วิธีสร้างบุญบารมี โดยสมเด็จพระญาณสังวร ตอน บุญเป็นเหตุแห่งความสุข

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 11 ธันวาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    วิธีสร้างบุญบารมี โดยสมเด็จพระญาณสังวร ตอน บุญเป็นเหตุแห่งความสุข
    [​IMG]
    พระพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “ผู่ใคร่ประโญชน์พึ่งศึกษาบุญนั่นแล อันมีผลเลิศต่อไป ซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน 1 ความประพฤติสงบ 1 เมตตาจิต 1 บัณฑิตครั้นเจริญธรรม 3 ประการ อันเป็นเหตุแห่งความสุขเหล่านี้ ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข”
    พระพุทธภาษิตที่มีมาในปุญญสูตรนี้ ตรัสสอนให้ทุกท่าน ทุกบุคคล ผู้ใคร่ประโยชน์ศึกษาบุยอันเป็นส่วนเหตุให้เกิดผลเลิศต่อไป มีสุขเป็นกำไร เป็นเหตุให้เกิดความสุข คือ ให้เจริญทาน สมจริยา ความประพฤติสงบ และเมตตาจิต รวม 3 ประการ
    คำว่า “บุญ” แปลตามศัพท์หรือพยัญชนะว่า ฟอก ล้าง โดยย่อหมายถึงบุญส่วนเหตุ 1 บุญส่วนผล 1
    บุญส่วนเหตุนั้น หมายถึงศึกษา คือฟัง เรียน ให้รู้ และดำรงมั่น เสพปฏิบัติเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย เช่นปฏิบัติเจริญธรรม 3 ประการ ดังที่กล่าวแล้วนั้น และในพระบาลี ไวยากรณภาษิตอีกแห่งหนึ่ง ได้ตรัสไว้ตอนหนึ่งแปลความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นดำริว่า บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิอย่างมากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะผลวิบากแห่งกรรม 3 ประการของเรา คือ ทาน 1 ทมะ (ฝึกอินทรีย์ มีจักษุเป็นต้น และข่มกิเลส มีราคะเป็นต้น)1 สัญญมะ (สำรวมกายและวาจา)1”
    อนึ่ง ได้ตรัสบุญส่วนเหตุไว้ในนิธิกัณฑสูตรว่า “นิธิ (ขุมทรัพย์คือบุญ) เป็นสิ่งอันสตรีหรือบุรุษฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ”
    บุญส่วนเหตุทั่วไป ก็ได้แก่กุศลเจตนา ดีงที่ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวีตถุ (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ) 3 เหล่านี้ คือ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน 1 บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล 1 บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา 1
    บุญส่วนผลนั่น หมายถึง ผลวิบากของบุญส่วนเหตุนั้นเอง ดังที่ตรัสไว้ในบุญญสูตรตอนต้นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งตวามสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ”
    ในนิธิกัณฑสูตร ตรัสแสดงผลวิบากแห่งบุญนิธิโดยพิสดารไว้ว่า นิธิคือบุญนี้ อันบุคคลฝังไว้ดีแล้ว อันใครชนะไม่ได้ มีปกติไปตาม ละไปย่อมถือเอาบุญนิธินั้นไปในที่พึงไปทั้งหลาย ไม่ทั่วไปแก่ชนเหล่าอื่น บุญนิธิโจรนิไปไม่ได้ นิธินั่นให้สิ่งที่ใครจะได้ทั้งปวงแก่เทพและมนุษย์ทั้งหลาย เทพและมนุษย์ทั้งหลาย ปรารถนาสิ่งใดๆ สิ่งนั้นทั้งหมดอันผู้มีบุญนิธิย่อมได้ด้วย บุญนิธินั่น ความมีผิวพรรณงาม ความมีเสียงไพเราะ สัณฐาน ทรวดทรงงาม ความมีรูปงาม ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น ความเป็นใหญ่ บริวาร จักรพรรดิสุข อันเป็นที่รัก แม้รัชสมบัติแห่งเทพในทิพย์ทั้งหลาย ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั่น สมบัติอันเป็นของมนุษย์ ความยินดีในเทวโลก และนิพพานสมบัติ ย่อมได้ด้วย บุญนิธินั่น ความที่ถ้าเมื่ออาศัยความถึงพร้อมด้วยมิตรประกอบทั่วโดยแยบคาย มีความชำนาญในวิชชาวิมุตติ ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานเฉพาะ) วิโมกข์ (ความหลุดพ้น) และสาวกบารมี ปัจเจกโพธิ พุทธภูมิ ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั่น สัมปทานั่น คือบุญสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยบุญ) มีประโยชน์ ผลที่ต้องการใหญ่อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายผู้ทรงปัญญา จีงสรรเสริญความเป็นผู้มีบุญอันทำแล้ว กล่าวโดยย่อ บุญส่วนเหตุ ได้แก่ กุศลเจตนา กุศลกรรม สุจริตกุศลธรรม บุญกิริยาวัตถุทั้งปวง ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา บารมี คือ พุทธบารมี ปัจเจกโพธิบารมี สาวกบารมี มรรคมีองค์แปด และที่ตรัสยกขึ้นไว้ในปุญญสูตรตอนที่เป็นไวยากรณภาษิตว่า ทาน ทมะ สัญญมะ และในนิคมคาถาว่า ทาน สมจริยา เมตตาจิต ซึ่งล้วนเป็นเครื่องชำระฟอกล้างกิเลสาวะทั้งปวง
    ส่วนบุญส่วนผล ก็สรุปเข้าในมนุษยสมบัติ เทวสมบัติ นิพพานสมบัติ สรุปเข้าอีกเป็นความสุขที่ปรารถนาใคร่รักพอใจ ตลอดถึงบรมสุข คือนิพพาน อันเกิดจากกรรมวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน ทำให้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะทำให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลสาสวะไปโดยลำดับจนถึงทั้งหมด
    ในรัตนัตตยปภาวาภิยาจนคาถา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 แสดงไว้ว่า พระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บริสุทธิ์สูงสุด ประเสริฐสุดในโลก ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง แก่ผู้เลื่อมใสแล้ว ใคร่ปรารถนาความบริสุทธิ์แห่งตน ปฏิบัติอยู่โดยชอบ ความบริสุทธิ์จากกิลเสทั้งปวง เป็นความดับจากทุกข์ทั้งหลาย นิพพานเป็นบรมสูญ คือ ว่างอย่างยิ่ง (จากกิเลสาสวะทั้งหมด) เป็นบรมสุข คือสุขอย่างยิ่ง
    และได้มีอีกคาถาหนึ่งแสดงอธิบายนิพพานว่า ความบริสุทธิ์จากกิเลสทั่งปวง เป็นความดับจากทุกข์ทั้งหลาย ความดับนั้นเป็นสันติ คือความสงบแห่งใจ เรียกว่านิพพาน
    ในปุญญสูตร ตรัสแสดงบุญส่วนผลก่อน คือ สุข พร้อมทั้งสุขสมบัติ แล้วตรัสบุญส่วนเหตุ คือ ทาน ทมะ (ฝึกอินทรีย์มีตาเป็นต้นข่มกิเลส) สัญญมะ (สำรวมกาย และวาจา) ส่วนในนิคมคาถาของพระสูตรนี้แสดงบุญส่วนเหตุ คือ ทาน สมจริยา เมตตาจิต แม้ชื่อธรรมต่างกันบ้าง ส่วนใจความก็เป็นอันเดียวกัน
    ทาน คือ การให้การบริจาคพัสดุต่างๆ มีข้าวน้ำเป็นต้น เกื้อกูลผู้รับตามที่ต้องการ ตามที่ควรให้ พระสุคตตรัสสรรเสริญ การเลือกให้ ได้มี แบ่งทานเป็น 2 คือ อามิสทาน ให้อามิสสิ่งของ ธรรมทาน ให้ธรรมสั่งสอนหรือสอนแนะนำ การตั้งโรงเรียนก็จัดเข้าในข้อนี้ ทานข้อนี้ จัดเข้าในข้อทานมัยบุญกิริยาวัตถุ
    สมจริยา ความประพฤติสงบ ความประพฤติสมควร ความประพฤติสม่ำเสมอ ก็ได้แก่ศีล ความสำรวมระวังกายวาจา ด้วยความตั้งใจ งดเว้นกรรมที่ก่อภัยเวรต่างๆ เป็นต้น ที่ควรงดเว้น เช่นงดเว้นความหลักศีล 5 ข้อนี้จึงตรงกับสัญญมะ ความสำรวมกายวาจาด้วยความตั้งใจ ที่หมายถึงศีล ข้อนี้จัดเข้าในศีลมัยบุยกิริยาวัตถุ
    เมตตาจิต จิตมีเมตตา รักใคร่ผูกเยื่อใย ปรารถนาให้เจริญสุข มีความรู้สึกเป็นมิตร ดังที่เรียกว่ามีมิตรจิต มิตรใจ เมตตามีอันเป็นไปในอาการให้ประโยชน์เกื้อกูลเป็นลักษณะ มีการนำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส คือเป็นกิจหน้าที่พึงทำ มีการปลดเปลื้องโทสะพยาบาทอาฆาตเป็นเครื่องปรากฏ มีการแสดงความพอใจของสัตว์ทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน ความสงบ พยาบาทเป็นสมบัติของเมตตา ความมีเสน่หาราคะเป็นวิบัติของเมตตา เมตตาจิตนี้เป็นทมะประการหนึ่ง เพราะเป็นการฝึกจิตให้เป็นเมตตาจิต มิให้เป็นจิตพยาบาท เพราะเป็นการข่มกิเลสมีโทสะพยาบาท อาฆาตเป็นต้น ทั้งเมตตานี้เป็นเหตุให้ทำทาน ให้สมาทานศีลหรือสมจริยาหรือสัญญมะด้วย เมตตาจิตข้อนี้จัดเข้าในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ
    บุญส่วนเหตุ 3 ข้อนี้ ให้เกิดผลเป็นบุญส่วนผลทั้งปวง คือความสุข ตามที่ตรัสไว้ในนิคมคาถาว่า มีผลเลิศต่อไป มีสุขเป็นกำไร เป็นเหตุแห่งสุข เข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียนเป็นสุข ทั้งโลกนี้โลกหน้า จึงตรัสสอนมิให้กลัวต่อบุญ เพราะบุญเป็นชื่อแห่งความสุข
    ที่มาhttp://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างกำแพงถวายวัดกุฏีทอง-รับพระผงกริ่งนาคราช.557837/
     

แชร์หน้านี้

Loading...