝ่ายคุณพ่อสังข์เมื่อรู้ว่า ลูกถูกจับพนันก็โมโหมาก แต่ความรักและห่วงลูกมีมากกว่า จึงชวนพวกญาติๆ จุดไต้เดินออกจากบ้านไปโรงพักท่าใหม่ทันที คณะตามลูกเป็นกลุ่มใหญ่ ถือไต้เดินไปตามถนนจากเขาน้อยไปท่าใหม่ห่างกัน 10 กว่ากิโลเมตร ตั้งแต่เที่ยงคืนยันตี 3 ของวันใหม่จึงถึงโรงพัก ตลอดทางพ่อท่านด่าลูกรักไม่ขาดปากประมาณว่า นี่ถ้าผู้กองเขาจะจับขังก็จะขังให้เข็ดไม่ต้องรับออกมาเลย ปากตะโกนด่าลูกไปได้ยินกันทั่วถึง เท้าก็รีบจ้ำก้าวไปด้วยความห่วงลูกมาก ขากลับรับตัวลูกมาด้วยแล้ว ก็เอ็ดลูกเสียงดังมาตลอดทางจนสว่าง ใกล้ 6 โมงเช้าจึงถึงบ้าน

    เรื่องนี้เป็นที่โจษจันเลื่องลือของชาวบ้านแถวนั้นมาก และเป็นเหตุให้ท่านพระอาจารย์ฟักกระซิบข้างหูกำนันเวกว่า “คงต้องเลิกแล้วละ พ่อด่าเหลือเกิน”
    แม้จะซุกซนไปบ้างตามวัย แต่การได้รับการอบรมจากโยมบิดา ซึ่งมักจะพร่ำสอนเรื่องศีลห้าอยู่เป็นประจำนั้น ทำให้พระอาจารย์ฟักมีนิสัยซื่อตรง ไม่เอารัดเอาเปรียบใครและพยายามครองตนอยู่ในศีลในธรรมมาตลอด

    ครั้งหนึ่ง ท่านไปพำนักอยู่กับน้าเขยซึ่งมีอาชีพฆ่าหมู

    ท่านว่าวันนั้นเขาจะฆ่าหมู ตัวท่านเองก็ทราบ แต่แกล้งทำเป็นหลับไม่ยอมตื่น เพราะไม่อยากจะมีส่วนในเรื่องนี้

    “ได้ยินเสียงหมูมันร้องแล้วสงสารมาก”

    กระทั่งเขาเชือดเสร็จท่านจึงค่อยทำทีตื่นลงมาช่วย ถึงโดนน้าดุว่า ขี้เกียจ แต่อย่างไรเสียท่านก็ไม่อยากเชือดหมู

    สมัยหนุ่มๆ ถึงแม้จะมีเพื่อนฝูงทั้งดีและเกเรบ้าง แต่ท่านเองไม่ดื่มเหล้าเพียงแต่สูบบุหรี่เก่ง และไม่ชอบมีเรื่องมีราวกับใคร ไม่เอาธุระเรื่องชกต่อย หากแต่เป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือเอื้อเฟื้อญาติมิตรอยู่เสมอ

    ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า สมัยก่อนไม่ได้ร่ำรวย ใส่เสื้อหลังขาด ขี่จักรยานไปตลาดกับเพื่อนคนหนึ่ง พอไปถึงเจอเพื่อนฝูง ถึงไม่มีเงินในกระเป๋าก็บอกให้เพื่อนๆ นั่งรอ ส่วนท่านเองขี่จักรยานไปยืมเงินมาเลี้ยงพวกเขา

    ท่านขยันทำมาหากิน ประหยัดอดออม และซื่อสัตย์อย่างยิ่ง
    ก๋งสวัสดิ์รุ่นพี่ที่สนิทกับท่านพระอาจารย์ฟัก เพราะภรรยาก๋งเป็นญาติทางโยมพ่อโยมแม่ รู้ว่ามีงานที่ไหนมักจะชอบชวนญาติรุ่นน้องผู้นี้ไปทำงานด้วยเสมอ เพราะเห็นว่า ขยันและนิสัยดี

    กำนันเวกเล่าว่า ก่อนบวช พระอาจารย์ฟักทำงานตลอดปีไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่าง หมดจากงานในสวน ถ้าเป็นหน้าผลไม้ ท่านและกำนัน หรือบางทีก็จะเป็นพวกญาติๆ มักจะพากันถีบจักรยานคันใหญ่ที่ใช้บรรทุกผลไม้ใส่ลังวางซ้อนไว้ด้านหลังได้เที่ยวไป ตระเวนเข้าไปเหมาผลไม้จากเจ้าของสวน โดยใช้เครื่องชั่งแบบโบราณที่เป็นแขนมีตุ้มถ่วงเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก ซื้อคราวละเป็นสิบๆ กิโลกรัมต่อเที่ยว แล้วนำมาวางรวมกันในจุดขายใหญ่ๆ เช่นที่ตลาดสามผาน เพื่อรอพ่อค้าคนกลางมาเหมาใส่รถบรรทุกไปขายยังกรุงเทพฯ หรือ อ.ท่าใหม่
    “บางทีก็ถีบรถเข้าไปซื้อขายขี้ยางด้วยวิธีเดียวกัน ท่านเป็นคนละเอียดมาก เวลาไปรับซื้อของตามสวนซึ่งไปกันหลายคน จะมีเงินไปเป็นพันบาท พอกลับมาทำบัญชีถ้าพบว่าเงินขาดไปแม้แต่สลึงเดียวก็ต้องหาให้เจอว่าใครเอาไปซื้อใช้อะไร ซื้อขนมที่ไหนต้องบอกหมด

    “ด้วยความที่ท่านเป็นคนซื่อสัตย์มาก เวลาท่านไปรับซื้อยางจากสวนนายอี่ แล้วมาขายได้ราคาดีจากนายใช้ ที่ตลาดท่าใหม่ ท่านก็จะแบ่งกำไรส่วนที่ได้มากเกินปกตินั้นคืนให้กับนายอี่เจ้าของสวน เพื่อไม่เอากำไรเกินควร คนอื่นไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าท่านขายได้ราคาเองก็ควรเก็บไว้ แต่ท่านว่าแบบนี้มันเห็นแก่ตัวเกินไป ถ้าแบ่งกำไรกัน คราวหน้าใครๆ ก็อยากขายให้ท่าน

    “แม้แต่การรับซื้อเงาะเจ้าของสวนจะเหมาขายกันเป็นพันๆ ลูก ถ้าเกินเศษนิดหน่อย เขาก็จะแถมให้แต่ท่านมักจะคำนวณคืนเขาไปเสมอ แต่พอบางครั้งถ้าท่านพลาดไปซื้อขี้ยางที่เขาพันหินซุกไว้ โดยท่านไม่รู้ พอเอาไปขาย คนซื้อไปก็นำมาคืน ท่านต้องเอากลับมาคัดหินออกทั้งหมด โดยไม่ยอมหลอกขายต่อเพื่อเอาตัวรอด” กำนันเวก เล่า

    เรื่องการค้าขายด้วยความซื่อสัตย์ และมีศีลนี้ ไม่เพียงยึดถือมาแต่ครั้งเป็นฆราวาสแต่ได้นำมาสอนลูกศิษย์ที่มีอาชีพค้าขายอยู่เสมอๆ เช่นคราวหนึ่ง ท่านถามโยมมาว่า “ค้าขายต้องโกหกไหม?”

    เขาว่า “ต้องโกหกซีปู่ ไม่งั้นขายไม่ได้”

    ท่านพระอาจารย์ฟักจึงสมมติเรื่องขึ้นว่า ถ้าองค์ท่านขายพุทราคนซื้อมาถามว่าพุทรามีหนอนไหม? ท่านจะตอบว่า “น่าจะมีแต่ฉันจะเลือกให้”
    ท่านว่า “ในเมื่อเราไม่โกหก แทนที่เขาจะซื้อน้อยจะขายได้มากกว่าตอบไม่จริง”

    จะว่าไปหลักการตลาดสมัยใหม่ก็ว่าไว้เช่นนี้ และอยู่ในหลักสุจริตธรรมดังที่พระอาจารย์ฟักได้ปฏิบัติและพร่ำสอนมานานแล้ว

    พอหมดหน้าผลไม้ หรือหน้ายาง ท่านจะไปทำงานช่างไม้ โดยเริ่มฝึกงานกับช่างปิ๋น ซึ่งเป็นช่างฝีมือดีที่สุดของหมู่บ้านในสมัยนั้น และเป็นช่างผู้สร้างโบสถ์วัดสามผาน ทำให้ท่านกลายเป็นช่างไม้ที่ฝีมือดีได้รับค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 25 บาทต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น ซึ่งช่างตัดเสื้อได้ค่าแรงเพียงวันละ 3 บาท

    นอกจากนี้ ท่านยังมีฝีมือในเรื่องสานตอก ทำตะแกรง ทำกระด้งได้อีกต่างหาก
    ฉะนั้น จึงเป็นคนมีงานตลอดทั้งปีและไม่เคยว่างอย่างกำนันเวกว่า

    เมื่อรุ่นหนุ่มเป็นที่รู้กันในหมู่ญาติว่า ท่านชอบพอกับสาวคนหนึ่งเป็นคนท่าใหม่ กะบวชให้โยมบิดาสัก 7 วันแล้วออกมาแต่งงานกับสาวคนนั้น แต่หลังจำเนียรกาลผ่านไปหลายสิบพรรษาแล้ว ท่านก็ยังว่าท่าน “ไม่เคยบวชครบ 7 วันสักที”

    สุภาพสตรีท่านนั้นได้แต่งงานไปแล้ว เธอเคยพาสามีมากราบทำบุญกับท่าน ท่านก็ได้ทักทายว่ามาจากไหน เธอจึงถามท่านกลับว่า จำกันไม่ได้หรือ ท่านนิ่งคิดไปนานมาก ถึงจะระลึกได้

    อะไรๆ ที่ไม่ติดอยู่ที่ใจก็มักจะเลือนหายไปตามกาลเวลาเป็นธรรมดา

    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอน...ชาติภูมิที่สามผาน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 กุมภาพันธ์ 2011
  2. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอนเป็นศิษย์"ญาณสัมปันโน"

    พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน เคยกล่าวถึงความผูกพันที่พระอาจารย์ฟักมีต่อองค์ท่านว่า “ท่านฟักเหรอ เจอเราวิ่งตามเราเลย”เป็นการวิ่งตามตั้งแต่วันแรกที่บวชเป็นพระ....

    พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน เคยกล่าวถึงความผูกพันที่พระอาจารย์ฟักมีต่อองค์ท่านว่า “ท่านฟักเหรอ เจอเราวิ่งตามเราเลย”

    เป็นการวิ่งตามตั้งแต่วันแรกที่บวชเป็นพระ

    ในวันนั้นนอกจากพระอาจารย์มหาบัวได้ขจัดเงาดำอันเนื่องจากเหตุบาตรหายให้มลายไปแล้ว เมื่อพระอาจารย์มหาบัวเทศน์ในงานเสร็จแล้ว บังเอิญพระอาจารย์ฟักเดินมาพบกับท่านพอดีจึงกราบเรียนว่า “กระผมได้ฟังเทศน์ของท่านอาจารย์เมื่อสักครู่นี้แล้ว ยังมีข้อสงสัย”

    “สงสัยอะไร สงสัยอะไร”

    “กระผมสงสัยว่า องค์เทศน์เมื่อสักครู่ จะมิใช่พระธรรมดาขอรับ”

    พระอาจารย์มหาบัวฟังแล้วก็มิได้ตอบว่ากระไร ได้แต่ยิ้มๆ

    ในช่วงเวลานั้น พระอาจารย์มหาบัวยังไม่ได้ “เปิดหมด” ว่า ท่านข้ามโอฆะสงสารได้แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2483 แต่พระอาจารย์ฟักซึ่งบวชไม่ถึงวันฟังเทศนาของท่านก็ฉุกใจคิดเสียแล้วว่า “เทศน์เมื่อสักครู่ จะมิใช่พระธรรมดาขอรับ”
    พระอาจารย์ฟักเข้าสู่บ้านตาดเมื่อ พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้ชื่อว่า เป็น “บ้านตาดยุคแรก”

    มีการจำแนกไว้ว่า ศิษย์พระอาจารย์มหาบัวนั้นจำแนกได้ 4 ยุคคือ

    1.ยุคห้วยทราย คือ ช่วง พ.ศ. 2494-2498 มีอาทิ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร หลวงปู่บัว สิริปุณโณ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต หลวงปู่ศรี มหาวีโร พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ หลวงปู่เพียร วิริโย หลวงปู่ลี กุสลธโร พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต หลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม พระอาจารย์สม โกกนุทโท พระอาจารย์นิล ญาณวีโร ฯลฯ

    2.หลังจากพระอาจารย์มหาบัวได้พาโยมแม่ออกบวช และนำคณะไปสร้างวัดที่สถานีทดลอง จ.จันทบุรี ตามที่ญาติพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท ถวายที่ดิน รวมทั้งไปพำนักที่วัดเขาน้อยสามผานระยะหนึ่งแล้วก็ได้กลับมาสร้างวัดบ้านตาด จ.อุดรธานี เมื่อ พ.ศ. 2499 เพราะโยมมารดาไม่ค่อยสบาย และสูงวัยมากแล้ว ไม่สะดวกที่จะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ

    ยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่พระอาจารย์มหาบัวได้เน้นการสอนพระเป็นพิเศษ ครูบาอาจารย์ที่อยู่ร่วมกันในเวลานั้นก็มีอาทิ พระอาจารย์ฟัก พระอาจารย์แสวง โอภาโส พระอาจารย์บุญกู้ อนุวัฑฒโน พระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธัมโม พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ พระอาจารย์เชอร์รี่ อภิเจโต

    3.บ้านตาดยุคกลาง คือ ช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2511-2528

    4.บ้านตาดยุคปัจจุบัน คือ เริ่มจาก พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลบางส่วนจากทำเนียบศิษย์หลวงตา-หนังสือที่ระลึกงานศพพระอาจารย์ชิต ฐิตจิตโต)

    พระอาจารย์ฟักเข้าสู่วัดบ้านตาดพร้อมพระอาจารย์แสวง

    [​IMG]

    พระอาจารย์แสวงรูปนี้เป็นกัลยาณมิตรธรรมของพระอาจารย์ฟัก ที่ไม่เพียงแต่อุปสมบทพร้อมกันเป็นคู่นาคซ้ายขวาร่วมกันมาตั้งแต่ในงานฉลองกึ่งพุทธกาลที่วัดอโศการาม หากแต่ยังมาอยู่ร่วมกันที่วัดเขาน้อยสามผาน วัดบ้านตาด และออกไปสร้างวัดเขาน้อยสามผานกับพระอาจารย์ฟักกระทั่งมรณภาพที่นั่น นับเป็นกัลยาณมิตรธรรมคนสำคัญของพระอาจารย์ฟักอย่างยิ่ง

    ก่อนพระอาจารย์ฟักจะมาถึงวัดบ้านตาดไม่กี่วัน พระอาจารย์มหาบัวได้ถามคุณแม่ชีน้อม ว่า “เมื่อคืนฝันผิเร่อ (ฝันอะไร)”

    คุณแม่ชีท่านกราบเรียนว่า “ฝันว่าได้ครกตำบักหุ่ง (ตำมะละกอ) จากจันทบุรี ผิวนอกอุงุอ่ะงะ (ขรุขระ) แต่ผิวในเนียนเรียบ”

    “เลี้ยงพระได้ทั้งวัดบ่...”
    “เลี้ยงได้ทั่วอยู่”
    “ได้เบิ่ง (ดู) ข้างในไหม”
    “จิตเพิ่น (หลวงปู่ฟัก) ผ่องใสดี”

    หลายปีผ่านมา เมื่อพระอาจารย์ฟักได้ปฏิบัติกิจกรรมของพระพุทธศาสนาอย่างหนัก คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ระลึกถึงเรื่องนี้ได้จึงเอ่ยปากว่าความฝันของคุณแม่ชีน้อมนั้น “แม่นแท้” และเล่าเรื่องราวความฝันเมื่อครั้งอดีตให้พระอาจารย์ฟักฟัง

    ความเมตตาเอาใจใส่ของพระอาจารย์มหาบัวที่มีต่อศิษย์นั้นมีไม่ประมาณ เมื่อพระอาจารย์ฟักจะมา ท่านก็ได้ให้แม่ขาวทั้งหลายเตรียมอาหารภาคกลางไว้ด้วย เพราะเกรงว่าพระอาจารย์ฟักมาใหม่ๆ จะยังปรับตัวไม่ได้ แต่พอพระอาจารย์ฟักทราบก็ได้ขอให้แม่ขาวได้ปฏิบัติเช่นปกติ

    “ขนาดพระฝรั่งยังฉันได้ ทำไมคนไทยจะฉันไม่ได้” ท่านว่าต่อมาท่านยังได้กล่าวกับพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยกันว่า “ผมนะเกิดผิดที่ ฉันข้าวเหนียวอร่อย”
    ไม่เพียงแต่อยู่ฉันง่าย แต่ท่านยังปรับตัวหลายอย่าง ในเรื่องภาษานั้นได้พยายามเรียนรู้ภาษาอีสานเป็นอย่างดี ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นคือเวลาที่พระอาจารย์มหาบัวถามอะไร ท่านมักจะกราบเรียนโดยมีสร้อยเป็นภาษาอีสานที่ผู้น้อยจะใช้เวลากราบเรียนผู้ใหญ่ ซึ่งในหมู่พระกรรมฐานอีสานใช้สื่อสารกันเสมอคือ “โดยข้าน้อย”

    นอกจากนี้ ท่านยังแสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่จะช่วยกิจของส่วนร่วมตั้งแต่ไปอยู่ใหม่ๆ พระอาจารย์สนิทซึ่งเป็นเด็กวัดบ้านตาดในสมัยนั้น ได้มีโอกาสได้รู้เห็นความเป็นไปในช่วงดังกล่าว อีกทั้งยังได้ติดตามพระอาจารย์ฟักออกมาสร้างวัดเขาน้อยสามผานและอยู่มาถึงปัจจุบันนี้ได้เล่าถึงสภาพการณ์ในช่วงนั้นว่า เมื่อท่านไปอยู่ใหม่ท่านได้บอกกับหมู่เพื่อนว่าถ้ามีอะไรให้บอกให้เรียกด้วย วันหนึ่งท่านได้ยินเสียงผ่าฟืน เลยเดินตามเสียงออกมาช่วยทำงานพร้อมกับต่อว่า ว่าทำไมไม่เรียกท่านด้วย

    ความเป็นคนไม่นิ่งดูดาย มีน้ำใจต่อหมู่คณะ ความเมตตาเอื้ออารีสม่ำเสมออันเป็นอุปนิสัยพื้นฐานอันเด่นชัดยิ่งนี้เองที่ทำให้ท่านเป็นที่รักนับถือของหมู่สหธรรมิกและหมู่ชน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่แห่งไหนก็ตาม

    ความกตัญญู ความเป็นผู้มีปัญญา มีไหวพริบปฏิภาณ เฉลียวฉลาด รอบคอบ มีความรับผิดชอบ มีความยุติธรรมและการมีน้ำใจต่อหมู่คณะ ฯลฯ ทำให้ท่านเป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ครูอาจารย์ยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์มหาบัวจึงได้ให้เป็นผู้คอยดูแลอุปฐาก รวมทั้งมอบหมายภาระหลายอย่างให้ปฏิบัติแทน
    มีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้

    หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการซ่อมศาลาโรงฉันของแม่ขาวที่วัดป่าบ้านตาด
    “เมื่อคราวที่มีการซ่อมศาลาโรงฉันของแม่ขาวที่วัดป่าบ้านตาดนั้น หลวงตาท่านสั่งให้ตอกตะปูได้เลย และได้ตอกไปบางส่วนแล้ว พอดีท่านอาจารย์ฟักท่านเห็นว่ายังไม่ได้ฉาก ด้วยความที่เห็นแก่งานเป็นใหญ่ต้องการให้งานนั้นออกมาดีและสวยงามที่สุด เลยห้ามไว้ว่าอย่าตอก ซึ่งถือว่าขัดคำสั่งพ่อแม่ครูอาจารย์

    “ภายหลังเมื่อท่านอาจารย์ฟักกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ท่านก็รู้สึกเสียใจที่ทำเช่นนั้น ตกกลางคืนจึงได้เข้าไปขอขมาหลวงตา ที่ท่านขาดความเคารพ ในวันประชุมสงฆ์นั้นท่านอาจารย์ท่านคิดว่า หลวงตาคงจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในเชิงตำหนิแน่ แต่ปรากฏว่าหลวงตาพูดว่า ‘ท่านฟักนี่เราก็เห็นใจ ทำอะไรก็ไม่ให้ผิดแม้สักเซ็นต์เดียว ให้พึงรักษาปฏิปทานี้ไว้ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านชมนักคนแบบนี้’”

    อีกเรื่องคือ การรับบาตรพระอาจารย์มหาบัว

    “ท่านอาจารย์ฟักจะมีหน้าที่มารับบาตรและอัฐบริขารจากหลวงตา ซึ่งท่านเคยสั่งไว้ว่าให้มาตอนตี 4 ท่านอาจารย์ฟักก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเป็นเวลาหลายเดือน มาวันหนึ่งหลวงตาท่านรออยู่แล้ว ก็ดุไม่ให้มายุ่งกับองค์ท่านอีก ท่านว่าของเพียงแค่นี้ถือเองได้ ท่านอาจารย์ก็สงสัยว่า ก็ทำตามที่สั่งแล้วทำไมหลวงตาถึงทำทีไม่พอใจอีก เมื่อกลับไปใคร่ครวญพิจารณาก็พบว่า เหตุมาจากฤดูกาลเปลี่ยน การขึ้นลงของพระอาทิตย์ก็มีช้า มีเร็วเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ดังนั้นคำสั่งที่ว่าตี 4 นั้นมันเหมาะสำหรับเวลานั้น แต่เวลานี้มันไม่เหมาะแล้ว”
    เมื่อพิจารณาได้ความดังนี้แล้ว วันต่อๆ มาก็จะมาประมาณสักหนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หลังจากนั้นท่านก็ไม่เคยโดนดุในเรื่องนี้อีกเลย ซึ่งท่านคิดว่าเรื่องนี้เป็นอุบายขององค์หลวงตาที่ต้องการให้ท่านมีความละเอียดรอบคอบในการทำเรื่องใดๆ และต้องพิจารณาในทุกเรื่องที่กำลังทำอยู่ ไม่ใช่สักแต่ทำตามไปเรื่อยๆ แบบนอนใจ

    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอนเป็นศิษย์"ญาณสัมปันโน"
     
  3. ป่ากุง

    ป่ากุง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มกราคม 2010
    โพสต์:
    416
    ค่าพลัง:
    +784
    น้อมกราบองคืหลวงปู่ผู้เป็นอรหันตสาวกครับ.....
     
  4. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอนเป็นศิษย์ญาณสัมปันโน(2)

    ณ เวลานั้น พระอาจารย์ฟักรับหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐากพระอาจารย์มหาบัวและได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ดูแลวัดแทนเวลาที่ท่านมีกิจธุระข้างนอก....

    พระอาจารย์สนิท เล่าว่า บางครั้งมีพระมาขออยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ถ้าพระอาจารย์มหาบัวบอกว่า “กุฏิเต็ม ให้ไปหาท่านฟักให้พิจารณา” เมื่อพระองค์นั้นมาพบพระอาจารย์ฟักแล้วบอกเล่าถึงคำของพระอาจารย์มหาบัวดังกล่าว พระอาจารย์ฟักก็ทราบความนัยทันที
    เมื่อทราบความนัยของครูอาจารย์แล้ว ท่านก็ต้องหาวิธีพูดที่ถนอมน้ำใจพระรูปนั้น พร้อมทั้งไม่ทำให้พ่อแม่ครูอาจารย์เสียด้วย
    ท่านก็เลยบอกว่า “ท่านมาเหนื่อยๆ นิมนต์พักที่ศาลาสักคืนก่อน แล้วไว้โอกาสหน้าเมื่อที่พักว่างค่อยมาใหม่”
    ปรากฏว่าวิธีนี้เป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย

    ณ เวลานั้น พระอาจารย์ฟักรับหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐากพระอาจารย์มหาบัวและได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ดูแลวัดแทนเวลาที่ท่านมีกิจธุระข้างนอก ซึ่งบางครั้งในช่วงเวลานั้นก็เกิดสถานการณ์วิกฤต แต่พระอาจารย์ฟักก็จัดการได้เรียบร้อย เช่น ครั้งหนึ่งเกิดไฟป่าลามเข้ามาใกล้ พระอาจารย์ฟักก็บัญชาให้ ด.ช.สนิท ไปตีเกราะเรียกชาวบ้านมาช่วยกันดับไฟ เพราะไฟลามเข้ามาจวนกุฏิพระแล้ว ถ้าไม่ช่วยกัน เห็นทีกุฏิซึ่งหลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ ปูด้วยกระดาษผสมปูนจะเป็นเชื้ออย่างดีลามวอดไปทั้งวัด ในที่สุดท่านก็บัญชาการดับไฟได้เรียบร้อย เมื่อพระอาจารย์มหาบัวกลับมาก็เบิกยามาให้พ่อแม่ครูอาจารย์แจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ได้แผลถลอกปอกเปิกเป็นการตอบแทน
    งานอีกประเภทหนึ่งซึ่งได้มอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบอยู่เสมอคือ การก่อสร้าง

    [​IMG]

    ครั้งหนึ่งพระอาจารย์มหาบัวไม่อยู่วัด แต่มอบหมายเรื่องก่อสร้างบางอย่างไว้ให้ทำ ท่านจึงไปสั่งวัสดุก่อสร้างมาจากในเมืองให้มาส่งที่วัด สักพักก็มีผู้มาบอกว่ารถคันที่มาส่งของคว่ำอยู่ระหว่างทางเข้าวัด ท่านเลยออกมาดูกับ ด.ช.สนิท พบว่ารถคว่ำอยู่ข้างทาง คนขับเมาและทิ้งรถไว้ เพราะกลัวความผิด

    ท่านเกรงว่าถ้าทิ้งไว้ หากรถหายไปหรือข้าวของสูญหายจะเดือดร้อนมาถึงพ่อแม่ครูอาจารย์ อีกทั้งเห็นใจเจ้าของร้านด้วย ท่านจึงนั่งเฝ้ารถให้แล้วบอก ด.ช.สนิท ไปตามเจ้าของร้านและผู้ที่เกี่ยวข้องมา ทั้งๆ ที่ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของท่านเลยแม้แต่นิด

    ถาวรวัตถุหลายอย่าง เช่น โรงน้ำร้อนวัดป่าบ้านตาดที่ยังใช้กันอยู่มาถึงทุกวันนี้ ก็เป็นผลงานหนึ่งของท่าน

    งานเหล่านี้ทำให้พระอาจารย์ฟักซึ่งเป็นพระพรรษาไม่มากต้องเดินผ่านที่อยู่ของพวกแม่ขาว ซึ่งตามปกติของวัดป่าจะห้ามพระยุ่งเกี่ยวกับเขตนี้และโรงครัว แต่ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานเหล่านี้เสมอ แม้กระทั่งงานซ่อมหลังคากุฏิโยมแม่พระอาจารย์มหาบัวซึ่งมุงด้วยหญ้าคาต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปีหรือ 2 ปี พระอาจารย์มหาบัวก็ไว้วางใจมอบให้ท่านจัดการ

    นอกจากนี้ ยามใดที่พระอาจารย์มหาบัวจะเดินไปที่โรงครัว มักจะเรียกให้พระอาจารย์ฟักติดตามไปด้วย ในช่วงที่ท่านมาเทศน์โปรดโยมมารดาถึงกุฏิที่พัก ถ้าไม่เรียกหาท่านก็จะเรียกพระอาจารย์อาจารย์ลีตามไปเสมอ

    ท่านเคยเล่าไว้ว่า กุฏิที่อยู่กับกุฏิของกุฏิพ่อแม่ครูอาจารย์พระอาจารย์มหาบัวนั้นอยู่ไม่ไกลกัน ต้องคอยสังเกตว่าพอพระอาจารย์มหาบัวส่องไฟเมื่อไหร่ ก็ได้เวลาต้องหยิบเอาเครื่องบันทึกเสียงซึ่งสมัยนั้นก็คือ เครื่องเล่นเทปแบบมีสายเอาไว้ไปคอยอัดเทปคำสอนแม่ขาว ซึ่งเวลานั้นก็มีโยมแม่พระอาจารย์มหาบัว คุณแม่ชีแก้ว คุณแม่ชีน้อม คุณแม่ชีบุญ ฯลฯ ไว้ด้วย

    การได้รับมอบหน้าที่ใหญ่น้อยเหล่านี้ เท่ากับได้รับการฝึกสอนให้แก้ไขปัญหาและปูรากฐานการเป็นผู้นำหมู่คณะ ซึ่งพระอาจารย์ฟักมักจะได้รับผิดชอบงานที่หนักยิ่งขึ้นต่อมาในอนาคต

    พระอาจารย์ทอง ผู้เคยอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาดเมื่อปี 2506 และได้พบกับพระอาจารย์ฟักซึ่งขณะนั้นเป็นพระอุปัฏฐากพระอาจารย์มหาบัวอยู่ก่อนแล้ว เล่าว่า “ท่านอาจารย์ฟักไม่ใช่แต่เป็นผู้อุปัฏฐาก แต่หลวงตายังมอบวัดให้ดูแลด้วย เหมือนให้ท่านได้ฝึกงานบริหารและการปกครอง รวมทั้งงานก่อสร้าง การที่ท่านจะมอบหมายให้ใครทำอะไรนั้น ต้องพิจารณาแล้วว่ามีความสามารถและสติปัญญาทำได้ รวมทั้งต้องมีการประสานงานที่ดีระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ ซึ่งคุณสมบัตินี้ท่านอาจารย์ฟักมีครบ”พระอาจารย์ลี ซึ่งเคยจำพรรษาร่วมกันกับพระอาจารย์ฟักที่วัดป่าบ้านตาดก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่ระบุว่า “ท่านฟักปฏิบัติดีอยู่ เรียบร้อยอยู่ และไม่เคยได้ยินถูกดุเลย”

    พระอาจารย์มหาบัวมักจะตั้งชื่อหรือฉายานามให้กับลูกศิษย์ของท่านตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นแต่ละรูปจึงจะได้ชื่อต่างๆ กันไป และเป็นสรรพนามที่ท่านจะใช้เรียกศิษย์ของท่านเป็นการเฉพาะ เช่น พระอาจารย์แสวง ได้ชื่อว่า “ธรรมหมี” เพราะวันหนึ่งมีหมีควายบุกมากินกล้วยอยู่ที่กุฏิท่านแล้ว พระอาจารย์แสวงนึกว่าลูกช้าง พอเล่าเรื่องนี้ให้หมู่คณะฟัง พระอาจารย์มหาบัวจึงเรียกท่านว่า “ธรรมหมี”

    ขณะที่ พระอาจารย์บุญ ได้ชื่อว่า “ผู้ใหญ่มี”
    พระอาจารย์สุพัฒน์ ได้ชื่อว่า “พระอุปคุปต์”
    พระอาจารย์อุ่นหล้า ได้ชื่อว่า “กำนันอุ่น”
    พระอาจารย์ลี ได้ชื่อว่า “ธรรมลี”

    สำหรับท่านอาจารย์ฟักนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ตั้งชื่อให้ว่า “ธรรมฟัก” แต่มักไม่ค่อยเรียกต่อหน้า และนานๆ เรียกสักครั้ง เช่น “ไปเอิ้นธรรมฟักมา”

    ครูบาอาจารย์หลายองค์ที่รู้จักหรือเคยจำพรรษาร่วมกับ “ธรรมฟัก” ของพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าบ้านตาดกล่าวตรงกันว่า พระอาจารย์ฟักเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก เรียบร้อย ขยันปฏิบัติครูบาอาจารย์ ไม่ค่อยพูดค่อยจา มีความสามารถในการสวดปาติโมกข์ได้ถูกต้อง ถูกอักขระฐานกรณ์และมีจังหวะดี จนเป็นพระ 1 ใน 3 รูปที่ได้รับคำชมจากพระอาจารย์มหาบัวในเรื่องการสวดปาติโมกข์

    3 รูปดังกล่าว ได้แก่ พระอาจารย์บุญเพ็ง พระอาจารย์อุ่นหล้า และพระอาจารย์ฟัก

    “ท่านฟักปฏิบัติดีอยู่ เรียบร้อยอยู่ และไม่เคยได้ยินถูกดุเลย” พระอาจารย์ลี ซึ่งเคยจำพรรษาร่วมกันกับพระอาจารย์ฟักที่วัดป่าบ้านตาด ระบุ

    พระอาจารย์ทองก็ระบุเช่นเดียวกันว่า “ปฏิปทาของท่านฟักนั้นเป็นผู้เคร่งในพระธรรมวินัย เป็นคนพูดตรงไปตรงมา ไม่ต้องพูดกันมาก ท่านเป็นคนละเอียด พอมีปัญหาอะไรต้องรีบแก้ ต้องหาคำตอบให้ได้ ไม่ปล่อยเอาไว้ บางครั้งถ้าท่านสงสัยคำพูดหรือคำสั่งครูบาอาจารย์ ท่านก็จะมาให้เรารับรองว่าถูกธรรมถูกวินัยไหม สมัยนั้นท่านมาพบอาตมา มาหารือกันที่กุฏิเป็นประจำ เช่น ถอดเทปแล้วตัวสะกดถูกไม่ถูก ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะทำให้เราต้องค้นคว้าไปด้วย”

    พระอาจารย์บุญกู้ ซึ่งเคยไปอยู่วัดป่าบ้านตาดเมื่อปี 2505 และได้พบพระอาจารย์ฟัก เป็นพระอุปัฏฐากหลวงตามหาบัวอยู่ก่อนแล้ว เล่าสภาพการณ์ในวัดป่าบ้านตาดยุคนั้นว่า

    “ท่านอาจารย์ฟักเป็นผู้อุปัฏฐากหลวงตา เพราะท่านคล่อง และเป็นที่ไว้วางใจของท่านอาจารย์ใหญ่ (พระอาจารย์มหาบัว) มาก

    “ท่านมักจะได้รับหน้าที่ให้ดูแลกิจการงานต่างๆ ของวัดแทนถ้าท่านอาจารย์ใหญ่ไม่อยู่ และอนุญาตให้พระอาจารย์ฟักเดินไปโรงครัว หรือในเขตของโยมผู้หญิงได้ตามลำพัง ซึ่งสมัยนั้นแม่ชียังไม่มาก แต่พระองค์อื่นถ้าท่านไม่ใช้ จะห้ามไปเด็ดขาด

    “เรื่องราวต่างๆ ในวัด ท่านอาจารย์ฟักจะเป็นผู้รับภาระแทนองค์ท่านเสมอ เช่น เมื่อมีพระมาอยู่ใหม่ ท่านอาจารย์ฟักก็จะช่วยดูแลให้ อันนี้นอกจากหน้าที่แล้ว ก็เป็นความมีน้ำใจกว้างขวางชอบช่วยเหลือหมู่คณะขององค์ท่านเองด้วย และท่านอาจารย์ฟักมักจะคอยดูแลเรื่องความสะดวกสบายของหมู่คณะอยู่เสมอๆ

    “ท่านอาจารย์ฟักจะมีความถนัดในเรื่องก่อสร้างหรืองานช่างมาก เช่น งานปรับปรุงเสนาสนะกำแพงที่วัดป่าบ้านตาดนั้นท่านก็เป็นหัวหน้าในการลงมือก่อสร้าง พระองค์อื่นๆ จะคอยเป็นผู้ทำตาม โดยมีผู้ออกแบบคือ ท่านอาจารย์ปัญญา ซึ่งเป็นวิศวกรชาวอังกฤษ ผู้ควบคุมงานก็จะเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นเรื่องการอบรมหมู่คณะจะเป็นหน้าที่ของพระผู้ใหญ่ หรือถ้าเป็นเรื่องถอดคำเทศน์ โยมจะถอดเองก็ได้ แต่ต้องนำมาให้พระตรวจทานก่อนทุกครั้ง
    “เรื่องหนังสือหรือตรวจบทเทศน์เป็นเรื่องที่ท่านอาจารย์ฟักไม่ถนัด ไม่ค่อยได้ทำนัก”

    ท่านว่า สมัยนั้นวัดป่าบ้านตาดแบ่งสายบิณฑบาตออกเป็น 2 สาย พระอุปัฏฐากจะมีหน้าที่จัดเตรียมอัฐบริขารของพระอาจารย์มหาบัวให้พร้อมรอไว้ เพื่อออกบิณฑบาตพร้อมกัน ส่วนมากโยมจะใส่บาตรแต่ข้าวสุก ข้าวเหนียว ส่วนกับข้าวจะหิ้วตามมาที่วัด

    สมัยนั้นการเดินทางยังไม่สะดวก ชาวบ้านที่มาทำบุญมักจะเป็นคนในหมู่บ้านตาดนั้นเอง เมื่อกลับมาถึงวัด พระทุกรูปจะช่วยกันจัดและแบ่งอาหาร พระอาจารย์มหาบัวเป็นผู้ให้พร จากนั้นพวกโยมก็จะนำอาหารไปแบ่งกันรับประทาน หากแต่จะยังไม่รับประทานในทันที เพราะจะไปช่วยกันกวาดบริเวณรอบๆ ก่อน เพื่อรอพระฉันเสร็จจึงจะรับประทานอาหารร่วมกัน

    เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ฟักจะเป็นผู้นำบาตรพระอาจารย์มหาบัวไปล้าง และนำอัฐบริขารของท่านกลับไปเก็บไว้ที่กุฏิตามเดิม

    เวลาที่กวาดตาดหรือฉันอาหารเช้านั้น จะไม่ปรากฏเสียงพูดคุยกันเด็ดขาด เพราะพระอาจารย์มหาบัวขนาบไว้ว่า “เวลาฉันไม่ใช่เวลาคุย”

    หลังฉันอาหารเสร็จแล้ว พระทุกรูปจะแยกย้ายไปตามที่พักของตัวเพื่อภาวนาเดินจงกรม แต่จะมีบางรูปผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปเช็ดกุฏิของหลวงตา ตกเย็นพระจะลงมากวาดตาด พอเสร็จแล้วทุกรูปจะไปช่วยกันหามน้ำจากบ่อน้ำซึ่งสมัยนั้นยังเป็นคันโยกอยู่ โยกน้ำขึ้นมาหิ้วไปเติมตามห้องน้ำกุฏิต่างๆ จนเต็ม แล้วถึงกลับมาสรงน้ำกันที่บ่อน้ำนั่นเอง

    เสร็จจากการสรงน้ำแล้ว จึงจะมารวมกันฉันน้ำร้อนน้ำปานะที่ระเบียงศาลา ซึ่งเวลานี้เป็นจังหวะที่สามารถพูดคุยกันได้บ้าง แต่สำหรับพระอาจารย์ฟักนั้นมักจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหลวงตา จึงไม่ค่อยได้พูดคุยกับหมู่คณะในเวลาที่สามารถพูดคุยได้

    “เวลาคุยกันก็ต้องพูดคุยอย่างมีสติ ห้ามส่งเสียงดัง มิฉะนั้นจะได้ยินหลวงตาถามว่า ชาวบ้านมาหรือ ชาวบ้านมาหรือ บางวัน|พระอาจารย์ใหญ่จะลงมาฉันด้วย ซึ่งถ้าวันไหนท่านลงมาด้วยรู้สึกว่าศาลาจะเงียบเป็นพิเศษ ตอนหลังพระเยอะ และท่านไม่ค่อยลงมา จึงย้ายที่ฉันจากระเบียงศาลาไปเป็นโรงต้มน้ำ พอประมาณทุ่มถึงสองทุ่มก็จะมารวมกันฟังท่านเทศน์อบรม” พระอาจารย์บุญกู้ เล่า

    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอนเป็นศิษย์ญาณสัมปันโน(2)-
     
  5. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สันติธัมโมจารึกนาม(1)

    การธุดงค์ ทำให้ประจักษ์ในอานุภาพของพระวินัยซึ่งท่านได้ยึดถืออย่างเคร่งครัด ตามที่ได้รับการอบรมมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ตลอดมา....

    พระอาจารย์บุญกู้ อนุวัฑฌโน บอกว่า นอกจากเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ขยันขันแข็งในการปฏิบัติครูบาอาจารย์แล้ว พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม ยังขึ้นชื่อในเรื่องความเอื้อเฟื้อต่อหมู่คณะมาก เมื่อมีพระใหม่มา พระอาจารย์ฟักจะเป็นเสมือนพระพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำดูแลช่วยเหลือ บางครั้งถ้ามีพระหรือเณรป่วยก็จะดูอย่างดี

    “เหมือนท่านจะเป็นหมอแทนเลยทีเดียว” พระอาจารย์บุญกู้ ว่า

    ตัวอย่างอันดีในเรื่องนี้คือ การดูแล พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวฑโฒ ซึ่งเป็นพระฝรั่ง ซึ่งเดิมบวชมหานิกายมาจากวัดปากน้ำ เมื่อมาใหม่ๆ นั้นพระอาจารย์ปัญญายังชินอยู่กับการฉันขนมปัง ไม่สามารถฉันข้าวได้อย่างองค์อื่นๆ พระอาจารย์มหาบัวจึงอนุญาตให้ท่านฉันโอวัลตินก่อนเที่ยงได้

    เมื่อพระอาจารย์ฟักทราบว่าพระอาจารย์ปัญญาฉันข้าวไม่ได้ ฉันได้แต่ผลไม้ จึงสั่งให้ ด.ช.สนิท ซึ่งปัจจุบันคือ พระอาจารย์สนิท วัดเขาน้อยสามผาน ไปคอยเก็บมะละกอซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในขณะนั้นมาถวายพระอาจารย์ปัญญา ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์ปัญญาจึงได้อาศัยฉันมะละกอผลโตๆ เพียงลูกเดียว เป็นอยู่อย่างนี้ประมาณเดือนกว่าๆ จึงค่อยๆ เริ่มฉันข้าวได้ โดยตลอดเวลานั้นพระอาจารย์ฟักเป็นผู้คอยดูแลเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา

    [​IMG]

    แม้การตรวจบทเทศน์เป็นเรื่องที่พระอาจารย์ฟัก “ไม่ถนัด ไม่ค่อยได้ทำนัก” อย่างที่พระอาจารย์บุญกู้ว่าไว้ แต่มีเทศนาของพระอาจารย์มหาบัวอยู่ 2 กัณฑ์ที่พระอาจารย์ฟักเป็นผู้ถอดเทปเทศนานั้นด้วยองค์ท่านเอง และมีศรัทธาในเทศนา 2 กัณฑ์นั้นมากถึงกับเคยปรารภกับพระอาจารย์มหาบัวว่า ขอลิขสิทธิ์เทศนาทั้ง 2 กัณฑ์นั้นแก่ท่านได้ไหม

    พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ นั้นเล่าว่า “ท่านอาจารย์ฟักเข้ามาที่วัดบ้านตาดตั้งแต่ปี 2504 พร้อมกับ ท่านอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท แต่ท่านอาจารย์ฟักสนิทกับท่านอาจารย์แสวงมากที่สุดระหว่างที่อยู่บ้านตาด ท่านเป็นคนมีฝีมือทางช่างมาก ฝีมือแนบเนียน จึงได้รับผิดชอบงานสร้างกุฏิ โรงครัวและรั้ววัด
    ท่านเป็นผู้มีนิสัยเรียบร้อย รักและเทิดทูนพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวเป็นที่สุด ท่านไม่เคยโดนดุ คงเคยสร้างบารมีมาด้วยกัน อาจจะเป็นลูกท่านมาก่อน”

    หากยกถ้อยคำของพระอาจารย์บุญมีเรื่อง พระอาจารย์มหาบัวและพระอาจารย์ฟักเคยสร้างบารมีมาด้วยกัน “อาจจะเป็นลูกท่านมาก่อน” มาวางต่อเนื่องกับถ้อยคำของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับเหล่าศิษย์ที่ได้พึ่งใบบุญของพระอาจารย์มหาบัวได้มาเกี่ยวข้องกันในชาตินี้ภพนี้แล้ว จะเห็นวาสนาบารมีที่แต่ละท่านได้เกื้อกูลกันมาอย่างน่าอัศจรรย์

    ความเกี่ยวเนื่องในอดีตชาติระหว่างพระอาจารย์มหาบัวกับคุณแม่ชีแก้วนั้น เป็นที่มาของคำชี้แนะของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ต่อคุณแม่ชีแก้วว่า ให้รอพระรูปหนึ่งมาโปรด ถึงเวลาแล้วจะรู้เอง ซึ่งต่อมาพระรูปที่มาโปรดเช่นว่าจริงๆ ก็คือ พระอาจารย์มหาบัวนั่นเอง

    ส่วนพระอาจารย์สิงห์ทองซึ่งเป็นศิษย์ตั้งแต่ยุคห้วยทรายและติดตามพระอาจารย์มหาบัวไปยัง จ.จันทบุรี และบรรลุธรรมที่ จ.จันทบุรี นั้น ก็เคยเป็นบุตรพระอาจารย์มหาบัวมาแต่ในอดีตชาติ

    ก่อนหน้าที่พระอาจารย์เพียรจะเดินทางมาถึงสำนักห้วยทรายเพื่อรับการชี้แนะจากพระอาจารย์มหาบัวนั้น คุณแม่แก้วก็ได้พูดขึ้นก่อนที่พระอาจารย์เพียรจะเดินทางมาถึงสำนักของท่านก่อนที่จะเข้าไปยังสำนักห้วยทรายว่า “...วันนี้ลูกชายของเราจะมา...”

    ตกบ่ายวันนี้ก็มีแต่พระอาจารย์เพียรเพียงรูปเดียวที่เดินทางมาถึง

    ต่อเมื่อพระอาจารย์เพียรได้เข้าอยู่ในสำนักห้วยทรายแล้ว คุณแม่แก้วจึงได้บอกให้ท่านทราบในภายหลังว่า “ท่าน (หลวงปู่เพียร) เคยเกิดเป็นลูกชายในอดีตชาติของคุณแม่แก้ว โดยมีองค์หลวงตาเป็นพ่อ และมีท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นพี่ชายในชาตินั้น”

    ขณะที่พระอาจารย์เพียรเองก็ได้กล่าวถึงพระอาจารย์บุญมี กัลยาณมิตรธรรมร่วมสำนักห้วยทรายว่า ท่านกับพระอาจารย์บุญมีนั้น “เป็นหมู่กัน เป็นเพื่อนกัน ได้สร้างบารมีมาด้วยกันหลายภพหลายชาติแล้ว” (จากหนังสือท่านเพียร ศิษย์ก้นกุฏิของเรา)

    สำหรับพระอาจารย์ทองนั้นก็ได้กล่าวว่า พระอาจารย์ฟักกับท่านนั้น “ในอดีตชาติก็เกี่ยวข้องกันอยู่”

    เกี่ยวข้องเพราะ พระอาจารย์บุญช่วย ปญฺญวนฺโต วัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามได้นำ แม่ชีเอิน ซึ่งเป็นน้องสาวของพระอาจารย์ทองซึ่งบวชอยู่ที่วัดอโศการามไปอยู่ที่วัดเขาน้อยสามผาน ต่อมาแม่หยัดซึ่งเป็นพี่สาวของแม่ชีเอินก็ได้ตามไปอยู่ที่นั่นเช่นกัน ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้ช่วยกันดูแลปรนนิบัติโยมเจน โยมมารดาของพระอาจารย์ฟักราวกับมารดาตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด แต่คงจะมีบุพเพสันนิวาสต่อกันมา จึงเป็นเหตุให้พระอาจารย์ทองได้กล่าวเช่นนั้น

    พระอาจารย์ฟักอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านตาดเป็นเวลา 6 พรรษา ระหว่างนั้นบางครั้งบางคราวก็ได้กราบลาพระอาจารย์มหาบัวออกไปวิเวกบ้างชั่วคราว เช่น ขอลาธุดงค์ไปภาวนาที่ถ้ำระฆัง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระอาจารย์ลีเคยไปภาวนา มีสภาพกันดารน้ำมาก ต้องรองน้ำจากหินที่ซึมหยดลงมาใช้ดื่ม บางคราวก็ไปภาวนาที่วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร ดังที่ปรากฏหลักฐานว่า ช่วงนั้นท่านเคยมีจดหมายไปถึงโยมบิดาและมารดาหลายฉบับ บางช่วงก็ไปภาวนาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร บางหนก็ลามาดูแลโยมบิดามารดาซึ่งเริ่มป่วยไข้ ฯลฯ

    การธุดงค์ ทำให้ประจักษ์ในอานุภาพของพระวินัยซึ่งท่านได้ยึดถืออย่างเคร่งครัด ตามที่ได้รับการอบรมมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ตลอดมา กล่าวคือ ครั้งหนึ่งท่านเดินธุดงค์ไปในป่ากับพระอีกรูป ต่อมาท่านรูปนั้นได้รับการถวายเกลือจากชาวบ้าน ซึ่งตามปกติแล้วพระสามารถเก็บเกลือไว้ใช้ได้ตลอดไม่จำกัดกาล แต่พระอาจารย์ฟักพิจารณาแล้วได้แย้งว่า เกลือนั้นน่าจะเปื้อนอามิส (เช่น อาหาร เป็นต้น) มาก่อนแล้วให้ทิ้งไปเสีย แต่พระรูปนั้นยังเก็บไว้อยู่ พอตกกลางคืนปรากฏว่ามีมดง่ามมาตอมที่พักเต็มไปหมด พระรูปนั้นจึงต้องรีบปลงอาบัติในทันที

    “พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านสอนว่า ให้รักษาพระวินัยไว้ เมื่อเราอยู่ป่าพระวินัยจะคุ้มครองเรา...” ท่านว่า

    วันหนึ่งในปี 2493 ณ วัดดอยธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ซึ่งพระอาจารย์มหาบัวบรรลุธรรมนี้เอง ที่ท่านภาวนาแล้ว “วันนั้นจิตสงบดีทั้งวันทั้งคืนเลย”
    ท่านจึงได้มาบอกสอนในกาลต่อมาว่า หากมี “ความตั้งใจพยายามหรือความเอาใจใส่ เรียกว่า อิทธิบาท 4 ฉันทะ พอใจ วิริยะ เพียร จิตตะ ความเอาใจจรดจ่อ วิมังสา ใคร่ครวญพิจารณาธรรม ไม่ให้เผลอไปจากองค์ภาวนา ถ้าไม่เหลือวิสัยต้องได้พบความสงบไม่มากก็น้อย ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่ง ก็ต้องได้ประสบสักครั้งหนึ่ง ความเพียรหรือความขยันจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของเขา เรียกว่าเพียรหรือเพียรอยู่ภายใน ไม่ว่าจะทำภารกิจภายนอกอย่างไรก็ตาม ทำข้อวัตร ตักน้ำหรือหาบน้ำ เดินบิณฑบาต ปัดกวาดก็เหมือนกัน ความเพียรภายในไม่มีขาด ต่อเนื่องไปโดยลำดับ เป็นไปโดยธรรมชาติ เรียกว่า อัตโนมัติ สติปัญญาธรรมชาติก็เกิดขึ้นด้วย...”

    พระอาจารย์ฟักดำเนินอยู่ในวิถีนั้น กระทั่งปี 2510 จึงมีเหตุให้ท่านต้องอำลาวัดบ้านตาดและพ่อแม่ครูอาจารย์ พระอาจารย์มหาบัว ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูนสุดหัวใจไปโดยไม่อาจหวนกลับมาใช้ชีวิตดังเช่น 6 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป

    ‘สันติธัมโม’ จารึกนาม
    ในปี 2510 พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม กลับ จ.จันทบุรี

    “ท่านฟักเป็นพระวัดบ้านตาด แต่ลาไปเยี่ยมพ่อบ้างเยี่ยมแม่บ้าง จนกลายเป็นสมภารวัดเขาน้อยไป” พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าวถึงเหตุผลที่พระอาจารย์ฟักต้องอำลาชีวิตวัดบ้านตาดกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาน้อยสามผาน แต่ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ พระอาจารย์มหาบัวบอกให้พระอาจารย์ฟักกลับมาดูแลโยมบิดาโยมมารดา

    เมื่อเข้าไปลานั้น พระอาจารย์มหาบัวได้กล่าวต่อท่านว่า “ท่านฟักพอจะตั้งไข่ได้แล้ว แต่ทางจันทบุรียังไม่มีใคร ให้กลับมาพัฒนา”

    วัดเขาน้อยสามผาน จ.จันทบุรี นี้ แต่เดิมเป็นที่พักสงฆ์ ซึ่งเป็นสาขาของวัดอโศการาม เพราะพระอาจารย์ลี ธัมมธโร ได้เดินธุดงค์ผ่านมาแล้วบอกว่า ที่ดินบนเขานี้ไม่มีเจ้าของ เป็นที่รกร้าง ถ้าทำเป็นที่พักสงฆ์จะเหมาะกว่าข้างล่าง เมื่อชาวบ้านสามผานได้ช่วยกันสร้างกุฏิเล็กๆ ได้ 2-3 หลัง แล้วไปนิมนต์ขอพระสงฆ์กับพระอาจารย์ลีที่วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี พอดี พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโร เพิ่งเดินทางมาจาก จ.อุดรธานี จึงรับมาจำพรรษาให้
    ที่พักสงฆ์แห่งนี้มักมีอาจารย์องค์สำคัญๆ จาริกผ่านไปผ่านมาเสมอ เช่น พระอาจารย์ลี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รวมทั้ง พระอาจารย์มหาบัว ด้วย พ่อแม่ครูอาจารย์เหล่านั้นได้สรรเสริญสถานที่แห่งนี้ไว้ อาทิ พระอาจารย์ลีพยากรณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2499 ว่า สถานที่ตรงนี้ต่อไปจะกลายเป็นวัดและจะมีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นด้วย โดยได้ระบุจุดที่จะมีการ สร้างพระเจดีย์ในอนาคตไว้ด้วยว่า จะอยู่บริเวณใดและได้ฝากพระพุทธรูปเนื้อดิน 10 องค์ ไว้บรรจุในพระเจดีย์องค์นี้ด้วย

    พระอาจารย์ฝั้นนั้น เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งมาเยือนสำนักสงฆ์แห่งนี้ว่า “เขาน้อยนี่ น้อยแต่ชื่อนะ ในภาคตะวันออกนี้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่นี่”

    พระอาจารย์มหาบัวก็เคยพูดว่า “ใครว่าพวกกายทิพย์ไม่มีจริงมาดูนี่ที่ วัดเขาน้อยนี่เต็มไปหมดเลย”

    ในยามที่พระอาจารย์ฟักจะออกจากวัดป่าบ้านตาดเพื่อกลับมาอยู่วัดเขาน้อยสามผาน ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นแต่สำนักสงฆ์ แม้สำนักสงฆ์แห่งนี้จะอยู่ใกล้กับบ้านเดิมของท่านมากที่สุด เหมาะที่จะจำพรรษาเพื่อจะได้ดูแลโยมบิดา “สังข์” และโยมมารดา “เจน” อย่างใกล้ชิด แต่ก็เป็นสำนักสงฆ์ที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวรอะไรเลย พระอาจารย์มหาบัวได้บอกให้พระอาจารย์ฟักนำเงินติดตัวกลับมาด้วย “จะเอาเท่าไหร่ก็ได้” แต่ข้างลูกศิษย์ก็เกรงใจไม่อยากจะรับเงินพ่อแม่ครูอาจารย์ แต่ในที่สุดด้วยความเกรงใจที่พ่อแม่ครูอาจารย์คะยั้นคะยอ ท่านจึงขอรับเงินมา 2 หมื่นบาท

    ด้วยปัจจัยจำนวนนี้ เมื่อกลับมาและนำกลับมาสร้างได้เพียงห้องน้ำและบันไดเงินก็หมดพอดี

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สันติธัมโมจารึกนาม(1)-
     
  6. ชานนคนไทย

    ชานนคนไทย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    1,008
    ค่าพลัง:
    +3,128
    อนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ ครับที่นำประวัติของพ่อแม่ครูอาจารย์มาให้เพื่อนๆสมาชิกอ่านและรับทราบขอบคุณมากครับ...สวัสดีครับ
     
  7. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สันติธัมโมจารึกนาม(2)

    ปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ฟักนี้ ท่านละเอียดมาก ใครๆ ก็เอาเป็นแบบอย่างได้....

    การก่อสร้างที่พักสงฆ์ ณ วัดเขาน้อยสามผานในยุคแรกนั้น พระอาจารย์ฟักให้เก็บเอาไม้ฝาโลงที่สัปเหร่อทิ้งไว้ในป่าช้าเอามาทำพื้นกุฏิ ซึ่งพระอาจารย์แสวงมักจะนำศิษย์วัดลงไปเก็บฝาโลงที่วัดล่างหรือวัดสามผาน แล้วเอามาทาน้ำมันเครื่องเก่าเพื่อรักษาเนื้อไม้กันมิให้ปลวกกิน โดยพระอาจารย์ฟักเองนั้นพักอยู่ในกระต๊อบเล็กๆ หลังคาและฝามุงจาก ประตูเป็นไม้ไผ่เลื่อนไปมา โดยผูกติดกันด้วยลวดเวลาเลื่อนจะมีเสียงดังเอี๊ยดๆ ที่เก็บกักน้ำก็ไม่มี ต้องแบกน้ำขึ้นเขาอยู่ถึง 2 ปี จน พ.ศ. 2512 จึงค่อยได้ยุติการหาบน้ำขึ้นเขา

    หลายสิบปีต่อมา พระอาจารย์ฟักจึงเล่าว่า ตอนนั้นลำบากมาก ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยหลับตาแล้วภาวนาพุทโธอย่างเดียวไปเรื่อยๆ ในที่สุดอะไรๆ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนศิษย์ ซึ่งประสบกับช่วงลำบากของชีวิตว่า ให้หมั่น “พุทโธ” ไว้เสมอๆ

    [​IMG]

    ท่ามกลางความอัตคัดขัดสนนั้น เมื่อท่านกลับมาแรกๆ ก็จะมีเฉพาะหมู่ญาติพี่น้องเท่านั้นที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมยุต ตอนนั้นอะไรๆ ก็ขาดแคลนไปหมด จะหาคนถวายบุหรี่ก็ยาก ตอนเช้าๆ แทบจะหาคนประเคนอาหารให้พระในวัดก็ไม่ได้ แต่จะว่าไปชาวบ้านสามผานก็ยังมีศรัทธาในพระสายกรรมฐานอยู่บ้าง เพราะก่อนนั้นเคยมีคนในหมู่บ้านผู้หนึ่งบวชเป็นมหานิกายชื่อ “พระสมุทร” ต่อมาเมื่อท่านมีโอกาสได้พบพระอาจารย์ลี จึงเกิดความเลื่อมใส เลยขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุตแล้วชักชวนญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ให้ร่วมทำบุญกับพระอาจารย์ลีเรื่อยมา

    พระสมุทรบวชได้ประมาณ 8 พรรษา ก็ลาสึกออกมาเป็นไวยาวัจกรคนแรกของวัดเขาน้อย เมื่อมีงานบุญอะไรเกี่ยวกับพระอาจารย์ลี ทิดสมุทรก็จะเป็นผู้มาชักชวนนัดแนะให้ชาวบ้านสามผานได้มาทำบุญด้วยกัน รวมทั้งงานฉลองกึ่งพุทธกาลด้วย

    แม้ว่าจะยากลำบาก แต่พระอาจารย์ฟักก็มิได้ละทิ้งแนวปฏิบัติที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ทั้งหลายเลย

    ท่านได้นำเอากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติต่างๆ จากวัดป่าบ้านตาดมาใช้ที่วัดเขาน้อยสามผานเป็นส่วนใหญ่ ในเรื่องการดูแลพระเณรนั้นท่านจะกวดขันมาก แต่เรื่องการทำวัตรเย็นนั้นจะสวดเปลี่ยนไปตามวันต่างๆ คือสวดตามค่ำ คือ ขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำ จนถึง 15 ค่ำเหมือนวัดอโศการาม

    หลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว ท่านจะไม่เทศน์เอง แต่จะเปิดเทปของหลวงตามหาบัวให้ฟังทุกคืน ถ้าสงสัยหรือปฏิบัติได้อย่างไรให้ถามท่านเลย จากนั้นจะพานั่งภาวนาถึง 4-5 ทุ่ม บางครั้งก็เที่ยงคืน บางครั้งในช่วงเข้าพรรษา ท่านจะให้พระอ่านบุพพสิกขาวรรณา (หนังสือแสดงอธิบายวินัย) โดยพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด) ให้หมู่คณะฟัง โดยให้อ่านทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง

    ท่านจะใช้เวลาช่วงฉันน้ำร้อนตอน 4 โมงเย็น เทศน์อบรมพระเณร ส่วนมากจะว่าด้วยการเน้นเรื่องข้อวัตรและพระธรรมวินัย เช่น วินัยในการปฏิบัติต่อพระอาคันตุกะเมื่อมีพระอาคันตุกะมาจะต้องรับบาตรและจีวรของพระอาคันตุกะพาไปที่พักที่จัดไว้ ในที่พักต้องมีของใช้จำเป็นจัดเตรียมไว้ให้พร้อม ต้องเรียนพระอาคันตุกะทราบว่า ห้องน้ำอยู่ทางไหน ข้อวัตรของวัดนี้เป็นอย่างไร ต้องแนะให้หมด เป็นต้น

    นอกจากนี้ ท่านยังเน้นเรื่องวัตร 14 วิธีการดูแลห้องน้ำ โรงไฟ ทำอย่างไรให้สะอาดอยู่เสมอ หากรูปใดป่วย รูปไหนหายไป ท่านจะถามหาทุกครั้ง ถ้ารูปที่กุฏิอยู่ใกล้กัน แต่ไม่ทราบว่าหมู่คณะหายไปไหน จะโดนดุทันที เพราะถือว่าไม่ใส่ใจหมู่คณะ

    บางครั้งท่านก็จะเล่าประวัติหรือปฏิปทาของครู อาจารย์ องค์สำคัญๆ เช่น ประวัติหรือปฏิปทาพระอาจารย์ลี พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์บัว สิริปุณโณ ฯลฯ ให้ฟังเพื่อพระเณรจะนำไปเป็นแบบอย่างอยู่เสมอ
    พระอาจารย์ฟักนั้นขึ้นชื่อเรื่องความเมตตาเหลือที่จะประมาณ ท่านรักและดูแลพระเณรเหมือนลูกเหมือนหลาน บิณฑบาตได้ของแปลกๆ มาก็ยกให้เอาไปแบ่งให้รูปนั้นรูปนี้ให้ได้รับประทานกัน เวลาพระเณรวัดเขาน้อยรูปใดจะลาสึกมักจะต้องไปขอลาสึกไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง เพราะท่านจะรั้งไว้เสมอ

    ศิษย์รูปหนึ่งเล่าว่า เคยขอลาสึกกับพระอาจารย์ฟักมาแล้ว พอกราบเรียนเท่านั้น สีหน้าท่านราวกับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในองค์ท่านกำลังจะขาดหรือหลุดออก แล้วท่านก็เริ่มพูดอธิบายเหตุผลต่างๆ ให้ฟังด้วยน้ำเสียงต่ำๆ เศร้าๆ ราวกับว่าองค์ท่านเจ็บปวดมาก ท่านพูดจนถึงเช้าแล้วก็ครองผ้า

    นับแต่นั้นศิษย์รูปนี้นึกอยากสึกคราวใด พอหวนพิจารณาถึงเหตุผลที่ท่านแสดงให้ฟัง รวมทั้งนึกถึงอากัปกิริยาของท่านในคราวนั้นแล้วก็ไม่กล้าสึกอีกเลย

    เพราะกลัวท่านจะเสียใจ
    แม้จะต้องแบกรับภาระต่างๆ ในฐานะเจ้าอาวาส ต้องสร้างวัดให้มีหลักมีฐานมั่นคง ต้องดูแลโยมบิดามารดา ต้องดูแลสุขทุกข์ให้ชาวบ้าน แต่ท่านมิเคยทอดทิ้งปฏิบัติ แม้กระทั่งเวลาจำวัดท่านก็จะหนุนศีรษะด้วยกระป๋องที่ใช้เก็บยาเส้นหรือบุหรี่ ต่อมาก็ใช้กระโถนหรือหมอนไม้ที่คลุมด้วยผ้า

    เวลาพลิกตัวจะได้รู้ เป็นการฝึกสติอย่างหนึ่ง

    ผ้าที่ใช้ปูนอนจะเป็นผ้าเก่าๆ ที่เคยเป็นผ้าเช็ดบาตรมาก่อน แต่โดยมากศิษย์ทั้งหลายแม้แต่พระอุปัฏฐากบางรูปก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าท่านจำวัดกี่โมงหรือตื่นกี่โมง รู้แต่ว่าจำวัดน้อยมาก

    เมื่อเข้าไปรับบาตรตอนรุ่งอรุณนั้น ปรากฏว่าท่านจะนั่งภาวนารออยู่แล้ว
    ท่านเคยเล่าไว้ว่า โยมพ่อเป็นผู้สร้างทางจงกรมให้ถึง 5 แห่ง เป็นที่รู้กันว่า หลังฉันแล้วถ้าไม่มีกิจธุระใด ท่านจะเดินจงกรมเสมอ แต่ละครั้งก็นานหลายชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ทางจงกรมเหล่านั้นจึงเรี่ยมเร้เรไร สึกกลายเป็นร่องลึกไปทั้งทาง ศิษย์ทั้งหลายเห็นแล้วไม่อาจจะนิ่งเฉย ทอดธุระไม่เอาเยี่ยงครูบาอาจารย์ได้เลย

    ท่านเล่าว่า การภาวนานั้นต้องทำกันอย่างจริงๆ จังๆ เวลาเดินภาวนาก็จะเดินกันทั้งวัน ถ้านั่งภาวนาก็ “ข้างหน้าขนุน ข้างหลังทุเรียน” หมายความว่า ท่านจะเอาลูกทุเรียนกับขนุนมาวางดักไว้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
    ถ้าสัปหงกเมื่อไหร่เป็นโดนเปลือกทิ่ม

    ถ้าเช้าไหนออกมาแล้วหน้าผากแดงก็ให้ได้อับอายหมู่คณะไปเลย
    ท่านคิดอุบายมาปรับใช้ในการภาวนาแปลกๆ หลายอย่าง นอกจาก “ข้างหน้าขนุน ข้างหลังทุเรียน” แล้ว บางคราวก็เอาถังน้ำไปตั้งไว้ที่สูงแล้วผูกเชือกไว้ที่ข้อมือ ถ้าขาดสติหรือหลับแล้วมือขยับออกเมื่อไหร่ ถังน้ำก็จะตกลงมาทันที
    เรื่องของการอดนอนผ่อนอาหารนั้นก็ทำอย่างจริงจัง เคยผ่อนจาก 16 คำต่อวัน เหลือ 14 คำบ้าง 8 คำบ้าง และ 4 คำบ้าง ฯลฯ ตามความตั้งใจที่กำหนด
    ถึงที่สุดแล้วเคยอดข้าวได้ถึง 16 วัน

    พระอาจารย์อ้ม สุขกาโม กล่าวถึงท่านพระอาจารย์ฟักในสมัยที่อยู่ร่วมกันว่า “ปฏิปทาของท่านเข้มแข็งอยู่ ถือธุดงเดินตามแนวแถวอันดีของหลวงตามหาบัว ไม่ว่าเรื่องอยู่เรื่องฉัน ข้อวัตรปฏิบัติ หรือการเดินบิณฑบาต

    “ท่านฉันในบาตรจริงๆ ของหวานอาหารคาวเอาใส่ในบาตรหมด ไม่เหมือนพระเดี๋ยวนี้หรอก กลัวแต่จะไม่อร่อย วางใส่ฝาบาตร แม้แต่นมซึ่งนานๆ จะได้ที หลวงปู่ฟักท่านก็เทใส่ลงในบาตรด้วย

    “เราก็ระลึกถึงเรื่องนี้แล้วเอาไว้สอนพระอยู่เสมอ

    “ท่านสอนพระเณรอย่างเข้มแข็งเรื่องธุดงควัตรนี่ใช้ได้ แบบที่ฝึกมาจากหลวงตาบ้านตาดนั่นแหละ เช่นเรื่องไม่หลับไม่นอน อีกเรื่องคือความเมตตาของท่านนี่ยอดเยี่ยม”

    แม้พระอาจารย์ฟักจะได้นำได้นำเอากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติต่างๆ จากวัดป่าบ้านตาดมาใช้ที่วัดเขาน้อยสามผาน แต่ท่านก็ได้ปรับแนวปฏิบัติบางอย่างให้สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ โดยพยายามรักษาข้อวัตรไว้ด้วย
    พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม เล่าว่า ท่านเคยบ่นให้พระอาจารย์สุธรรมฟังถึงเหตุที่ต้องปรับแนวปฏิบัติบางอย่างให้ “ผ่อน” ลงบ้างว่า

    “คนทางภาคกลาง ภาคตะวันออก เรานี่หัวแข็ง มีประเพณีเก่าอะไรต่ออะไร เขาต้องการจูงพระ ต้องการเป็นเจ้าของพระ ดังนั้น เราจะไปถอดเอาปฏิปทาทางนี้ (อุดรธานี) ไปใช้กับทางโน้น (จันทบุรี) ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้

    “ท่านก็พยายามรักษาข้อวัตรไว้ แต่ก็ต้องอ่อนๆ ลงไปบ้าง ไม่งั้นก็จะไปขวางเขาหมด บางอย่างท่านก็ผ่อนๆ ให้โยมเหมือนกัน เช่น การรับแขก การปัดกวาดลานวัด เวลาในการเกี่ยวข้องกับวัด

    “ที่บ้านตาดนั้นหลังจากพระฉันแล้วคนแถวนั้นจะมาพูดคุย หลังจากนั้นช่วงบ่ายจะเป็นเวลาของคนทางไกล คนทางใกล้อย่ามารุ่มร่าม แต่ท่านว่าอันนี้จะมาใช้กับที่เมืองจันท์ไม่ได้ เขาสามารถเข้าพบท่านได้ทั้งวันเลย

    “นอกจากนี้ การรับนิมนต์ที่อุดรฯ ครูบาอาจารย์จะไม่ปล่อยพระไปไหน พระจะอยู่เงียบสงบ ไม่เกี่ยวข้องกับโยม ถ้าโยมนิมนต์มาพระอาจารย์มหาบัวจะไปเอง หรือจัดพระองค์ไหนไปแล้ว แต่ท่านจะเห็นควรแต่ที่จันทบุรีนี่ โยมบอกได้เลยว่าจะนิมนต์องค์ไหนหรือเดินไปนิมนต์เองถึงกุฏิพระได้เลย อยากจะให้พระทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็บอกได้

    ข้อปฏิบัตินี้ บางทีโยมเข้ามาโดยขาดความเคารพ หรือหย่อนไปท่านก็เตือนไปบ้าง ไม่รุนแรงอะไร”

    อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วท่านสรุปว่า “ปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ฟักนี้ ท่านละเอียดมาก ใครๆ ก็เอาเป็นแบบอย่างได้”

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สันติธัมโมจารึกนาม(2)-
     
  8. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สันติธัมโมจารึกนาม (3)

    การกลับมาอยู่สำนักเขาน้อยสามผาน ทำให้พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม กลับต้องมารับภาระเรื่องงานก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง.....

    การกลับมาอยู่สำนักเขาน้อยสามผาน ทำให้พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม กลับต้องมารับภาระเรื่องงานก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง

    ท่านว่า รู้ตัวว่าเป็นคนต้องรับภาระอันหนักมาโดยตลอด เพราะมีสิ่งบอกเหตุมาตั้งแต่มีพิธีตอนบรรจุเจดีย์ที่วัดป่าคลองกุ้งแล้ว

    [​IMG]
    หลวงปู่ฟัก

    วันนั้นได้อธิษฐานเกี่ยวกับโชควาสนาของท่านอยู่ในใจ ปรากฏว่าเมื่ออธิษฐานเสร็จ หันมาอีกทีข้าวของที่จะนำไปบรรจุในเจดีย์นั้น สิ่งอื่นใครๆ เขาก็หยิบยกไปหมดแล้ว เหลือแต่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งหนักมากให้ท่านถือ จึงแปลความหมายเอาเองว่า ต่อไปข้างหน้าจะต้องเป็นผู้รับภาระหน้าที่ในเรื่องใหญ่ๆ หนักๆ เสมอ

    ด้วยเหตุนี้จึงมักจะบอกกับใครๆ ว่า “ดวงผมเป็นดวงแก้ปัญหา แบกภาระให้คนอื่น” ซึ่งต่อไปข้างหน้าก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ

    ในช่วงเวลาของการก่อร่างสร้างวัดนั้น ท่านได้รับการสนับสนุนอุปถัมภ์ดูแลจากพระอาจารย์มหาบัวตลอดเวลา ดูได้จากจดหมายที่ท่านทั้งสองติดต่อกัน อาทิ จดหมายพระอาจารย์มหาบัว ฉบับลงวันที่ 4 ม.ค. 2516 ซึ่งมีความบางตอนว่า “...ถ้าจำเป็นต้องติดหนี้ใครก่อนก็นิมนต์ติดไปเถอะ ผมจะนำมาชำระให้หมดตามจำนวนที่ก่อสร้าง...”

    หรือจดหมายลงวันที่ 16 พ.ค. 2516 ที่ว่า “...ศาลาท่านยังขาดเงินอยู่อีกประมาณ 3-4 หมื่นบาท ฉะนั้นเพื่อความสะดวกรวดเร็วไม่คั่งค้าง เงินที่ยังขาด นอกจากจำนวนที่ผมให้มาแล้ว ยังขาดอยู่เท่าใด ขอนิมนต์ท่านไปติดต่อขอกู้ยืมจากวัดเขาแก้ว ท่านอาจารย์เจี๊ยะ โดยเรียนท่านว่าผมสั่งหรือแนะนำ หรือที่ใด ผู้ใด ตามแต่ท่านถนัดใจ มาทำให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวนี้ อย่าให้คั่งค้างไปนาน...”

    เหตุที่พ่อแม่ครูอาจารย์ดูแลเช่นนั้น เพราะไม่ปรารถนาให้ต้องมีภาระเกี่ยวกับงานภายนอกโดยกระทบกระเทือนต่อการภาวนา ดังความจดหมายของพระอาจารย์มหาบัว ลงวันที่ 18 ก.ค. 2516 ตอนหนึ่งว่า “...ตั้งใจภาวนาและสนใจในความวิเวกสงัด อย่ากังวลกับงานภายนอกใดๆ เพราะถ้าท่านทำมาพอสมควรแล้ว งานจิตภาวนาเป็นงานสำคัญ และเป็นรากฐานของพระกรรมฐานและพระศาสนา...”

    นี่ล่ะหนา พระกรรมฐานถึงเรียกขานครูบาอาจารย์ว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ เพราะท่านตามดูแลรักษา เป็นประหนึ่งทั้งบิดา มารดา เป็นทั้งครูอาจารย์ อยู่ที่ไหนก็ไม่มีวันต้องว้าเหว่ใจ

    ภาระของพระหนุ่ม 8 พรรษา ในเวลานั้นนับว่าหนักอึ้งมาก

    ทั้งการดูแลโยมบิดามารดาที่สูงวัย ภาระการนำหมู่คณะ การนำชาวบ้านปลูกศรัทธาให้แน่นหนา ซึ่งแรกๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้ศรัทธามากนัก อาจเพราะถือว่าเป็นเด็กลูกหลานย่านนั้นมาก่อน บางกลุ่มบางพวกอยากให้ท่านเป็นไปตามแบบที่เขาต้องการ เมื่อท่านไม่ทำตามนั้นก็พากันต่อต้าน ฯลฯ

    ครั้งหนึ่งหลังกลับมาใหม่ๆ ท่านถึงกับพูดว่า “เมื่อไหร่ถ้าเรามีมากพอแล้วเราจะอาบให้หนาวเลย” ความหมายก็คือ จะอาบธรรมะให้ชาวบ้านและญาติพี่น้องอย่างจุใจนั่นเอง

    ด้วยความมีเมตตาไม่มีประมาณ อันเป็นพื้นฐานอุปนิสัยของท่าน ด้วยการยึดมั่นในวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ด้วยดูแลอุปถัมภ์เอาใจใส่ของพ่อแม่ครูอาจารย์ ด้วยการจัดสรรของธรรมะทุกอย่างก็ค่อยๆ ขึ้นรูปลงหลักปักฐานมาตามลำดับ
    บางเรื่องก็เป็นไปด้วยความบังเอิญ อาทิ เมื่อกลับมาใหม่ๆ ท่านพิจารณาแล้วเห็นว่าทางขึ้นลงเขาไม่สะดวก จึงดำริจะสร้างบันไดปูนเพื่อให้หมู่คณะได้รับความสะดวก เลยลงมือสร้างบันไดขึ้นเขาน้อยเอง หาคนช่วยไม่ได้ก็ทำอยู่รูปเดียว โดยโยมบิดาเป็นผู้ถวายปัจจัย เมื่อมีโยมคนหนึ่งมาเห็นเข้าก็เลยไปบอกที่สภากาแฟสถานที่ชุมนุมของชาวบ้านว่า “ครูบาฟักให้หวยแม่น”

    “ครูบาฟักองค์ไหนล่ะ” พวกถาม

    “องค์ที่นั่งทำบันไดขึ้นเขาอยู่น่ะ มีอยู่องค์เดียว”

    แล้วโยมคนนั้นก็ย้อนกลับมากราบเรียนท่านให้ทราบเรื่อง พร้อมบอกว่า “เดี๋ยวพวกมันมา ครูบาก็แก้ไขเอาเองแล้วกัน ผมสงสาร เห็นทำอยู่องค์เดียว”

    ปรากฏว่าจากนั้นมีชาวบ้านไปช่วยด้อมๆ มองๆ เพื่อรอขอหวย จริงๆ ครั้นจะรอเอาแต่หวยก็ใช่ที่ เลยลงมือช่วยท่านทำบันได แต่ก็แปลกที่แม้ท่านไม่ได้เอ่ยปากบอกหวยอะไรสักตัว เพราะบอกแล้วว่า “ให้หวยไม่เป็น” แต่บางคนตีความเอาเองว่าขนไม้มากี่ท่อน หินกี่ก้อน แล้วเอาไปแทงหวย บางคนเห็นเศษกระดาษเก่าหล่นอยู่แถวก้อนหินที่ท่านชี้บอกให้ไปนั่งพักรับประทานอาหารกลางวัน แล้วเอาเลขในกระดาษไปแทงหวย ปรากฏว่าถูกกันจริงๆ สุดท้ายบันไดก็เสร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านกับบรรดาชาวคอหวยนั่นเอง

    ภายหลังท่านก็ต้องมานั่งแก้ความเชื่อที่ว่าท่านให้หวยแม่นของชาวบ้านอีกพักใหญ่ ชาวบ้านถึงเลิกมาขอหวยกับพระ แต่ศิษย์ในครั้งกระนั้นก็ยังอยู่ช่วยดูแลวัดมาจนถึงทุกวันนี้

    พระอาจารย์ฟัก มิได้มุ่งพัฒนาก่อสร้างวัดเป็นหลัก หากแต่ใช้หลักว่าวัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเรียกกำนันเวก เกลอเก่าครั้งเยาว์วัยมาพบแล้วบอกว่า ถ้าคนบ้านเราไม่สามัคคีกัน ก็ไม่สามารถพัฒนาอะไรได้เลย ต้องได้รับความร่วมมือจากคน

    “คนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนา” ท่านว่า

    จากนั้นทั้งพระอาจารย์ฟัก และกำนันเวก ก็เดินคู่กันนำความเจริญมาสู่ถิ่นฐานตามลำดับ นำไฟฟ้าเข้าชุมชนสำเร็จในปี 2519 สร้างปรับปรุงโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ฝายเก็บน้ำ ฯลฯ และสำคัญที่สุดคือ พัฒนาจิตใจของคนให้เจริญก้าวหน้า

    สำหรับสำนักเขาน้อยสามผานเอง ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดอย่างเต็มภาคภูมิในนาม วัดพิชัยพัฒนาราม เมื่อปี 2520 มีงานฉลองอุโบสถและเจดีย์ในปี 2528

    **************************
    ตัวอย่างจดหมายที่หลวงตามหาบัวเขียนถึงหลวงปู่ฟัก

    รับที่ 11 มิ.ย. 2516

    วันที่ 8 มิ.ย. 2516

    ท่านฟักทราบ

    ผมรอจดหมายท่านอยู่หลายวัน เพราะกลัวเช็คสูญหายกลางทาง เพิ่งได้รับตอบจากท่านวันนี้ เช้านี้ผมเขียนถึงท่านและใส่ซองติดแสตมป์เรียบร้อยแล้วจะส่งวันรุ่งขึ้น เลยต้องฉีกทิ้ง เขียนใหม่อยู่ขณะนี้ เช็คจะเข้าบัญชีเสร็จหรือไม่เสร็จก็ตาม ที่ถูกท่านควรตอบรับก่อนหลังจากรับเช็คและจดหมายแล้ว ดังที่ท่านตอบรับผมฉบับก่อนนี้ ดังที่ท่านตอบรับผมฉบับก่อนนั้นถูกต้องแล้ว ทางโน้นก็หายห่วงไปเป็นพักๆ ส่วยขึ้นเงินได้เรียบร้อยแล้ว หรือขึ้นไม่ได้ บอกไปอีกครั้งหนึ่งนั้น เช็คเหล่านี้แน่นอน 100% เป็นเพียงช้าบ้างเป็นธรรมดาเท่านั้น

    [​IMG]
    เรื่องที่ท่านปรึกษาไปนั้นผมพิจารณาแล้ว ได้ความตามภาษาของผมว่า “ควรพักไว้ก่อน” แม้ไม้เศษยังมีอยู่ก็เก็บไว้เรียบร้อยเสีย เมื่อตกหน้าแล้งค่อยเริ่มทำกันใหม่ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า “เงินจะไม่พอ” แต่หมายถึงงานจะพร่ำเพรื่อเรื้อรัง เสียงทางด้านจิตตภาวนาและความสงบที่ควรได้รับเป็นคู่กันไป ขณะนี้กำลังย่างเข้าหน้าฝนและพรรษากาล ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมอย่าง
    ยิ่งสำหรับสมณธรรมทางใจอยู่แล้ว เผื่อเราและเพื่อนฝูงจะได้มีโอกาสบำเพ็ญเต็มเม็ดเต็มหน่วย อันเงินสำหรับค่าก่อสร้างนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเริ่มสร้างหากค่อยๆ มีมาเอง ผมเองไม่วิตกกับสิ่งเหล่านี้ยิ่งกว่าความเพียรทางใจ
    ฉะนั้นควรสงวนเวลาในกาลที่ควรสงวน ออกพรรษาหน้าแล้งค่อยพิจารณากันตามที่เห็นควร ระยะนี้พอศาลาอันเป็นอันเป็นส่วนจำเป็นเสร็จผ่านไปแล้ว ขอให้พากันพักงาน แล้วเริ่มเร่งทางจิตตภาวนาเข้าให้มาก อย่าสนใจกับอะไรภายนอกต่อไปอีกสนใจเฉพาะใจกับธรรม คือ สติ ปัญญา ความเพียรต่อไป นี่เป็นความเหมาะสมสำหรับพระปฏิบัติเรา การทำงานจิตต้องคิดพะวงในงานเป็นธรรมดา ทำสิ่งใดใจต้องคิดกังวลกับสิ่งนั้น จึงควรได้พักผ่อน หย่อนเวลาเพื่อความพอดี

    รักเมตตา

    บัว

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สันติธัมโมจารึกนาม (3)
     
  9. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม ตอน : แทนพระคุณพระอรหันต์ในบ้าน

    การที่ท่านเอาใจใส่โยมบิดามารดาด้วยตัวเองเช่นนี้เอง ยังผลให้คนที่มาช่วยดูแลเกรงใจและเอาใจใส่โยมทั้งสองเป็นอย่างดีด้วย....

    ปี2516 ปีที่ พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม กลับจากวัดป่าบ้านตาดนั้น เป็นปีที่โยมสังข์ผู้เป็นบิดาซึ่งอยู่ในวัย 72 ปี กำลังป่วยเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช หลังตัดเนื้อบริเวณนั้นออกได้ไม่นานเนื้อร้ายก็กลับมาอีก และดูเหมือนจะมากกว่าเก่าด้วย ท่านจึงพาโยมบิดาไปตระเวนรักษาตามที่ต่างๆ ทั้งสมุนไพรและยาพื้นบ้าน

    [​IMG]

    ที่ไหนใครว่าดีไปมาหมด เช่น เพชรบุรี ระยอง ฯลฯ เมื่อกลับไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง คุณหมอแปลกใจมาก เพราะไม่รู้ว่าโยมพ่อท่านหายได้อย่างไร

    โยมมารดาท่านมีโรคประจำตัว คือ หลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ท่านต้องเป็นผู้พาโยมมารดาไปโรงพยาบาลเอง

    ทั้งสองท่านนั้นปรารถนาจะให้พระลูกชายได้อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ตลอดไป ขณะที่พระลูกชายก็มิได้ขาดตกบกพร่องในเรื่องการดูแลบิดามารดาเลยแม้แต่นิด

    ทุกวันหลังจากบิณฑบาต พระอาจารย์ฟักจะเดินลงเขามาเยี่ยมโยมบิดามารดาของท่านเสมอ

    ท่านดูแลโยมทั้งสอง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เป็นเวลากว่าสิบปี โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ ของชีวิตของโยมทั้งสอง ท่านจะลงจากเขามาตอนดึกและอยู่จนถึงเช้า จึงกลับขึ้นไปเพื่อเตรียมบิณฑบาต โดยได้สร้างที่พักชั่วคราวแยกหลังคาไว้หน้าบ้านไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากท่านเป็นพระ ถึงจะดูแลโยมบิดามารดาอย่างใกล้ชิดอย่างไรก็ยังมีข้อจำกัด จึงต้องหาคนที่ไว้ใจได้มาช่วยดูแล เมื่อมีผู้หญิงมาช่วยดูแลโยมมารดาอยู่ด้วย ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

    น่าสนใจว่าผู้ที่ไว้ใจได้และมาช่วยท่านดูแลโยมบิดามารดานั้น มักจะเป็นลูกหลานของครูบาอาจารย์รูปต่างๆ ที่ส่งมาช่วย

    บางคนส่งมาจากภูทอก จ.หนองคาย
    บางคนส่งมาโดยหลวงพ่อทุย หรือพระอาจารย์ปรีดา ฉันทกาโร
    บางคนเป็นลูกหลานของพระอาจารย์มหาบัว ฯลฯ
    เป็นความงดงามอย่างหนึ่งในหมู่พระกรรมฐานโดยแท้

    *********************
    นับวันโยมทั้งสองยิ่งโรยราและผลัดกันเจ็บไข้หนักขึ้นตามลำดับ
    จากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้บ้างในช่วงที่ท่านกลับมาอยู่ที่เขาน้อยสามผานใหม่ๆ ก็กลายเป็นเริ่มช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะโยมมารดาของท่านนั้นเคยถูกสุนัขวิ่งชนกระดูกขาหักเลยมีผลต่อข้อสะโพก ไม่อาจเดินเหินได้เช่นปกติ

    ในยามเช่นนี้ บางครั้งก็ขาดคนมาช่วยท่านดูแล

    ครั้งหนึ่งท่านถึงกับชวนโยมให้ขับรถไปอีสานหาพระอาจารย์อุ่นหล้า ถึงปลายทางตอนเที่ยงคืน เพื่อขอให้ช่วยหาคนให้ พระอาจารย์อุ่นหล้าก็หาให้จนได้ พอได้คนแล้วก็วิ่งรถกลับในคืนนั้นเลยโดยไม่หยุดพัก

    การที่ท่านเอาใจใส่โยมบิดามารดาด้วยตัวเองเช่นนี้เอง ยังผลให้คนที่มาช่วยดูแลเกรงใจและเอาใจใส่โยมทั้งสองเป็นอย่างดีด้วย

    ในที่สุดวันหนึ่งโยมบิดาของท่านก็จากลาไปก่อนเป็นคนแรก

    โยมบิดา สังข์ พูลกสิ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2444 ในครอบครัวซึ่งมีพี่น้อง 13 คน มีความรู้เรื่องการแพทย์แผนโบราณอย่างดี เพราะเป็นศิษย์ของแพทย์โบราณประจำตำบล เคยบวชเรียนถึง 2 พรรษา และเป็นรูปเดียวในรุ่นที่สอบนักธรรมตรีได้ และต่อมาได้เป็นทหารเสนารักษ์อยู่ 2 ปี ก่อนออกมาเป็นหมอพื้นบ้านช่วยดูแลปัดเป่าความป่วยไข้ของชาวบ้าน เป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชีวิตของพระอาจารย์ฟัก ได้ถึงแก่กาลอวสานแห่งชีวิตเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2530 โดยทิ้งความปรารถนาไว้ประการหนึ่ง คือ อยากจะเห็นหมู่บ้านท่านมีโรงพยาบาลไว้เบื้องหลัง

    หลายปีต่อมา พระอาจารย์ฟักได้ทุ่มเทสรรพกำลังสืบสานปณิธานนี้จนสามารถก่อตั้งโรงพยาบาลสองพี่น้องได้สำเร็จ อำนวยประโยชน์แก่ผู้คนได้อย่างไพศาลในกาลต่อมา

    สำหรับโยมมารดานั้นเดินไม่ได้มานานหลายปี ต้องใช้รถเข็น แรกๆ ยังพอพูดได้ รับประทานอาหารทางปากได้ และยังเรียก “ท่านหนู” ของท่านได้อยู่ กระทั่งประมาณปี 2533 จึงต้องให้อาหารทางสายยาง และไม่สามารถพูดจาได้อีก เวลาดูแลต้องใช้คนหลายคน เพราะต้องอุ้มไปอาบน้ำ ต้องพลิกตัว ให้อาหารปั่น ซึ่งก็ได้น้ำใจของลูกหลานญาติโยมและศิษย์ซึ่งเป็นแพทย์หญิงจากโรงพยาบาลพระปกเกล้า 2 ท่าน คือ พญ.ระวีวรรณ และ พญ.พิไลพรรณ มาช่วยดูแล

    พระอาจารย์ฟักทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิตท่านเอาไว้

    ท่านว่า ความจริงโยมมารดาสิ้นอายุขัยไปนานแล้ว แต่ท่านทำบุญต่ออายุให้อยู่เสมอๆ อานิสงส์ของการบวชท่านก็แผ่ให้โยมมารดาทั้งหมด ไปทำบุญที่ไหนก็อุทิศให้โยมมารดาทุกครั้งไป ซึ่งก็น่าอัศจรรย์ที่ทุกครั้งเมื่อโยมมารดาดูท่าจะไม่ไหวเป็นระยะๆ พอท่านทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร อาการก็จะดีขึ้นเสมอ

    ครั้งหนึ่งโยมมารดามีอาการเกร็งแขนจะกอดกับตัวเหมือนโดนมัดอยู่ ท่านก็ว่า “แม่เคยต้มปูมาก่อน” เมื่อท่านไปซื้อปูในตลาดมาปล่อย อาการโยมมารดาก็ดีขึ้น

    อีกครั้งเมื่อปี 2533 ขณะนั้นอาการกำเริบหนัก มีไข้สูง พอดีพระอาจารย์มหาบัวมาที่วัดเขาน้อยสามผาน ท่านได้เมตตามาเยี่ยมโยมมารดาและพระอาจารย์ฟักที่บ้านด้วย พระอาจารย์ฟักให้คนช่วยจับโยมมารดาให้นั่งตรงข้ามกับพระอาจารย์มหาบัว เช้าวันรุ่งขึ้นไข้ก็ลดลง อาการดีขึ้นจนแพทย์แปลกใจ
    โยมมารดาของท่านเคยมีแผลกดทับขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้มีการกดทับเพิ่ม ท่านสั่งให้เย็บหมอนเป็นวงกลมเพื่อใช้วางรองตรงแผลแล้ว แต่แผลนั้นมีขนาดใหญ่จนพยาบาลที่มาช่วยดู บอกว่าไม่หายหรอก แต่ท่านก็ไม่ยอมแพ้ ท่านหาสมุนไพรมาทาให้โยมมารดาตลอด พอ 2-3 เดือนผ่านไป แผลนั้นก็หายสนิท
    ท่านดูแลโยมมารดาของท่านใกล้ชิดมาก จะทราบเรื่องและความเป็นไปเกี่ยวกับการดูแลรักษาโยมมารดาทุกวัน วันไหนโยมมารดามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรท่านทราบหมด วันไหนต้องฉีดยาอะไรก็ทราบ และจะคอยเตือนผู้ช่วยดูแลให้ไปตามแพทย์ด้วย ถ้าวันไหนโยมมารดาไม่ถ่ายก็จะบอกว่าควรจะให้ยาสมุนไพรตัวไหน เพราะท่านเป็นผู้รู้ในเรื่องยาสมุนไพรเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับโยมบิดา
    ถ้าโยมมารดาส่งเสียงครางสักหน่อย ท่านก็จะบอกให้คอยกอด คอยจับโยมมารดาไว้

    เหตุที่ท่านทำบุญต่ออายุให้โยมมารดาบ่อยๆ เนื่องจากกำลังสร้างศาลาหลังใหญ่ ซึ่งท่านอยากให้โยมมารดาได้บุญนี้ด้วยเลยยื้อโยมมารดาไว้ เป็นอยู่เช่นนี้นานนับปี ในที่สุดเมื่อมีผู้มากราบเรียนว่าโยมมารดาท่านมาเข้าฝันเขาบอกว่า “ท่านหนู...อย่ายื้อแม่ไว้” ท่านทรมานเพราะธาตุขันธ์ไม่เอื้ออำนวย

    ท่านรับฟังมาพิจารณาแล้วเห็นว่าโยมมารดาคงจะเป็นทุกข์ในสังขาร จึงไม่คิดจะยื้อโยมมารดาไว้ต่อไปอีก

    โยมมารดาของท่านก็ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2535

    ตอนที่โยมมารดาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น พระอาจารย์ฟักจะสอบถามทุกวันว่ามีใครมาเยี่ยมบ้าง เพื่อท่านจะได้ขอบใจเขา
    ท่านตอบแทนคนทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งโดยมิขาดตกบกพร่องเลย

    หลังสิ้นโยมมารดาได้เพียงปีเดียว ปีรุ่งขึ้นคือปี 2536 พระอาจารย์ฟักเองก็อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดสมองแตกซีกขวา ทำให้มีอาการอัมพาตซีกซ้าย เข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี

    ครั้งนั้นหลวงตามหาบัวได้เมตตามาเป่าและขากเสลดใส่บนกระหม่อมพระอาจารย์ฟัก ปรากฏว่าอาการดีขึ้น เมื่อออกจากโรงพยาบาลเวลาเดินต้องใช้ไม้เท้าคอยพยุง และน้ำเสียงที่เคยดังกังวานต่อมากลายเป็นแหบแห้ง เพราะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์กระแทกเข้ากับคอนโซลรถ ทำให้น้ำเสียงเปลี่ยนไป ซึ่งท่านบอกว่าเป็นบุพกรรมในอดีตที่ท่านตั้งสันมีดเอาไว้แล้วเป็ดกระโดดเอาคอมาโดนนั้น ก็ไม่สามารถออกเสียงได้ชัดเจนเช่นเดิม

    ช่วง 10 ปี เริ่มจากปี 2530 โยมบิดาจากไป ตามด้วยโยมมารดา ท่านเองมาอาพาธ มาปิดท้ายด้วยการสูญเสียครั้งใหญ่อีกหนเมื่อพระอาจารย์แสวง โอภาโส กัลยาณมิตรธรรมผู้เริ่มต้นมาพร้อมกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด 40 ปี ได้ละขันธ์ในปี 2540 ณ วัดเขาน้อยสามผานนั่นเอง

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม ตอน : แทนพระคุณพระอรหันต์ในบ้าน
     
  10. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ท่านสงเคราะห์ผู้คนจำนวนมากทั้งใกล้ไกลเหลือจะคณานับ สิ่งที่พยายามพร่ำสอนคือ ให้ยึดมั่นในไตรสรณคมณ์ ไม่สร้างเวรสร้างกรรม ปกป้องกายใจด้วยศีลด้วยธรรม ให้รักษาศีลภาวนา....

    ในช่วงที่โยมมารดาของพระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม ยังไม่สิ้นนั้น ท่านไม่ค่อยมีกิจนิมนต์ทางไกลเท่าใดนัก มักจะอยู่แต่ในวัดหรือบริเวณแถวหมู่บ้าน ถ้าโยมผู้ใดมาขอพบแล้วไม่เจอท่าน ต้องถือว่าโชคไม่ดีมาก ต่อมาเมื่อโยมมารดาถึงแก่กรรมแล้ว ท่านเองก็อาพาธต้องเข้ามารักษาที่กรุงเทพฯ เป็นเหตุให้ต้องมาตรวจตามแพทย์นัดเสมอๆ พลอยทำให้ได้มาโปรดญาติโยมในกรุงเทพฯ บ่อยขึ้น

    ประมาณปี 2537 คณะศิษย์จากกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันถวายรถเก๋งยี่ห้อโฟล์ค เวนโต้ (VENTO) เพื่อให้ท่านสะดวกในการเดินทาง ถือว่าเป็นรถคันแรก ซึ่งท่านก็ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ท่านจะแวะไปโปรดญาติโยม|ที่มีทุกข์มากๆ เมื่อเขาดีขึ้นแล้วท่านก็จะห่างออกมา

    เวลาท่านสอนญาติโยมนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านมักจะยกคำพ่อแม่ครูอาจารย์มาสาธกเสมอ ถ้าไม่พูดว่า “พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า...ก็มักจะพูดว่าท่านพ่อลีว่า...หรือ หลวงตาว่า...” เสมอ

    [​IMG]

    ท่านมักแนะให้ญาติโยมสวดคาถาของพระอาจารย์ลี บทที่ว่า “อรหัง พุทโธ อิติปิโส ภควา นะมามิหัง”

    ท่านสงเคราะห์ผู้คนจำนวนมากทั้งใกล้ไกลเหลือจะคณานับ สิ่งที่พยายามพร่ำสอนคือ ให้ยึดมั่นในไตรสรณคมณ์ ไม่สร้างเวรสร้างกรรม ปกป้องกายใจด้วยศีลด้วยธรรม ให้รักษาศีลภาวนา ฯลฯ ซึ่งบรรดาคนทุกข์ที่หลั่งไหลมาให้ท่านช่วยนั้น ถ้าทำตามที่ว่าแล้วมักมีชีวิตดีขึ้นโดยถ้วนหน้า ขณะเดียวกันเมื่อมาขอให้ท่านเป่ารักษา ขอน้ำมนต์หรือขอธูปเสกไปใช้แล้วมักมีประสบการณ์แปลกๆ เป็นที่อัศจรรย์เสมอ ผู้คนจึงโจษขานกันว่า ท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์

    แม้แต่คนใกล้ชิดบางคนก็จำไม่ได้ว่า พระอาจารย์ฟักเริ่มเสกธูป เป่ารักษาโรค ทำน้ำมนต์เมื่อไหร่ แต่สำหรับชาวสามผานแล้ว พระอาจารย์ฟักรณรงค์ให้พวกเขาเลิกใช้สารเคมีในเรือกสวนไร่นามาตั้งแต่ปี 2519

    ท่านว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพต้องไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถ้าใช้ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงก็ไม่รู้ว่ามีสัตว์กี่มากน้อยที่ต้องตกตายไป สัตว์ก็มีชีวิตเหมือนกับเรา ภพนี้เราเป็นมนุษย์ก็จริง แต่ถ้าทำไม่ดี ภพหน้าอาจจะตกต่ำลงไปกว่านี้ก็ได้
    “ถ้าเราทำดี อย่างต่ำก็จะได้เป็นมนุษย์ แต่ถ้าไปทำร้ายเขาตรงนี้ อนาคตเราอาจจะไปเป็นอย่างนั้น หนอนในถังส้วม ให้ระวังไว้นะ ให้ระวังไว้ มันมีสิทธิเป็นอย่างนั้นได้...ถ้าเราเลี้ยงชีพโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มันจะทำให้เราเป็นสุข ทุกภพทุกชาติไป...”

    ท่านมิได้บอกแค่ให้เลิกใช้ยาปราบศัตรูพืชซึ่งเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เบียดเบียนตัวเองเพราะทำให้ผู้ใช้เจ็บป่วย ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายเปล่าๆ หากแต่ยังหาทางออกอื่นให้โดยเสกน้ำมนต์ให้เอาไปรดผลหมากรากไม้แทน
    น่าอัศจรรย์ว่า มันได้ผลจริงๆ

    ชาวสวนจันทบุรีแถบนั้นจำนวนมากจึงเลิกใช้ยาปราบศัตรูพืช หันมาใช้น้ำมนต์ของท่านแทน แม้แต่ยามเก็บเกี่ยวผลผลิต บางปีมีมดขึ้นเยอะจนยากที่จะเก็บไปขายได้ พอมากราบเรียนขอให้ท่านช่วย ท่านก็ว่า “ให้ใช้น้ำมนต์รดถี่ๆ ขึ้น เดี๋ยวเขาก็ไป”

    ไม่เพียงแต่ใช้น้ำมนต์มารดผลหมากรากไม้ป้องกันแมลงศัตรูพืช ปรากฏว่า เมื่อมีผู้นำน้ำมนต์ของท่านไปให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลดื่ม ไม่ว่าคนท้องแก่จะคลอด หรือคนป่วยไข้ด้วยอาการบางโรคก็มีอาการดีขึ้น จนแพทย์ต้องแอบใช้น้ำมนต์ของท่านในโรงพยาบาลเพื่อจะได้ประหยัดค่ารักษาพยาบาล ไม่ต้องผ่าตัดคลอดให้เปลืองเงินเปลืองทอง เปลืองเวล่ำเวลากันอีก

    ในเรื่องธูปเสกนั้น พระอาจารย์ฟักเคยทำเพียงครั้งเดียว แต่เมื่อมีผู้นำไปใช้แล้วก็ร่ำลือกันว่า ทำให้ค้าขายดี จึงมีคนมาขอให้ท่านเสกธูปให้อีก เพราะเชื่อกันว่า ถ้าวันไหนอยากค้าขายดีให้จุดธูปที่ท่านเสกให้ แล้วสวดคาถาพระอาจารย์ลีก็จะขายดิบขายดี ถ้าจะไปเจรจาความกับใครก็จะประสบความสำเร็จ

    เมื่อมีคนมาขอท่านก็จะเทศน์ให้ฟังว่า “การเสกธูปมันเป็นเรื่องงมงาย ไม่ใช่วิถีของท่าน” แต่เมื่อมีผู้เรียนถามว่า แล้วผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นจากอะไร มิใช่จากธูปหรือ ท่านก็อธิบายให้กระจ่างว่า “ธูปเป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยว ความจริงก็คือ การที่เราจุดธูปไหว้พระก็คือ การไหว้พระพุทธเจ้าโดยผ่านธูปของท่านนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะแรงศรัทธาในพุทธศาสนาต่างหาก”
    เรื่องการเป่ารักษานั้น ท่านว่าเป็นเรื่องอจินไตย

    ท่านเริ่มเป่ารักษาในปี 2548 ด้วยการเป่ารักษาพระอุปัฏฐากซึ่งอาพาธเป็นเนื้องอกที่ลูกนัยน์ตา ปรากฏว่าได้ผล เมื่อมีผู้ทราบเรื่องก็หลั่งไหลมาขอให้ท่านเป่ารักษาโรคต่างๆ อยู่ไม่ขาดสาย วันหนึ่งหลายร้อยคน

    แม้จะเหนื่อยแต่ท่านก็มีความสุขกับการช่วยคน ไม่เคยเห็นท่านบ่นว่า คนมากไปเป่าไม่ไหว หรือขอให้กลับไปก่อน ท่านจะเป่าไปเรื่อยๆ จนหมดครบทุกคน ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนขนาดไหนก็ตาม แต่บางครั้งก็มีคนป่วยมาปลุกให้ช่วยตอนตี 2 ตี 3 ซึ่งท่านก็แนะนำว่า “น่าจะไปพบแพทย์มากกว่ามาปลุกอาตมาเพราะอาตมาไม่ใช่หมอ”

    ท่านสอนศิษย์เสมอว่า การภาวนาสามารถรักษาโรคได้ ที่มีผู้ลือว่าท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์นั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่ตัวของเราเอง เมื่อเรามีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในองค์ท่าน เราก็จะปฏิบัติตามที่ท่านสอน ท่านบอกให้รักษาศีลเราก็ทำตาม
    ฉะนั้นความศักดิ์สิทธิ์ก็เกิดขึ้นจากผลที่เราปฏิบัตินั่นเอง

    กรณีนายหมีคนไกลวัดแห่งบ้านสามผานนั้น เป็นกรณีตัวอย่างแรกๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้น

    นายหมีไม่รักษาศีล 5 ซ้ำยังออกหวยเถื่อน ต้มเหล้าเถื่อนขาย อยู่มาวันหนึ่งท้องนายหมีก็ปูดโปนขึ้นมา เพื่อนบ้านก็ว่าเป็นโรคท้องมานให้พากันเตรียมเอาไปส่งสถาบันโรคมะเร็ง แต่เมื่อพระอาจารย์ฟักไปเยี่ยมถามไถ่อาการว่า “เป็นอย่างไรบ้างนายหมี” ว่าแล้วก็เอามือจับท้องนายหมีดูแล้วก็แนะว่า “ให้สวดมนต์ไหว้พระแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรนะ” นายหมีก็รับคำ

    หลังนายหมีทำตามว่าอยู่ไม่กี่วันก็หลับฝันเห็นว่า มีตัวอะไรไม่รู้ยาวๆ ออกมาจากจมูกคล้ายกับเส้นหมี่ พอเอามือสาวดึงออกมาก็ไหลออกมาเรื่อยๆ สุดท้ายกลายเป็นดอกบานไม่รู้โรย จากวันนั้นนายหมีหายป่วย ทุกวันนี้เขารับไตรสรณคมณ์ ท่านพาทำอะไรก็ทำจนมีฐานะดีขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านสงเคราะห์ญาติโยมในแบบฉบับของท่าน ซึ่งยังผลให้ผู้ทุกข์ร้อนเหล่านั้นได้ปลดเปลื้องความทุกข์ของตัวและเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้น เรื่องราวเหล่านี้มีมากมายเล่าขานกันไม่มีวันจบสิ้น และผู้ได้รับการสงเคราะห์จากนั้นก็มีจำนวนมาก ไม่ว่ายากดีมีจน เห็นได้จากยามที่ท่านอาพาธ เพียงมีข่าวแพร่กระจายออกไปเพียงวันเดียว ก็จะมีผู้คนที่เคารพศรัทธาท่านแห่มาเยี่ยมจำนวนมากในทันทีทันควันเสมอไป

    ความเมตตาของพระอาจารย์ฟักนี้สาธุชนทั้งหลายที่ได้รู้จักท่านย่อมประจักษ์เรื่องนี้แก่ใจกันถ้วนหน้า ท่านว่า “พระในประเทศไทยไม่มีใครเหมือนเรา มีที่ไหนเปิดโทรศัพท์มือถือ 24 ชั่วโมง เราน่ะสงสารเขานะ” แต่ผลจากการนั้นก็ทำให้ท่านได้สงเคราะห์โลกแบบไร้สายจริงๆ

    บางคนสามีเจ็บป่วยหนักกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกลางดึก โทรศัพท์มาขอให้ท่านเมตตาให้ ปรากฏว่าพอเล่าเรื่องให้ฟังเสร็จ ท่านก็ถามชื่อนามสกุล ตัวสะกดแล้วบอกว่า อีก 10 นาทีให้โทร.กลับมาใหม่ พอโทร.ไปท่านก็ถามว่าเป็นอย่างไร เมื่อเรียนว่า ดีขึ้นแบบทรงๆ ท่านก็ว่า อีก 15 นาทีให้โทร.มาอีก หายไปตามเวลาที่ว่า พอโทร.กลับมาก็ปรากฏว่า คนเจ็บดีขึ้นมากอาการเจ็บไข้ได้ปวดเหลือเพียง 2% เท่านั้น

    พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ได้กล่าวถึงพระจารย์ฟักว่า ท่านมีความสมบูรณ์มาก
    “ความงามของท่านก็คือมีจิตใจน้อมเข้าสู่เมตตาอย่างเต็มที่ ไอ้ความเมตตาของท่านที่ครอบโลกธาตุของลูกศิษย์ลูกหาและคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับท่าน เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาหาหลวงปู่ฟักจะได้รับความอบอุ่นและไม่มีเบื่อเลย ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนหรือคุยอะไรก็ไม่เบื่อ

    อันนี้เพราะความเมตตาของท่าน ถ้าเป็นรูปอื่นก็ยังเบื่อ

    ถ้าพระทุกรูปมีความเมตตาเหมือนท่านจะทำให้ญาติโยมได้รับความอบอุ่น สังคมชาวพุทธเราก็จะอบอุ่นมาก แต่พระเรายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่มากกว่า ยังขาดเมตตาอยู่ ศรัทธาญาติโยมเลยขาดความอบอุ่น สังคมเราถึงยังขาดความอบอุ่น...”

    แม้ธาตุขันธ์จะไม่เป็นปกติเช่นแต่ก่อน แต่พระอาจารย์ฟักก็ยังเดินหน้าสงเคราะห์ผู้คนไปทั่ว ยิ่งเมื่อพระอาจารย์มหาบัว เริ่มโครงการช่วยชาติบิณฑบาตยกแผ่นดิน ด้วยการหาเงินเข้าคลังหลวง ท่านก็ยิ่งทุ่มเทสรรพกำลังที่มีทั้งหมดเพื่อให้โครงการของพ่อแม่ครูอาจารย์บรรลุผลสำเร็จ

    นี่เป็นเหตุให้ต้องเดินทางไปเหนือจรดใต้ และเป็นผู้แทนของพระอาจารย์มหาบัวไปรับกฐินช่วยชาติยังสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ

    ขณะเดียวกันท่านก็ได้นำคณะศิษยานุศิษย์จัดงานสมทบทุนช่วยชาติ 4 ครั้งคือในปี 2541 2543 2546 และ 2547 ที่วัดเขาน้อยสามผาน ได้ทองคำ เงินดอลลาร์ และเงินบาทสมทบเข้าคลังหลวง 72 ล้านบาท โดยมิได้ใช้เงินวัดเลย

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สาธุการนามพระผู้ให้ในใจชน
     
  11. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สาธุการนามผู้ให้ในใจชน

    พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน สั่งความมาว่า ถ้าไม่ไหวให้นำท่านกลับวัด เมื่อเข็มนาฬิกาเดินมาถึงเวลา 14.00 น. สัญญาณการชีพจรของท่านก็หยุดลง...

    หลังหลวงปู่ฟัก สันติธัมโม อาพาธด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองซีกขวาแตกเมื่อปี 2536 หลังจากนั้นก็มีอาการอาพาธกำเริบเป็นระยะๆ

    ปี 2542 อาพาธเนื่องจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ดีว่าได้รับการวินิจฉัยทันจึงรักษาธาตุขันธ์ไว้ได้ จากนั้นก็มีอาการประปรายเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 8 มิ.ย. 2553 ขณะมาพำนักที่บ้านสันติธรรมซึ่งศิษย์ได้สร้างไว้ให้ท่านใช้พำนักเวลาเดินทางเข้ามาใน กทม. เป็นเสมือนวัดกลางหมู่บ้านจัดสรรในกรุงแห่งหนึ่ง ท่านได้ออกจากที่พัก โดยบอกว่าเมื่อคืนจำวัดได้มาก และไม่มีอาการปวดศีรษะแต่พอเข้าห้องน้ำในช่วงเวลา 06.30 น. โดยพระอุปัฏฐากคอยพยุงช่วยอยู่ปรากฏว่า ท่านเกิดอาการอ่อนแรง พูดไม่ชัด พระอุปัฏฐากจึงประคองท่านมานอนลงที่เตียง แล้วเรียกรถพยาบาลให้มารับนำตัวไปส่งโรงพยาบาลศรีวิชัย เมื่อพบว่าเส้นเลือดในสมองแตกจึงส่งต่อไปยังโรงพยาบาลธนบุรี 1

    [​IMG]

    บรรดาศิษย์ทั้งไกลใกล้ที่ทราบข่าวก็วางมือจากกิจธุระต่างๆ มุ่งมาติดตามอาการท่านจนแน่นขนัด คนมากแต่ใช่ว่าจะรู้จักกัน หากแต่ใบหน้าทุกคนเศร้าสร้อย แววตาวิตกกังวลประดุจญาติผู้ใหญ่ หรือบิดามารดากำลังเจ็บหนัก ทุกคนทำตัวเป็นเสมือนลูกหลานแท้ๆ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่กล้าบอกว่า นี่เป็นหออภิบาลผู้ป่วยหนักกรุณารอข้างนอกเพราะไม่รู้จะบอกใคร เมื่อต่างคนต่างก็เป็นเสมือนญาติของท่านด้วยกันทั้งหมด แม้จะเต็มไปด้วยผู้คนแต่ภายในห้องกลับเงียบสงบ ได้ยินแต่เสียงเครื่องหายใจทำงานเป็นจังหวะๆ อยู่ บางคราวก็มีเสียงสวดจากพระภิกษุที่อยู่รอบๆ เตียง คนจำนวนไม่น้อยพักค้างแรมในโรงพยาบาลนั่นเลย นอนในรถที่ลานจอดรถก็หลายคน

    วันที่ 9 มิ.ย. 2553 พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน สั่งความมาว่า ถ้าไม่ไหวให้นำท่านกลับวัด เมื่อเข็มนาฬิกาเดินมาถึงเวลา 14.00 น. สัญญาณการชีพจรของท่านก็หยุดลง ท่านจากไปอย่างสงบ ศิษย์หลายคนที่รายล้อมอยู่ปลายเท้าหลั่งน้ำตาออกมาโดยไม่มีเสียงสะอื้น ลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้ชายคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ผมยังไม่พร้อมที่อยู่โดยปราศจากท่านอาจารย์”

    ถ้อยคำที่ท่านเคยกล่าวไว้เมื่อ 49 ปีก่อนนั้นดังขึ้นในความคิดคำนึงของใครบางคน “(มรณกรรมของท่าน) ทำให้หัวอกผมแม้จะเข้ากัมมัฏฐาน ฐานใจก็ต้องได้รับกระเทือนเหมือนแผลบวมที่ชอกชำดำเขียวหมดเรี่ยวแรง”
    **************************

    ประวัติสุขภาพพระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม
    บันทึกโดย : นพ.วิรัตน์ เตชะอาภรณ์กุล
    ปี 2536 ท่านพระอาจารย์ฟักอาพาธด้วยโรคเส้นเลือดสมองแตกซีกขวา ทำให้มีอาการอัมพาตซีกซ้าย ได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ซึ่งในครั้งนั้นหลวงตามหาบัวได้เมตตามาเป่าและขากเสลดบนกระหม่อมให้ท่านพระอาจารย์ฟัก

    ต่อมาได้ส่งท่านมาทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโดยอยู่ในความดูแลของอาจารย์ นพ.ช่อเพียว เตโชฬาร ศัลยแพทย์ระบบประสาท

    ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. 2536 อาการอาพาธในครั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะความดันโลหิตสูง เมื่อแพทย์อนุญาตให้ท่านออกจากโรงพยาบาลนั้น อาการอ่อนแรงซีกซ้ายของร่างกายท่านก็ดีขึ้นมากจนใกล้เคียงปกติ แต่การออกเสียงยังไม่ชัดเจน การเดินต้องใช้ไม้เท้าพยุง

    หลังจากนั้นท่านได้รับการรักษาความดันโลหิตสูงและอัมพาตซีกซ้ายต่อเนื่องสม่ำเสมอที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า ในความดูแลของอาจารย์ นพ.จิตติ โฆษิตชัยวัฒน์ และอาจารย์ พญ.สุวรรณา ธรรมสุภาพงศ์

    ต่อมาได้ตรวจพบภาวะไขมันในเลือดสูงอันเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการทำให้เกิดเส้นเลือดสมองแตก ซึ่งตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปี ท่านได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเยี่ยมจากอาจารย์แพทย์ทั้งสองท่าน และท่านมักเอ่ยชมแพทย์ทั้งสองท่านให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เสมอๆ

    สำหรับโรคเส้นเลือดสมองแตกนั้น ท่านยังได้ติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอกกับอาจารย์ นพ.ช่อเพียว เตโชฬาร อย่างต่อเนื่องอีกในระยะ 3-4 ปีต่อมา
    ท่านพระอาจารย์ฟักมักจะแนะนำลูกศิษย์ที่เจ็บป่วยให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐบาลโดยดูอย่างองค์ท่านเป็นตัวอย่าง เนื่องจากท่านศรัทธาและไว้วางใจในโรงพยาบาลรัฐ อุปนิสัยส่วนองค์อีกอย่างของท่านคือชอบนวดแผนไทยจับเส้น และรักษาด้วยยาจีนหรือยาสมุนไพรควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน ปี 2542 ประมาณกลางเดือน มี.ค. ท่านเมตตามาพักในหมู่บ้านภาณุรังสี

    ท่านมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ได้รับการวินิจฉัยจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาว่าเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราชตามความประสงค์ขององค์ท่านเอง โดยอยู่ในความดูแลของอาจารย์ นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ แพทย์อายุรกรรมโรคไต และอาจารย์ นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ แพทย์อายุรกรรมโรคสมอง ในการอาพาธครั้งนี้ถ้าได้รับการวินิจฉัยไม่ทันอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต

    นอกจากนี้ คณะแพทย์ผู้รักษาก็ให้การดูแลใส่ใจท่านพระอาจารย์ฟักเสมือนเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านมักปรารภว่าเหตุที่ท่านได้รับการดูแลอย่างดีนี้ คงจะเป็นผลบุญจากการที่ชอบเอื้อเฟื้อญาติโยมหรือเพื่อนพระในเรื่องสุขภาพมาโดยตลอด
    ปี 2546 ท่านมีอาการขัดในข้อเข่าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับยาเสริมกระดูกอ่อนโดยต้องฉันต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพื่อชะลอการเสื่อมของข้อเข่า

    25 ต.ค. 2548 ท่านมีอาการเหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่มได้รับการตรวจหัตถการพิเศษทางหัวใจ คือตรวจ Persantin-Thalliumscan ผลการตรวจปกติ
    4 พ.ค. 2550 ท่านมีอาการเจ็บหน้าอกได้ไปตรวจกับอาจารย์ นพ.เรวัตร พันธุ์กิ่งทองคำ แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลศิริราช พบว่าหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (Atrial Fibrillation) และแนะนำว่าควรได้รับยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulant) แต่ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ประจำองค์พระอาจารย์ฟัก ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้ามีความเห็นว่าท่านเคยเป็นโรคเส้นเลือดสมองแตก จึงมีข้อจำกัดในการใช้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ได้ให้ยาแอสไพรินซึ่งเป็นยาต้านเกล็ดเลือดแทน โดยฉันวันเว้นวันเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอดังกล่าว

    1 พ.ย. 2551 ท่านมีอาการต่อมน้ำลายข้างซ้ายอักเสบได้รับยาฆ่าเชื้อ 1 สัปดาห์

    2-9 พ.ย. 2552 ท่านมีอาการไอมากและมีไข้ ได้เข้ารับการรักษากับอาจารย์นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล แพทย์อายุรกรรมโรคปอด โรงพยาบาลศิริราช
    ซึ่งแนะนำให้เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเพื่อรับยาปฏิชีวนะแบบฉีดเข้าเส้นเลือด แต่ท่านอาจารย์ปฏิเสธขอรับการรักษาแบบฉันยาเท่านั้น โดยขอพักรักษาองค์ที่บ้านสันติธรรม ซึ่งอาจารย์ไชยรัตน์แนะนำว่า ถ้าอาการเปลี่ยนแปลงให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที แต่หลังจากฉันยาประมาณ 7 วัน ร่างกายท่านตอบสนองกับยาได้ดีจึงไม่ต้องรักษาต่อเนื่องอีก

    22 มี.ค. 2553 เนื่องจากในระยะนี้ท่านบ่นว่ามีเสมหะปนเลือดเก่าๆ และมีปัสสาวะขัด จึงได้นิมนต์ตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง โดยเข้าพบกับแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

    อาจารย์ นพ.วัฒนะ ฐิตะดิลก แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ได้รับการวินิจฉัยว่ามีการอักเสบบริเวณคอและจมูกเรื้อรัง (Chronic Rhinopharygitis) อาจารย์ นพ.สุชาย สุนทราภา ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะต่อมลูกหมากโต อาจารย์ นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล อายุรแพทย์โรคปอด ได้ทำการตรวจเอกซเรย์พบว่ามีเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณหัวใจโต (Aorta)

    อาจารย์ นพ.ยิ่งยง ชินธรรมมิตร อายุรแพทย์ด้านโลหิตวิทยา
    2-6 เม.ย. 2553 ท่านปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอมากได้รับยาและฝังเข็มลดปวด

    7 มิ.ย. 2553 ท่านได้มาพักที่บ้านสันติธรรมเนื่องจากมีกิจนิมนต์ใกล้กรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น

    8 มิ.ย. 2553 ท่านตื่นขึ้นและบอกว่าเมื่อคืนนี้จำวัดได้มากไม่มีอาการปวดศีรษะเวลาประมาณ 06.30 น. ครูบาโบ้ (พระอุปัฏฐาก) ได้พยุงท่านเข้าห้องน้ำท่านเริ่มมีอาการอ่อนแรง พูดไม่ชัด ครูบาโบ้ได้ประคองมาที่เตียงนอน แล้วจากนั้นได้เรียกรถพยาบาลนำท่านส่งโรงพยาบาลศรีวิชัย 2 ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อใส่ท่อช่วยหายใจและทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่ามีเส้นเลือดสมองแตก

    จากนั้นได้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลธนบุรี 1 โดยถูกส่งเข้าพักรักษาในห้องไอซียูทันที มีอาจารย์ นพ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลศิริราช เป็นเจ้าของไข้ อาจารย์ พญ.วิภาวี ภู่รัก และอาจารย์ นพ.ธีระ พงศ์ประสบชัย เป็นแพทย์ร่วมรักษา ซึ่งอาจารย์ นพ.ประจักษ์ ได้อธิบายว่าจากผลการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบว่ามีเส้นเลือดสมองแตกขนาดใหญ่เกือบครึ่งสมอง และแตกในจุดสำคัญที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย
    การผ่าตัดคงไม่สามารถช่วยชีวิตท่านพระอาจารย์ โอกาสรอดชีวิตน้อยมาก
    อาจารย์ นพ.ประจักษ์ ยังพูดว่า “เส้นเลือดในสมองแตกมากขนาดนี้ถ้าแตกในห้องผ่าตัดก็ช่วยอะไรไม่ทัน ผู้ป่วยบางคนมีความดันโลหิตสูงมากกว่า ท่านพระอาจารย์ก็ยังไม่มีเส้นเลือดสมองแตก โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจะเกิดเส้นเลือดสมองแตกตอนไหนบอกไม่ได้ ส่วนหนึ่งขึ้นกับจังหวะของชีวิตด้วย”

    เนื่องจากท่านได้รับยาแอสไพรินซึ่งเป็นยาต้านเกล็ดเลือดอยู่เพราะมีภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้เมื่อเกิดมีเลือดออกในตำแหน่งใดก็ตามจะทำให้เลือดหยุดยาก

    9 มิ.ย. 2553 ท่านพระอาจารย์ฟัก ได้ละสังขารเมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) โรงพยาบาลธนบุรี 1 พญ.วิภาวี แพทย์ผู้ดูแลท่านได้กล่าวว่า ท่านจากไปด้วยอาการที่สงบจริงๆ และไม่เจ็บปวด

    คณะศิษย์ขอกราบขอบพระคุณแพทย์ทุกท่านที่ได้ช่วยดูแลถวายการรักษา

    ท่านพระอาจารย์ฟักอย่างดี ทั้งที่ไม่ได้เอ่ยนามในที่นี้และที่เอ่ยนามดังนี้
    1.อาจารย์ นพ.ช่อเพียว เตโชฬาร
    2.อาจารย์ นพ.จิตติ โฆษิตชัยวัฒน์
    3.อาจารย์ พญ.สุวรรณา ธรรมสุภาพงศ์
    4.อาจารย์ นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ
    5.อาจารย์ นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ
    6.อาจารย์ นพ.เรวัตร พันธุ์กิ่งทองคำ
    7.อาจารย์ นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล
    8.อาจารย์ นพ.วัฒนะ ฐิตะดิลก
    9.อาจารย์ นพ.สุชาย สุนทราภา
    10.อาจารย์ นพ.ยิ่งยง ชินธรรมมิตร
    11.อาจารย์ นพ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์
    12.อาจารย์ นพ.ธีระ พงศ์ประสบชัย
    13.อาจารย์ พญ.วิภาวี ภู่รัก

    โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ-จิตใจ : หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม สาธุการนามผู้ให้ในใจชน(2)-
     

แชร์หน้านี้

Loading...