ยุคพระมหาเถระเยี่ยมเยือนออสเตรเลีย

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    [SIZE=+1]ยุคพระมหาเถระเยี่ยมเยือนออสเตรเลีย[/SIZE] ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๙ ( ค.ศ. ๑๙๕๔-๑๙๕๖ ) ถือว่าเป็นยุคทองแห่งพุทธสมาคมแห่งนิวเซาธ์เวลส์ ระยะเวลาดังกล่าวนี้ที่ประเทศพม่ากำลังมีการทำสังคายนาครั้งที่ ๖ ในยุคนั้นพระสงฆ์ที่เป็นพระเถระประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา มีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะส่งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิชำนาญในภาษาอังกฤษ ไปเผยแพร่พุทธศาสนา ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
    ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ( ค.ศ. ๑๙๕๔ ) พระเถระชาวพม่าชื่อ อูฐิติละ ได้รับนิมนต์มาเผยแพร่พุทธศาสนาที่ประเทศออสเตรเลีย ท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียง เคยเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เคยไปจำพรรษาและบรรยายธรรมที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาหลายปี ตลอดระยะเวลา ๑ เดือน ที่ออสเตรเลีย ท่านไปบรรยายที่ไหนคนแน่นไปหมด สมาชิกของพุทธสมาคมซึ่งปกติมี ๑๐ กว่าคนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อย เป็นพระสงฆ์รูปแรกที่สามารถตอบข้อข้องใจให้ชาวออสเตรเลีย ทั้งหลายผู้สนใจได้เห็นความดีงามลึกซึ้งของพระพุทธศาสนา
    หลังจากการเยี่ยมเยือนครั้งแรก ๒ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. ๑๙๕๖ ) ท่านอูฐิติละได้หลับมาเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง และเป็นวาระสุดท้ายของท่าน มาคราวนี้ท่านได้พาชาวออสเตรเลีย ๓๕ คนเข้าคอร์สกัมมัฏฐานเป็นเวลา ๓ อาทิตย์ ได้มีผู้บริจาคเงินผ่านพุทธสมาคมซื้อที่ดินจะสร้างวัด ท่านก็มีความกระตือรือร้นอย่างมาก อยากให้มีวัดและมีพระสงฆ์อยู่ประจำ แต่เหตุการณ์ต่อมาไม่เอื้ออำนวย พุทธสมาคมได้ขายที่แปลงดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อท่านอูฐิติละกลับไปแล้วก็ไม่ได้กลับมาอีกเพราะความยุ่งยากทางการเมือง ในประเทศพม่า เดี๋ยวนี้ท่านยังมีชีวิตอยู่ อายุ ๙๔ ปีแล้ว
    หลังจากการเยี่ยมเยือนของท่านอูฐิติละครั้งแรกประมาณ ๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ (ค.ศ. ๑๙๕๕ ) ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ พระเถระชาวศรีลังกาผู้มีชื่อเสียง นารทะ ได้รับนิมนต์มาเผยแพร่พุทธศาสนา ที่ออสเตรเลียอีก คราวนี้ท่านได้รับนิมนต์มาอยู่นานเป็นเวลา ๓ เดือน เนื่องจากท่านเก่งภาษาอังกฤษ พอ ๆ กับท่านอูฐิติละ อีกทั้งเป็นพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบของชาวศรีลังกาด้วย ท่านไปบรรยายที่ไหน คนแน่นไปหมดเหมือนกัน ผู้สนใจในพุทธศาสนาตามรัฐต่าง ๆ เพิ่มขึ้น สมาชิกพุทธมาคมที่เมืองซิดนีย์ บริสเบน เมลเบิร์น เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นที่พอใจของพุทธสมาคมทั้งหลาย ท่านได้นำต้นโพธิ์มาปลูกที่บ้านของ มร. เบิกเคลี่ ด้วย ท่านเองมีความกระตือรือร้นอยากให้มีวัด ขณะนั้นก็มีคฤหบดีศรีลังกาจะช่วยท่านอยู่ แต่เหตุการณ์ก็ไม่สมประสงค์อีกก็เลยเลิกร้างไป
    เมื่อท่านเดินทางกลับศรีลังกาแล้ว ระยะกาลต่อมาเมื่อได้ทราบว่าพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์เกิดมีความคิด เห็นไม่ลงรอยกัน ท่านก็อุตสาห์เดินทางกลับมาเพื่อประสานสามัคคี แต่ก็สุดวิสัย กิเลสฆราวาสแรงกว่าความเมตตาของพระ มร. เบิกเคลี่ กับคณะก็แยกไปทางหนึ่ง ประธานพุทธสมาคมใหม่ชื่อ มร. ชาร์ลส์ ไนท์ ( Mr. Charles Knight ) และมีมิสซิส แจ๊กสัน ( Mrs. Jackson ) เป็นผู้ให้การสนับสนุนและจะเป็นประธานคนต่อไปของพุทธสมาคม
    อย่างไรก็ตาม ท่านนารทะมหาเถระเป็นผู้ทำประโยชน์อย่างมหาศาลแก่พุทธศาสนา นอกจากเป็นที่เคารพรักของชาวศรีลังกาแล้ว ท่านยังได้บำเพ็ญประโยชน์ทุกปีที่ประเทศเวียดนามใต้ และอินโดนีเซีย ก่อนที่พระสงฆ์ไทยจะไปอยู่ประจำและเผยแพร่ที่อินโดนีเซียนั้น ท่านนารทะได้ปูพื้นฐานไว้มากแล้ว การสวดมนต์เดิมของพุทธบริษัทอินโดนีเซียยังคงรักษาท่วงทำนอง แบบพระศรีลังกาอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว ท่านนารทะมหาเถระได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ (ค.ศ. ๑๙๘๓ ) ที่วัดวชิรราม กรุงโคลัมโบ สิริอายุได้ ๘๖ ปี
    ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ( ค.ศ. ๑๙๕๖ ) พระเถระของไทยรูปแรก คือ ท่านเจ้าคุณ พระธรรมธีรราชมหามุนี ( ต่อมาได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนี ) วัดจักรวรรดิราชาวาส กับพระฝรั่งชื่อ สุมังคโล ได้รับนิมนต์ ให้มาเยี่ยมออสเตรเลีย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ท่านรีบเดินทางกลับประเทศไทยก่อนกำหนด พระสุมังคโลนอกจากจะเป็นพระเถรวาทบวชแบบพระไทยแล้ว ท่านยังตั้งตนเป็นหัวหน้าใหญ่ของพระมหายานนิกายโซโตเซ็นด้วย ท่านมีความรู้และเขียนบทความธรรมะส่งให้พุทธสมาคมนิวเซาธ์เวลส์พิมพ์เป็น ประจำ และเมื่อเป็นฆราวาสท่านก็เคยบรรยายธรรมที่นี่ เป็นเหตุให้มีลูกศิษย์หลายคน คราวนี้ท่านมาเป็นพระ ในขณะที่ท่านเจ้าคุณธรรมฯ ไม่อยู่ออกไปทำธุระข้างนอก ท่านสุมังคโลก็ได้ทำตัวเป็นอาจารย์บวชให้ชาวออสเตรเลียทั้งผู้หญิงผู้ชาย เป็นสามเณร ๕ องค์ ท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนีเกรงจะเป็นที่ครหาและเสียหายแก่คณะสงฆ์ไทย ท่านเลยพาท่านสุมังคโลกลับเมืองไทยก่อนกำหนดดังกล่าวแล้ว
    ผู้ที่ไม่มีหิริ โอตตัปปะ ไม่มีความจริงใจเข้ามาขอบวชเรียนในพระพุทธศาสนา มักจะทำความเสียหายเดือดร้อนแก่หมู่คณะแบบนี้เอง แม่ชีธัมมทินนาที่กล่าวมาข้างต้นก็มักจะบอกลูกศิษย์บางคนว่าตนเป็นพระ โพธิสัตว์ เป็นอวตารของเจ้าแม่กวนอิม เวลานั่งสมาธิเงียบ ๆ ก็มักจะเพ้อออกมาให้ลูกศิษย์ได้ยินว่าขณะนี้ตนได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่ายเปรียบไว้ว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แม้จะบริสุทธิดีงามอย่างไรก็ไม่มีภาชนะพิเศษอื่นใดรองรับได้ นอกจากจะอาศัยอยู่ในหัวใจของคน ถ้าหัวใจของบุคคลนั้นสกปรก ไม่สะอาดพอ คำสอนของพระพุทธศาสนาก็เลยต้องมัวหมองไปตาม
     

แชร์หน้านี้

Loading...