มงคลยอดชีวิตข้อ ๖ อตฺตสมฺมาปนิธิ - การตั้งตัวถูก

ในห้อง 'ทวีป อเมริกา' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    <table border="0" cellpadding="7" cellspacing="7" width="500"><tbody><tr><td colspan="3" align="center">[​IMG]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+2]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( พิมพ์ ธมฺมธโร)[/SIZE]</td> </tr> <tr> <td colspan="3" align="center">[SIZE=+1]วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร[/SIZE]</td> </tr> </tbody></table>

    <center> มงคลยอดชีวิตข้อ ๖ </center>
    <center> อตฺตสมฺมาปนิธิ - การตั้งตัวถูก </center> ดูเถิด หนุ่มสาวบางคนยากจน เข้าโรงเรียนแห่งความตรากตรำลำบากยากเข็ญ เริ่มขึ้นชีวิตลงด้วยการปัดกวาดเช็ดถู มีแต่คนผู้ดูหมิ่นเหยียดหยาม ประหนึ่งว่าม้าสีดำหามีใครกล้าแทงมิได้ แต่เป็นม้าตัวชนะเลิศในที่สุด
    ดูอีกที หนุ่มสาวบางคนเกิดมาบนกองเงินกองทอง มีโชคลาภรอคอยอยู่ทุกเมื่อ ถึงแก่ทำให้เขาทะนงตัวโอ้อวดว่า ประโยชน์อะไรเล่าที่จะตื่นแต่เช้าไปทำงาน ในเมื่อข้ามีเงินทองพอเลี้ยงตัวไปได้ตลอดชีวิต แต่เพราะความทะนงตัวโอ้อวดนั่นเอง ให้เขาไม่ต้องทำงานอะไร มัวเพลินใช้แต่ทรัพย์เก่า ซึ่งแม้ทรัพย์ใหม่ก็ไม่มีมา บั้นสุดท้ายเขาจึงกลายเป็นผู้ดีกลับตกยาก
    นี่ปัญหาชีวิต ผู้รู้สึกตัวอาจแก้ปัญหาตก แต่ผู้ลืมตัวมัวเพลิดเพลินไม่คิดจะแก้ เพราะหลงงมอยู่ในกองเงินกองทองของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่หาไม่และทรัพย์สิ้นแล้ว เขาก็ตกระกำลำบากในภายหลัง การละโทษและการอบรมคุณความดี เป็นวิธีแก้ปัญหาชีวิต ผู้ละโทษได้เท่าใด อบรมคุณความดีได้เท่านั้น ชื่อว่าแก้ปัญหาชีวิตตก
    มาเถิด เรามาช่วยกันแก้ปัญหาชีวิต ตามวิธีการที่พระทรงวางไว้ คือ มงคลยอดชีวิตข้อ ๖ นี้ ซึ่งนับเป็นวิธีแก้อย่างดีที่สุด เรียกตามภาษาบาลีว่า "อัตตสัมมาปณิธิ" แปลโดยพยัญชนะ "การตั้งตนไว้ชอบ" แปลโดยอรรถว่า "การตั้งตัวถูก" เมื่อเราจะแก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีตั้งตัวถูกนั้น ควรทำความรู้จักตนเสียก่อน คือในมังคลัตถทีปนีว่า จิตและอัตภาพทั้งหมด ชื่อว่าตนหรือตัว และท่านแก้การตั้งตัวไว้ว่า ผู้ไม่มีศีลตั้งใจรักษาศีล ผู้ไม่มีศรัทธาตั้งใจปลูกศรัทธา ผู้ตระหนี่ตั้งใจบริจาคทาน ชื่อว่าตั้งตัวถูก
    แต่การตั้งตัวนี้ คนโดยมากมักเข้าใจว่าตั้งตัวภายนอก เช่น ตั้งหลักฐานก่อร่างสร้างตัวให้เป็นหลักแหล่ง มีครอบครัวเป็นเนื้อเป็นตัว มีบ้านเป็นสำนักมั่นคง มีที่ดินเรือกสวนไร่นาเป็นของตน มีการอาชีพเป็นหลักแน่นอน ทำการอาชีพที่เป็นหลักทรัพย์ และมีการงานเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนการตั้งตัวในที่นี้ หมายเอาการตั้งตัวภายใน คือ ตั้งในตัวเราเอง ซึ่งเป็นระยะที่ต้องการก่อน เพราะเมื่อมีการตั้งตัวภายในแล้ว การตั้งตัวภายนอกก็พลอยมีมาตามด้วย ท่านรวมจิตกับอวัยวะทุกส่วนเข้าเป็นตัวเรา เพื่อให้เข้าใจง่าย จะแยกตัวเราออกเป็นที่ตั้ง๓ ส่วน คือ ส่วนกาย ส่วนวาจา และส่วนใจ การตั้งตัวถูกนั้น ก็คือ
    ๑. ตั้งกายถูก
    ๒. ตั้งวาจาถูก
    ๓. ตั้งใจถูก
    ๑. ตั้งกายถูก คือ ตั้งกายลงในระเบียบของกาย การปรับปรุงท่วงทีและกิริยาให้ดีงามเรียบร้อยโดยเว้นทำชั่ว ประพฤติดีด้วยกาย อย่างน้อยให้ไม่มีชนิดที่เรียกว่าลามก สกปรก โสมมทางกาย นี่คือ ระเบียบของกาย จำแนกออกเป็น ๒ คือ
    ๑.๑ ระเบียบท่วงที ท่าทางหรือท่าทีแห่งอวัยวะที่แสดงออก มียกมือและยกเท้าเป็นตัวอย่างจัดเป็นท่วงที การวางท่วงทีให้เหมาะกับฐานะและภูมิรู้ของตน นี่คือระเบียบท่วงที การวาง ท่วงทีแห่งอวัยวะให้ถูกระเบียบนี้ จัดเป็นมงคล ถ้าวางท่วงทีให้สูงเกินหรือต่ำกว่าฐานะและภูมิรู้ของตน ก็เป็นอัปมงคล ไม่เรียกว่าระเบียบท่วงที ดูเถิด คนผู้มีฐานะต่ำมีความรู้น้อย แต่ชอบอวดอ้างฤทธา ศักดานุภาพจนเกินตัว เหมือนแมลงป่องอวดพิษที่หาง นี่คือคนนอกระเบียบ เป็นคนกาลกรรณีมีอัปมงคลอยู่ในตัว ตรงข้ามกับพญานาคที่มีพิษร้ายแรง แต่ไม่เย่อหยิ่งจองหองแม้ในที่ใดๆ เห็นสมกับคำโคลงโลกนิติว่า
    นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
    เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า
    พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง
    ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี
    ระเบียบท่วงทีสำคัญที่สุด เป็นเครื่องสมัครสมานไมตรี โน้มน้าวคนให้เคารพนับถือและสามัคคีกัน ถ้าเราวางท่วงทีพลาดอาจจะเกิดโทษ ทำให้สังคมต้องแตกแยกกันได้ เป็นทำนองเข้าที่ไหนบ่อนแตกที่นั่น เราจึงควรระมัดระวัง อย่าวางท่วงทีให้เป็นการดูหมิ่นถิ่นแคลนกัน และอย่าให้เป็นการทะนงตัว ถึงกับตีราคาตนว่าวิเศษกว่าใครหมด ควรกำหนดไว้ในใจเสมอว่า ไม้ล้มข้ามเถิด คนล้มอย่าเพิ่งข้าม
    ไม้ล้มข้ามไต่ได้ โดยหมาย
    คนพลาดล้มข้ามกลาย ห่อนได้
    ทำชอบชอบห่อนหาย ชอบกลับ สนองนา
    ทำผิดผิดจักให้ โทษร้ายถึงตน
    คนผู้ทะนงตัวว่ามีความรู้ เป็นคนมั่งมี เรืองอำนาจวาสนา มักตีราคาตนว่าวิเศษกว่าใครหมด ชอบเหยียดหยามผู้อื่นที่ตนเห็นว่าด้อยกว่า นี่คือเหตุก่อให้เกิดรอยร้าวขึ้นในระหว่างกัน มีเยาวชนบางคนพยายามทำท่าเบ่ง เขย่งฐานะขึ้นให้สูงโดยอาการต่างๆ เช่นคนจนแต่แสดงท่าทีเป็นคนมั่งมี คนต่ำศักดิ์ทำท่าทางวางโตเป็นคนสูงศักดิ์ หลอกตัวเองและคนอื่นในกรณีที่ไม่เป็นจริง ชื่อว่าอาจเอื้อมในสิ่งที่สุดเอื้อม ผลสุดท้ายก็หมดหวังต้องเศร้าใจ แทนที่จะได้ศิริมงคลมาเป็นสมบัติ ก็กลับตกอับเกิดอัปมงคลขึ้นในตน
    ดังนั้น เมื่อเราจะวางท่วงทีให้เหมาะกับฐานะและภูมิรู้ของตน จึงควรอาศัยความรู้สึกผิดชอบ ซึ่งความรู้สึกผิดชอบตามลักษณะของคนทั่วไปนั้นมีอยู่ ๔ ชนิด คือ รู้สึกผิดชอบช้าแล้วสารภาพ รู้สึกผิดชอบเร็วแล้วสารภาพ รู้สึกผิดชอบช้าแล้วไม่สารภาพ และรู้สึกผิดชอบเร็วแล้วไม่สารภาพ แต่ในที่นี้ มุ่งให้รู้สึกผิดชอบ จะช้าหรือเร็วแล้วสารภาพเป็นสำคัญ จงรักษาท่วงทีของท่านให้ดี ถ้าท่านไม่มีระเบียบท่วงที ไม่เร็วก็ช้าจะเกิดอัปมงคลขึ้นในตัวเอง ทำให้ท่านต้องอับอายขายหน้า
    ๑.๒ ระเบียบกิริยา อาการของอวัยวะร่างกาย ที่เคลื่อนไหวออกมาให้ปรากฎแก่มวลชน เรียกว่ากิริยา พึงทราบว่ากิริยานี้เป็นคู่กับท่วงที เมื่อมีท่วงทีแล้วก็มีกิริยาตามมาด้วย ดังคำกลอนบทเพลงว่า "ดอกเอ๋ยดอกรัก รูปทรงวงพักตร์ช่างงามสม ท่วงทีกิริยาก็น่าชม ดังล่องลมลอยฟ้ามาสู่ดิน" การปรับปรุงกิริยาให้เรียบร้อยเข้าแบบฉบับ เป็นกิริยางาม กิริยาดี กิริยาอ่อนโยน และกายสุจริต นี่คือระเบียบกิริยา
    กิริยางาม กิริยาจะงามหรือไม่งาม ย่อมขึ้นอยู่แก่กาลเทศะ โลกในสมัยก่อนโน้นนิยมกิริยา ค่อยๆกระต้วมกระเตี้ยมกรีดกรายว่าเป็นกิริยางาม แต่โลกสมัยปัจจุบันกลับเห็นว่า กิริยาเช่นนั้นอยู่ข้างงุ่มง่าม หรือเนิบนาบเงื่องหงอยไม่น่าดู ที่จริงความงามหาได้เป็นมิตรกับความงุ่มง่ามไม่ ผู้ใดไม่ก้าวเท้าอย่างกระฉับกระเฉงผู้นั้นมักจะถูกติว่าอยู่ข้างงุ่มง่าม
    นักปราชญ์ทางเวชศาสตร์ว่า "กิริยาค่อยๆเยื้องกรายนั้น เป็นเหตุให้เงื่องหงอย กิริยาเงื่องหงอยเป็นเหตุให้ร่างกายไม่ได้ออกกำลังพอเพียงแก่ความต้องการของ ธรรมชาติ ซึ่งเป็นสมุฎฐานให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและอายุสั้น" แม้นักปราชญ์ทางจิตศาสตร์ก็มีมติต้องกันว่า "กายหงอยจิตก็หงอย จิตหงอยเป็นจิตอ่อนแอ และจิตอ่อนแอนั้น ก็คือจิตทำอะไรไม่สำเร็จ"
    มวลชนในอารยสมัย นิยมกิริยาที่ประเปรียวกระฉับกระเฉง มีส่วนสัดกระทัดรัดได้รูปได้ทรงว่าเป็นกิริยางาม มิใช่กิริยาเงื่องหงอยกระต้วมกระเตี้ยมงุ่มง่าม โกงโก้โกงกุกแข็งกระด้าง หรือโก้งเก้ง ไม่เข้าจังหวะจะโคน ถ้าอ่อนก็อ่อนโยนละมุนละม่อม และแข็งแรงปราดเปรียวว่องไว มิใช่อ่อนอย่าง ปวกเปียก
    ส่วนกิริยาที่นับว่างามนั้น อยู่ที่เหมาะกับบุคคล สถานที่ และกาลสมัย ดังนั้นเมื่อเราจะแสดงกิริยาอย่าลืมว่า เวลาเข้าหาพระสงฆ์ ไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ เข้าเฝ้าเจ้านาย ไปในสมาคมต่างชาติ ในที่ประชุมและงานพิธีรีตองใดๆ จำจะอนุโลมตามให้เหมาะกับบุคคลและกาลเทศะ ควรไหว้ก็ไหว้ ควรคำนับก็คำนับ ควรหมอบกราบก็หมอบกราบ หรือความเคารพอย่างอื่นที่ปราชญ์นิยมก็ควรทำ จึงจะเกิดศิริมงคลแก่ตน
    คนเราแรกพบปะกัน รูปร่างเป็นสิ่งสะดุดตาก่อนอื่น ถัดมากิริยาท่าทีคำพูด ถัดเข้าไปถึงนิสัยใจคอเป็นขั้นที่สุด จริงอยู่ คนเราเกิดมาจะเลือกรูปพรรณสัณฐานเอาตามใจชอบหาได้ไม่ แล้วแต่กรรมจะแต่งมาให้เป็นคนรูปงามบ้าง ขี้ริ้วขี้เหร่บ้าง ผู้มีรูปงามเหมือนดอกไม้มีสีสัณฐานงาม ย่อมเป็นที่นิยมชวนชมของผู้ได้เห็นคนรูปทรามเหมือนดอกไม้มีสีสัณฐานไม่งาม ก็ไม่เป็นที่ชวนชมของผู้พบเห็น
    กิริยางามดีกว่ารูปงาม เพราะกิริยางามแม้รูปขี้ริ้วขี้เหร่ ก็ยังนับว่างามชวนให้คนนิยม เหมือนทุเรียนเสี้ยนนอกแต่เนื้อในดี ชั้นที่สุดยังเป็นที่ให้คนเขาเมตตากรุณา ชวนให้เขาเอาใจใส่ดีกว่าคนรูปงามทรามกิริยาถ้ายิ่งมีรูปงามประกอบด้วย ก็เหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว ยิ่งชวนให้มวลชนนิยมมากขึ้น
    คนรูปงามแต่ทรามกิริยา จะนับเป็นคนงามยังไม่ได้ เพราะรูปงามกิริยาทรามนั้น เป็นเพียงให้เขาชมว่าสวย แต่หามีใครชมว่าดีไม่ เหมือนผลมะเดื่อสุก ข้างนอกแลดูงามแต่เนื้อในเสีย เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน สู้แต่คนรูปทรามงามกิริยามิได้ ถ้ายิ่งมีรูปไม่สมประกอบด้วยแล้ว ก็เป็นเหมือนดอกอุตพิดมี กลิ่นเหม็นคล้ายอาจมซึ่งยิ่งอาภัพเพิ่มให้น่าเกลียดชังซ้ำไป ดูเอาเถอะ ดอกไม้ที่มีสีงามแต่ไร้กลิ่นหอม จะสู้ดอกไม้ที่มีสีไม่งามแต่มีกลิ่นหอมไม่ได้ ยิ่งมีกลิ่นเหม็นบวกเข้าด้วย ก็ยิ่งซ้ำร้าย ไม่มีใครต้องการเลย
    กิริยาดี กิริยาที่อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม มีลักษณะสงบเสงี่ยมเรียบร้อย เจียมตัว โอบอ้อมอารี กรุณาปรานี และเอื้อเฟื้อ เมื่อแสดงออกมาปราศจากกิริยาหยาบ กิริยาแข็งกระด้าง กิริยาชั่วช้า เลวทราม และกิริยาทะลึ่งตึงตัง นี่คือกิริยาดี
    คนนิสัยหยาบชอบแสดงกิริยาเลวทราม ซุ่มซ่ามลวนลามล่วงเกินคนอื่น เช่นยื่นของส่งของด้วยอาการเสือกไส พร้อมทั้งถ้อยคำไม่น่าฟัง หลีกคนไปด้วยอาการกระทบไหล่ข้ามกราย เดินเฉียดหรือยืนใกล้ชิดผู้คนที่นั่งอยู่ โดยทำนองเดินข้ามศีรษะ หรือยืนปักศีรษะ
    คนนิสัยหยาบบางคนชอบลุกลน แหวกผู้คนไปไม่ขอไม่ร้อง เมื่อนั่งหรือยืนกีดทางคนเดินไปมา ซึ่งตนควรหลีกก็ไม่หลีก ทำเป็นเฉยเสีย ถ้ามีแขกใครไปมา ควรจะแสดงกิริยาต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี ก็กลับแลดูตาเขม็ง แสดงอาการทะลึ่งตึงตัง และละลาบละล้วงล่วงเกิน
    คนนิสัยแข็งกระด้าง ชอบแสดงอาการกำแหง หัวแข็งเย่อหยิ่งจองหอง จะทำอะไรเป็นไม่เว้นว่าจะตีตนเหนือคนอื่น แม้จะทำดีก็ยากจะให้เขาผูกใจรัก และชอบถือตัวจนเลยเถิด ด้วยมาสำคัญผิดว่า การถ่อมตัวเป็นการลบหลู่ตนเอง เหยียดตนเอง ไม่นับถือตนเอง แต่การถ่อมตัวคือการไม่ถือตัวให้เกินงาม และไม่ลดตัวลงให้เกินควร มิใช่ไม่นับถือตนเอง กลับจะเป็นอุบายปิดช่องโหว่ให้คนอื่นไม่ดูหมิ่นเสียอีก ส่วนคนนิสัยแข็งกระด้างได้เข้าใจผิด จึงนับถือตัวเองเกินส่วน จนกลายเป็นคนแข็งกระด้าง ซึ่งทำตนให้เป็นศัตรูแก่ตนเอง
    คนนิสัยหยาบและแข็งกระด้าง นับเป็นอัปมงคลทั้งตัว นำให้เขาแสดงกิริยาเลวทรามยั่วให้ผู้อื่นเกลียดชังน้ำหน้า ห้ามให้ผู้อื่นไม่ปองตีสนิทเข้าใกล้ชิด เป็นอันขับไล่ตัวเองออกจากสังคม ส่วนผู้มีกิริยาดี อาศัยกิริยาดีเป็นเครื่องประดับนับว่ามีมงคลอยู่ในตัว ชวนให้คนนิยมยินดีปองตีสนิทด้วย ดูอีกที ผู้มีกิริยาชั่ว ชื่อว่ามีอัปมงคลอยู่ในตัว เป็นศัตรูแก่ตัวเอง เพราะความดีแท้ๆที่ทำด้วยกิริยาชั่ว ความดีนั้นจะเสื่อมถอย ส่วนผู้มีกิริยาดี ชื่อว่าเป็นมงคลสิ้นทั้งตัว เป็นมิตรแก่ตัวเอง ช่วยเป็นกำลังต่อสู้กับความติดขัดบรรดามี ทำความตกลงร่วมใจกันให้การงานดำเนินสะดวก
    ดังนั้น การแสดงกิริยามารยาทแก่กันจึงเป็นของสำคัญ ควรระมัดระวังให้จงหนัก เช่น เมื่อเพื่อนร่วมบ้านมีความขัดข้องบางประการ มุ่งมาขอความช่วยเหลือ ถ้าท่านให้เขาด้วยกิริยาเสือกไส หรือด้วยกิริยาบูดบึ้งซึ่งส่ออัธยาศัยว่าไม่เต็มใจจะให้เช่นนี้ นี่คือกิริยาอัปมงคล เพราะทำคุณด้วยความบาดหมาง คุณอันพึงจะได้รับแม้จะมาก ก็อ่อนลงยังเหลือแต่น้อย
    เมื่อท่านให้ด้วยกิริยาดี แสดงว่าให้เขาด้วยเมตตากรุณา หวังช่วยเขาผู้มีธุระทุกข์ร้อนและขัดข้องจริงหามุ่งเอาผลประโยชน์อะไรจากเขา มิได้เช่นนี้ นี่คือกิริยาเป็นมงคล เพราะทำคุณด้วยมิตรภาพ อุปการคุณนั้นแม้จะเล็กน้อย ก็จะเป็นเหตุเตือนให้เขามีใจจงรักภักดีกตัญญูต่อท่าน
    กิริยาอ่อนโยน กิริยาที่แสดงออกมา เป็นสัมมาคารวะ นอบน้อม อ่อนละมุนละไม ต่อผู้ใหญ่ ผู้เสมอกัน และผู้น้อย หรือผู้มีฐานะต่ำกว่า ไม่ดื้อดันขันแข็งและเย่อหยิ่งด้วยถือทิฎฐิมานะ นี่คือกิริยา อ่อนโยน ซึ่งตรงข้ามกับกิริยาแข็งกระด้าง อันนำให้เป็นคนหัวดื้อถือดี ชอบแสดงกิริยาทะนงตัวหัวแข็ง ดื้อด้านดันทุรัง ว่ายาก สอนยาก ไม่ยอมเชื่อฟังใคร เชื่อแต่ตัวว่าเป็นคนดีคนสูงกว่าใครหมด
    กิริยาอ่อนโยนย่อมเป็นมงคลอยู่ในตัว เพราะเปิดประตูรับความเจริญ เป็นเครื่องหมายของความดี เมื่อมีในผู้ใดย่อมประกาศลักษณะของผู้นั้นว่าเป็นคนดี เมื่อไม่มีในผู้ใดก็บอกว่าผู้นั้นหมดสง่าราศี เหมือนบ้านเรือนไม่มีที่บูชา ส่อว่าไม่ใช่พุทธศาสนิกชน ส่วนกิริยาเย่อหยิ่งเป็นอัปมงคลอยู่ในตัว เพราะเปิดประตูรับความเสื่อม ดังนั้นทุกคนควรเปิดประตูความเจริญ และปิดประตูความเสื่อมเสีย จึงจะได้พบศิริมงคล
    กายสุจริต ผู้แสดงกิริยาให้เคลื่อนไหวชอบ เป็นเมตตากายกรรม หวังเกื้อกูลกันด้วยเมตตากรุณา ให้ความสุจริตแก่ชีวิตอิสระเสรีของเขา และช่วยทุกข์หรือชีวิตของเขาที่ได้รับทุกข์หรือใกล้อันตรายแห่งชีวิต ไม่ทำใจเหี้ยมโหดดุร้ายล้างผลาญชีวิต และทำร้ายร่างกายของเขา ถือว่าชีวิตอิสระเสรี เป็นของมีค่าสำหรับผู้มีชีวิตก็ดี รักษากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคนอื่น ที่เขาหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ตั้งใจแสวงหาเลี้ยงชีวิตในทางชอบและถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยชอบด้วย กฎหมาย ไม่ลักแย่งจี้ปล้นฉ้อโกงเอามาด้วยอาการแห่งการขโมยก็ดีรักษาความประพฤติของ ตนให้ไม่ผิดในทางประเวณี ตั้งใจสงวนสกุลวงศ์ของเขาและของเราให้บริสุทธิ์ เพื่อความสงบสุขของสังคมก็ดี นี่ชื่อว่ากายสุจริต
    ผู้ตั้งกายลงในระเบียบท่วงที ระเบียบกิริยา คือ กิริยางาม กิริยาดี กิริยาอ่อนโยน และกายสุจริตให้สม่ำเสมอทั้งต่อหน้า และลับหลังแล้ว ชื่อว่าตั้งกายถูก ตามทรรศนะทางพระศาสนา และการตั้งกายถูกนี้แลถือว่าเป็นมงคลชั้นยอดประการหนึ่ง เพราะเป็นเหตุให้คนเลิศในการวางตัวต่อสังคม สมานบุคคลต่อบุคคล หมู่คณะต่อหมู่คณะ แม้ที่สุดระหว่างชาติต่อชาติ นับเป็นประโยชน์แก่หมู่คณะมาก เป็นที่รักของกันและกัน ไม่นิยมชั้น สามารถนำหมู่คณะให้พ้นภัยพิบัติและวัฒนาถาวรได้
    ๒. ตั้งวาจาถูก คือ ตั้งวาจาลงในระเบียบของวาจา คือ วจีสุจริต ได้แก่พูดจริง พูดไพเราะ พูดสมัครสมานสามัคคี และพูดมีประโยชน์ การพูดชอบธรรมชอบวินัยชอบกฎหมาย ไม่ชวนให้ใช้อาชญา ไม่พาให้จับศัตราอาวุธ ไม่ยั่วให้หมองหมาง ไม่เย้าให้แก่งแย่ง ไม่ยุให้ทะเลาะกัน พูดคำมีหลักฐานอ้างอิง ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในเบื้องปลาย พูดคำมีเนื้อมีระเบียบมีกำหนด ถูกกาลเทศะประกอบด้วยเมตตาจิต เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม ชวนให้ผู้ฟังชอบพอรักใคร่ พึงใจ นี่คือระเบียบของวาจา
    วาจาเป็นสิ่งสำคัญของสังคม ผู้มีท่วงทีกิริยาเป็นระเบียบแล้ว แต่วาจาที่กล่าวออกมาไม่มีระเบีบบขาดความสุภาพ ก็จะทำลายท่วงทีกิริยาให้เสื่อมลง และวาจาเป็นของมีค่าสูง เป็นเครื่องวัดภูมิของผู้พูด พึงเห็นในตัวเรา ปากสำคัญกว่าส่วนอื่น มีคนเฝ้าเพ่งเล็งคอยจับคำพูดอยู่ ทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย เหมือนในตัวช้างไม่มีส่วนอื่นใดจะมีค่าสูงเท่างา ดังคำว่า "ฆ่าช้างเอางา เจรจาจะเอาถ้อยคำ" นี่คือ ถ้าพูดดีก็เป็นศิริมงคลแก่ตัว ถ้าพูดชั่วก็เกิดอัปมงคลขึ้นในตัว
    แน่นอน วาจาเท่านั้นที่ทำให้เรารวมกันเป็นหมู่ อยู่ด้วยกันเป็นสันติสุข และวาจาอีกเหมือนกัน พ่นออกมาเพียงคำเดียว ก็อาจพลิกแผ่นดินได้โดยไม่ยาก มิใช่สิ่งที่เข้าไปในปากจะทำให้เราเศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว แต่สิ่งที่ออกจากปากของเราเอง จะทำให้เราต้องเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วได้
    ดังนั้น จึงมีสุภาษิตเตือนให้สังวรอยู่มาก เช่นว่า "ควรเปล่งวาจาไพเราะที่มีประโยชน์ ควรเปล่งวาจาที่ดีงาม ต้องอย่าเปล่งวาจาชั่วเลย เพราะเปล่งวาจาที่ดีงามให้สำเร็จประโยชน์ พูดวาจาชั่วต้องให้เดือดร้อน ควรพูดวาจาที่เป็นเหตุให้ตนไม่เดือดร้อน และไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ควรพูดให้เลยเถิด เมื่อถึงเวลาควรพูดก็พูดวาจาที่พอกำหนดได้ไม่ฟั่นเฝือ ควรพูดวาจาน่ารักที่ผู้ฟังยินดีตอบขอบใจ" เมื่อเราตั้งวาจาลงในระเบียบของวาจา ชื่อว่าตั้งวาจาถูก แม้เมื่อเราตั้งวาจาลงในวจีสุจริต ก็ยิ่งตั้งวาจาถูก ตามทรรศนะทางพระศาสนา
    ผู้แสดงวาจาให้เคลื่อนไหวชอบ เป็นเมตตาวจีกรรม รักษาถ้อยคำของตนให้ได้จริง ไม่เป็นการว่าร้ายป้ายสีใคร ถือสัญญาและปฏิญาณที่ทำไว้ไม่บิดพลิ้ว ชักชวนกันให้ตั้งอยู่ในความสามัคคีส่วนที่ชอบ เจรจาไพเราะอ่อนหวานนุ่มนวลชวนฟัง พร้อมกับมีมรรยาทเรียบร้อยอ่อนโยน แสดงความสมัครรักใคร่คุ้นเคยกัน พูดถ้อยคำเป็นประโยชน์ชอบธรรม และชักนำกันให้ละชั่วประพฤติดี ไม่ทำอันตรายแก่ตนและคนอื่น แม้ด้วยถ้อยคำสนทนาปราศัย เว้นการทับถมคนอื่นเพื่อเพิ่มรัศมีศรีศักดิ์ของตน แต่เป็นการทำลายเขา ซึ่งตนจะต้องใช้ค่าเสียหายนั้นเสีย เมื่อพูดแล้วให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง และเป็นศิริมงคลแก่ตัว มีคติเป็นสุภาษิต ปราศจากโทษเครื่องเศร้าหมองของวาจา นี่ชื่อว่าตั้งวาจาลงในวจีสุจริต
    ผู้ตั้งวาจาลงในระเบียบของวาจา และวจีสุจริต ชื่อว่าตั้งวาจาถูก และการตั้งวาจาถูกนี้ก็จัดเป็นมงคลชั้นยอด เพราะเป็นเหตุให้ผู้พูดไม่เดือดร้อน และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนคนอื่นด้วย
    ๓. ตั้งใจถูก คือ ตั้งใจลงในระเบียบของใจ ใจมีอาการซุกซนเหมือนลิง ชอบจับโน่นจับนี่ ไปนั่นมานี่ไม่หยุดหย่อน เพื่อจะป้องกันความซุกซนของใจ พึงวางระเบียบของใจ ตั้งสติเป็นพี่เลี้ยงครองใจ คอยควบคุมไว้ให้อยู่ในระเบียบ เมื่อใจที่ยังไม่ได้อบรม ขาดสติหรือเผลอตัวในขณะใด จะแหกคอกออกจากระเบียบในขณะนั้น แล้วเข้าไปเกลือกกลั้วกับความชั่วทันที ถ้าใจเข้าไปหมกมุ่นเกาะอยู่ในความชั่วนานแล้ว ก็ยากที่จะแกะหรือต้อนออกได้ ดังนั้นเมื่อจะทำให้จิตดีเสมอต้นเสมอปลาย จึงต้องคอยถ่างสติคุมใจอยู่ทุกขณะ จนกว่าใจจะเกาะความดีติดเป็นนิสัย
    การใช้อุบายเปลี่ยนใจให้ดีด้วยใช้สติคุม และเปลี่ยนใจให้ดีมั่นคงด้วยใช้ภาวนา เพาะกำลังใจให้กล้าแข็ง มีสติคุ้มครอง ไม่ยอมตามใจ มีอำนาจเหนือใจ เป็นใหญ่แก่ใจตนเอง เมื่อจับสิ่งใดต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จอบรมใจให้มีเมตตาต่อปวงมนุษย์และ สัตว์ มีฉันทะทำแต่ความดี บึกบึนไม่ท้อถอย ฝึกหัดใจให้กล้าหาญไม่รู้จักกลัว ให้เย็นเป็นน้ำ ให้บริสุทธิ์จากมลทินทั้งหลาย และเบิกบานแช่มชื่นในเมื่อมีทุกข์ร้อน นี่คือระเบียบของใจ
    หลักธรรมดามีว่า ทุกสิ่งในโลกนี้ ถ้าไม่ก้าวหน้าจะต้องถอยหลัง หรือไม่เจริญจะต้องเสื่อมลง ใจคนเราก็เช่นกัน ถ้าไม่ยิ่งวันยิ่งดีขึ้น ก็ยิ่งวันยิ่งเสื่อมลง เพราะใจมีกิเลสเป็นม่านกั้นไว้ให้ไม่คิดถึงคุณความดี จำต้องทำลายม่านกั้นนั้นเสีย ด้วยวิธีฝึกฝนอบรมใจให้ก้าวไปสู่จุดที่หมายคือใจดี ตามหลักการอบรมดังต่อไปนี้
    ๓.๑ จงรักสัจจะเท่ากับชีวิต ตั้งสัจจะลงให้มั่น บูชาความจริง พูดจริง ทำจริง และปักใจเรียนแต่สิ่งที่จริง อย่าปล่อยตัวให้เป็นสวะลอยตามลมตามน้ำ
    ๓.๒ จงมีสติสัมปชัญญะครองตน อย่าฝืนความรู้สึกผิดชอบ จงพร้อมที่จะแบกภาระรับผิดชอบ และยอมรับผิดในความผิดของตน
    ๓.๓ จงมีความเชื่อในคนทุกคน อย่าดูหมิ่นถิ่นแคลนคนอื่น จงเห็นว่าคนอื่นที่เชื่อถือได้ก็มีอยู่จำนวนมาก
    ๓.๔ จงเชื่อตนเอง เชื่อความสามารถของตนเอง ให้มีความไว้ใจตนเอง อย่าดูถูกตนว่าจะทำอะไรกับเขาไม่ได้
    ๓.๕ จงซื่อตรงต่อตนเอง อย่าเท็จอย่าล่อลวง และดื้อด้านต่อใจตัวเอง เมื่อสัญญาแก่ใจไว้ว่าจะทำอย่างใด จงทำอย่างนั้น รู้ว่าอะไรผิด อย่าหาอุบายมาพูดหลอกตัวเองให้เห็นเป็นชอบ และ รู้อะไรชั่ว ก็อย่าฝ่าฝืนทำไปทั้งที่รู้ๆ
    ๓.๖ อย่าปล่อยให้อคติเพราะชอบกัน ชังกัน โง่เขลา และเกรงกลัว เข้าครอบงำใจในการทำกิจทุกอย่าง แม้จะวินิจฉัยข้อความอันใด จงพยายามใช้ความยุติธรรมให้ชัดแจ้งแจ่มใส
    ๓.๗ จงถ่อมตัวเหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทอง อย่าเหยียดชีวิตตนเอง อย่าถือตัวทะนงตน หรืออย่าดันทุรังหลงผิดฝืนเท็จเป็นจริง
    ๓.๘ อย่าดูแคลนสิ่งใดๆ ว่าเป็นของเก่า จงเชื่อว่าของเก่า เช่นข้อธรรม หรือสุภาษิตโบราณของนักปราชญ์ มีค่าควรเมือง ก็มีมากมาย
    ๓.๙ อย่าเห็นชอบด้วยสิ่งใดๆ ว่าเป็นของใหม่ ก่อนจะวินิจฉัยตัดสินใจลงไป จงใช้ปัญญาพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะของใหม่ที่ดีก็มี ไม่ดีก็มี
    ๓.๑๐ จงเป็นคนตรงต่อเวลา เวลาที่เริ่มก้าวไปข้างหลังนั้น คือเดี๋ยวนี้ เวลาที่จะให้โอกาสแก่ท่านคือวันนี้ การผลัดวันเลื่อนไป คือการปล้นโอกาสอันดีของท่านโดยตรง
    ๓.๑๑ จงอบรมใจให้กล้า กล้าที่จะคิดอะไรใหม่ๆ กล้าที่จะตัดสินใจในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นประจันหน้า กล้าลงมือทำการตามเป้าหมายของตน แต่อย่าขบปัญหาใดๆด้วยการเร่งร้อน จงตกลงใจในข้อนั้นๆโดยอุบายที่แยบคายและถี่ถ้วน
    ๓.๑๒ เมื่อมีคุณธรรมใดๆอยู่ในตนแล้ว จงดำรงชีวิตอยู่ด้วยคุณธรรมนั้นๆ ถ้าละทิ้งคุณธรรมนั้นเสีย ก็เสมือนดับไฟในที่มืด แล้วสมัครงมงายไปกลางมืด
    ๓.๑๓ จงหมั่นเอาใจใส่เรียนรู้ข้อธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และบรรดาภาษิตของนักปราชญ์โบราณทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดปัญญา ดุจดวงไฟที่ส่องให้แลเห็นทางเดินในเวลากลางคืนเดือนมืด
    ๓.๑๔ จงมอบตัวอยู่ในความดีทั้งหลาย อย่าได้ฝืนสิ่งที่ดีงามใดๆ จงกล้าทำความดีทั้งหลายถ้าท่านขาดขวัญและน้ำใจที่กล้าแล้ว แม้จะมีกำลังกายแข็งแรง ก็ล้มเหลวทำอะไรไม่ได้
    ๓.๑๕ จงสอบความคิดความเห็นของตนกับคนอื่น อย่าเห็นเป็นคนเลิศไปทุกอย่าง จงเทียบเคียงความคิดความเห็นของคนอื่นกับของตนให้ถี่ถ้วน
    ๓.๑๖ จงเร่งเรียนรู้หน้าที่ของตน เมื่อรู้แล้วจงเร่งปฏิบัติโดยฉับพลัน หน้าที่นั้นคือหน้าที่ต่อธรรมชาติ มนุษย์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐบาล ครอบครัว มารดา บิดา ตัวเอง ผู้อื่น จงใส่ใจเรียนรู้หน้าที่เหล่านี้ เมื่อรู้แล้วจงปฏิบัติตามทันที
    เมื่อใจได้รับอบรมในหลักการเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นใจมีระเบียบ ใจมีระเบียบนี้เป็นยอดแห่งใจทั้งหลายเพราะเป็นใจมีกำลังเด็ดเดี่ยวมั่นคง ไม่ผลุนผลันพลันแล่นไปตามอารมณ์ที่มากระทบกระทั่งยียวนผลักไส มี ดวงปัญญาสว่างแจ่มใส เห็นอรรถเห็นธรรม จับเหตุจับผล และวินิจฉัยได้ถูกต้อง สามารถขจัดความชั่วที่จะมาทำให้เสียระเบียบได้ เมื่อเราตั้งใจลงในระเบียบของใจดังกล่าวแล้ว ชื่อว่า ตั้งใจถูก แม้เมื่อเราตั้งใจลงในมโนสุจริต ก็ยิ่งตั้งใจถูกตามทรรศนะทางพระศาสนา
    ผู้แสดงน้ำใจให้เคลื่อนไหวชอบ เป็นเมตตามโนกรรม ไม่เอาสุจริตไว้ที่ริมฝีปากเพื่อลวงคนอื่น โดยซ่อนความทุจริตไว้ลึก แสร้งทำเป็นหน้าไหว้หลังหลอก ซึ่งภายนอกดูสดใส แต่ภายในอยู่ข้างระยำอำมหิต รู้จักประมาณตน พอใจในกิจการของตนที่เป็นอยู่ มีสันโดษหล่อเลี้ยงน้ำใจให้แช่มชื่น อดทน ต่อสู้กับโลภโมห์โทสันคอยยับยั้งใจไว้ไม่คิดโลภเพ่งเล็งเอาของเขา ยินดีในสมบัติของตนที่หามาได้โดยชอบ ไม่ก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในหน้าที่ของตน และไม่ทะเยอทะยานอันจะทำให้คนอื่นต้องเสียหาย ไม่คิดปองร้ายกันด้วยใจเหี้ยมโหดมีเมตตาหวังความสงบสุขแก่กัน และเห็นชอบตามคลองธรรม ซึ่งนำให้ตนคิดชอบทำชอบพูดชอบ นี่ชื่อว่าตั้งใจลงในมโนสุจริต
    เมื่อเราตั้งใจลงในระเบียบของใจและในมโนสุจริตแล้ว ชื่อว่าตั้งใจถูก แม้การตั้งใจถูกนี้ก็เป็นมงคลชั้นยอด เพราะเป็นเหตุให้ลุถึงความเจริญก้าวหน้า ยิ่งกว่าพ่อแม่พี่น้องจะทำให้ได้เป็นไหนๆ ตรงข้ามกับการตั้งใจผิด ซึ่งนับเป็นตัวอัปมงคล ทำความเสื่อมเสียแก่ตัวเอง ร้ายยิ่งกว่าโจรหรือคนคู่เวร เห็นกันเข้าแล้วจะพึงทำความย่อยยับแก่กันเสียอีก
    ประมวลความว่า การตั้งกายในระเบียบของกาย คือระเบียบท่วงที ระเบียบกิริยา และในกายสุจริตก็ดีการตั้งวาจาในระเบียบของวาจา และในวจีสุจริตก็ดี การตั้งใจในระเบียบของใจ และในมโนสุจริตก็ดี รวมเรียกว่าอัตตสัมมาปณิธิ คือการตั้งตัวถูก การตั้งตัวถูกนี้เอง พระพุทธองค์ตรัสว่า "เป็นมงคลยอดชีวิต"
    อนึ่ง การตั้งตัวผิดที่ตรงข้ามกับการตั้งตัวถูกนั้น คือตั้งกายนอกระเบียบของกาย และประพฤติกายทุจริต คือชอบฆ่าเขา ชอบลักของเขา ชอบล่วงประเวณีระหว่างผัวเมียเขาก็ดี ตั้งวาจานอกระเบียบของวาจาและประพฤติวจีทุจริต คือ ชอบพูดปด ชอบพูดส่อเสียด ชอบพูดหยาบ ชอบพูดเพ้อเจ้อก็ดี ตั้งใจนอกระเบียบของใจ และประพฤติมโนทุจริต คือ โลภอยากได้ของเขา ปองร้ายเขา เห็นผิดจากคลองธรรมก็ดี รวมเรียกว่าการตั้งตัวผิด และการตั้งตัวผิดนี้ จัดเป็นอัปมงคลชั้นยอด คือยอดชั่วยอดเลว และยอดอัปรีย์จัญไร
    ดังนั้น เมื่อเราทุกคนชอบมงคล และเกลียดอัปมงคลแล้ว จึงควรตั้งกายวาจาและใจให้ถูกต้องตามวิธีที่บรรยายมา และหลีกเลี่ยงการตั้งกายวาจาและใจผิดเสีย ก็จะลุถึงมงคลชั้นยอดได้สมประสงค์จำนงหมายทุกประการ

    <table border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="500"> <tbody><tr> <td align="center">*********</td> </tr> </tbody></table>
     

แชร์หน้านี้

Loading...