ดวงตาเห็นธรรม ๒ (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 4 ธันวาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ดวงตาเห็นธรรม ๒
    พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)



    ต้นเหตุของการเกิดโลก

    ต้น เหตุที่โลกจะเกิดขึ้นมา ก็เกิดจากความอยาก ถ้าดับความ อยาก ก็คือ ดับโลก ความอยากเป็นบ่อเกิดของโลกทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติแล้ว เราจึงเดินทางศีล สมาธิ ปัญญา นี่ ท่านว่าโลกธรรมแปดและมรรคแปดเป็นของคู่กัน ทำอย่างไร จึงเป็นของคู่กัน ถ้าหากว่าเราพูดทางปริยัติของเราแล้ว ก็พูดได้ว่า ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา นี่ก็แปดอย่าง ในทางโลก ส่วนในทางธรรม ก็มีมรรคแปด สัมมาทิฐิ สัมมาสังกับโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ รวมแล้วก็แปดอย่างเหมือนกัน

    ทางสองแปดนี่นะมันอยู่ที่เดียวกัน ไม่ได้อยู่คนละที่ พวกยินดี ในลาภ ยศ สรรเสริญ ก็อยู่ในใจนี้ ใจผู้รู้นี้ แต่ผู้รู้นี้มีเครื่องปกปิดเอา ไว้ จึงให้รู้ผิดไป มันก็เลยเป็นโลก ผู้รู้นี้ยังไม่มีพุทธภาวะเกิดขึ้นมา จึง ถอนตัวออกไม่ได้ จิตใจขณะนี้ก็เลยเป็นโลก

    เมื่อเราได้มาปฏิบัติ มาทำศีล ทำสมาธิ ทำปัญญา ก็คือเอา กาย เอาวาจาใจนี้ มาประพฤติปฏิบัติ ที่โลกธรรมมันแฝงอยู่นี้แหละ มาประพฤติปฏิบัติ ที่มันยินดีในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ใน ทุกข์นี้แหละ มาทำลงที่เดียวกัน ถ้าเมื่อเราได้มาทำลงที่เดียวกันนี้ ก็ เลยเห็นกัน เห็นโลก เห็นธรรม มันขวางกันเลยทีเดียว ไม่มีลาภก็คิด อยากได้ลาภ มียศก็ติดยศ มีสรรเสริญก็ติดสรรเสริญ มีสุขก็ติดสุข มี ทุกข์ก็ติดทุกข์ มีนินทาก็ติดนินทา ถ้าเรามาปฏิบัติลงที่ใจของเรา มัน ก็จะได้เห็นโลกธรรมชัด

    ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า สูทั้งหลายจงมาดูโลก อันน่าตระการดุจราชรถ อันพวกคนเขลาทั้งหลายขลุกอยู่ หมกอยู่ แต่ ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ไม่ใช่ว่าท่านให้ไปดูโลกทั้งโลกหรือทั้งประเทศ ไม่ใช่ อย่างนั้น ให้ดูจิตที่มันอาศัยโลกเป็นอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ ให้ดูโลกอยู่เสมอให้ดูจิต พิจารณาถึงโลก เพราะโลกมันเกิดอยู่ที่ใจ ความ อยากเกิดที่ไหน โลกก็เกิดที่นั่น เพราะความอยากเป็นบ่อเกิดของโลก ถ้าดับความอยาก ก็คือดับโลก มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้นเมื่อเรามา ปฏิบัติ แล้วมาเจริญมรรค มานั่งสมาธิ อยากให้มันสงบ มันก็เลยไม่ สงบ ไม่อยากให้มันนึกคิด มันก็นึกคิด

    เพราะไปนั่งใส่รังมดแดง รังมดอยู่ที่นั่นก็เอาก้นไปนั่งทับมัน อย่างนั้นมันก็กัดเอาซิ ใจเรามันเป็นโลกอยู่ มาปฏิบัติมันก็เกิดโลกขึ้น มาเลย ความดีใจ ความเสียใจ ความวุ่นวาย ความเดือดร้อน ก็เกิด ขึ้นมาทันที เพราะอะไรละ? เพราะเราไม่บรรลุถึงธรรม เพราะใจเรา เป็นอยู่อย่างนี้ ผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ ก็เพราะทนโลกธรรมไม่ได้ จึง ไม่ได้พิจารณา ฉะนั้น จึงเหมือนกันกับเราไปนั่งในรังมดแดงนั่นแหละ ก็มดมันอยู่ที่นั่น ไปนั่งที่บ้านของมัน มันก็กัดเอานะซิ ถ้ามันกัดเรา เราจะทำอย่างไรล่ะ? เราก็หาวิธีทำลายมันเสีย เอายามากันมัน กลบ มันเสีย เอาไฟมาเผามันเสีย หรือทำให้หนีจากที่นั่นเสีย

    นี่คือการปฏิบัติ แต่ผู้ปฏิบัติบางคนไม่ได้คิดอย่างนั้น ถ้ามัน ไม่สบายก็ไปกับมันเลย มันว่าสบายก็ไปกับมันเลย ไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา ไปกับมันเลย ไม่พากันระงับเหล่านี้ ดังนั้น มันจึงเป็นโลก

    ฉะนั้นผู้ที่ทดลองปฏิบัติ แล้วพูดว่าปฏิบัติไม่ได้ ไปไม่ได้ ไปไม่ ไหว ก็คือเราไม่ได้พยายามนั่นเอง โลกธรรมแปดประการนี่มันข่ม มรรค ไม่ให้เกิดขึ้นมา จะพยายามอดทนรักษาศีลไม่ได้ จะอดทน พิจารณามันไปอีกก็ไม่ได้ เพราะอะไร ก็เหมือนกับบุรุษที่ไปนั่งในรัง มดแดง ทำอะไรก็ไม่ได้ มันกัด มันไต่ มันนั่น มันนี่อยู่ วุ่นวายต่างๆ นานา แต่ไม่สามารถกำจัดภัยทั้งหลายออกจากที่นั่งของเรา ก็ทนนั่ง อยู่นั่นแหละ ฉันใด นี่ก็เป็นฉันนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นปฏิปักษ์กัน


    เมื่อใดสงบก็อยู่เหนือโลกธรรม

    ฉะนั้น โลกธรรมมันจึงอยู่ที่ใจ เมื่อมาทำใจจะให้มันสงบ มัน ก็เลยพลุ่งขึ้นมาทันที เพราะมันอยู่ที่นั่น เมื่อใจเป็นโมหะเมื่อใด มันก็ เป็นความมืดอยู่ที่นั่น เมื่อใดที่โมหะมันจางไป มันก็รู้ขึ้นมาที่นั่น ได้ ความรู้ว่า ความรู้กับความหลงมันเกิดอยู่ที่เดียวกัน เมื่อความหลง เกิดขึ้นมาแล้ว ความรู้ก็เข้าไปไม่ได้ มันระงับความรู้ไว้เสีย เมื่อความรู้ เกิดขึ้นมาแล้ว ความหลงก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาท่าน จึงให้ปฏิบัติที่ใจ มันเกิดอยู่ที่ใจ โลกธรรมแปดประการมันอยู่ที่นั่น มรรคแปดประการที่เจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะเรามาพิจารณา ด้วยสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ด้วยญาณทั้งหลายทั้งปวง การทำความเพียรกรรมฐานนั้น ก็ช่วยข่มไปเสีย จนความโลภ ความ โกรธ ความหลง ในลาภ ยศ สรรเสริญ เหล่านี้เบาออกไป เมื่อมันเบา ออกไปแล้ว เราก็รู้จัก เมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ มี นินทา มากระทบ เราก็รู้จัก

    เพราะโลกอยู่กับเรา เราอยู่ในโลก อยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา อย่างนี้ เมื่อเราอยู่ เราก็อยู่กับมัน ก็เหมือนกับเราเข้า อยู่ในเรือน เวลาเข้าไปในเรือน เมื่อเวลาเราออกจากเรือน เราก็มี ความรู้สึกว่าเราออกจากเรือน ได้ความสว่าง ไม่มืดเหมือนอยู่ในเรือน อาการที่จิตเข้าไปหาโลกธรรมนั้น มันก็เป็นอย่างนั้น อาการที่จิต ทำลายโลกธรรมแล้วนั้น หรือโลกธรรมห่างจากใจแล้วนั้น
    (หมายเหตุ 11)ก็เหมือนกันกับเรา ออกจากเรือนมา ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงรู้เฉพาะตัว เองว่าโลกธรรมมันหายแล้วหรือยัง มรรคมันเจริญแล้วหรือยัง เมื่อมรรคเจริญขึ้นมาได้เท่าใด มันก็ฆ่าโลกธรรมเท่านั้น มัน จะฆ่าโลกธรรม เบียดเบียนโลกธรรมเรื่อยๆไป ผลที่สุดแล้วมรรคจะ กล้าขึ้นมา คือความเห็นชอบกล้าขึ้นมา ความเห็นผิดไม่ชอบมันก็หาย ไป ผลที่สุดมรรคก็ฆ่ากิเลส แต่ถ้ามรรคอ่อน กิเลสก็ฆ่ามรรค มีสอง อย่างเท่านั้นแหละ ความเห็นผิดและเห็นถูก มีสองอย่างนี้เท่านั้น ความเห็นผิดก็มีวิธีการของมันเช่นกัน ความเห็นผิดนี้มันก็มี ปัญญาเหมือนกัน แต่มันมีปัญญาในทางที่ผิด ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเห็น ถูกเห็นผิดแย่งกันไป ผู้ปฏิบัตินั้นก็จะคล้ายกับคนสองคน คือโลกกับ ธรรม โลกกับธรรมนี้มันแย่งกันเถียงกันไปเช่นนั้น แย่งกันไปเถียงกัน ไป เมื่อใดที่เราพิจารณาดู จะเห็นมันจะแย่งกันไปตลอดกาลตลอด เวลา จนกว่าจะรู้ถึง โน้น ถึงวิปัสสนา

    แต่บางทีมันก็เอาวิปัสสนูขึ้นมา(หมายเหตุ 12)หมาย ความ ว่าเมื่อเราพากันพยายามสร้างคุณงามความดี ความบริสุทธิ์ พอไป เห็นความดีขึ้นมาก็ไปติดความดีอยู่อีก อาการที่ไปติดความดี ไปยึด หมายความดีนี้ ก็เป็นวิปัสสนูอีกนั่นแหละ เป็นปัญญาของกิเลสนั่น บางคนไปติดความดีอยู่ มีความบริสุทธิ์ก็ไปติดความบริสุทธิ์ มีความรู้ ก็ติดความรู้อยู่อย่างนี้ อาการที่ไปยึดมั่นหมายมั่นในความรู้นี้อีก ใน ความบริสุทธิ์นี้อีก อันนั้นก็เป็นวิปัสสนูแทรกเข้ามาอีก

    ฉะนั้น เมื่อเจริญวิปัสสนาถึงขั้นนี้ให้ระวัง ระวังวิปัสสนูกิเลส เพราะมันใกล้กันที่สุด จนเราจะไม่รู้ตัว แต่หากมีความรู้ถูกต้องแล้ว เราจะเห็นทั้งสองอย่างได้ชัดเจน ถ้าเป็นวิปัสสนูแล้ว มันจะมีความ ทุกข์ขึ้นมาเป็นบางคราว ถ้าหากเป็นวิปัสสนาจริงๆแล้ว ก็จะระงับ ทุกข์ ระงับสุขทุกข์ นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นมา เราจะรู้เองด้วยตัวของเรา ฉะนั้น การปฏิบัติท่านจึงให้อดทน บางคนมาปฏิบัติ ไม่อยาก ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อยากให้มันมีอะไรเกิดขึ้น ไม่อยากให้ มันเดือดร้อน แต่มันก็เดือดร้อน เพราะของเก่ามันมี เราต้องพยายาม ระงับความเดือดร้อนที่มีอยู่นั่นเอง

    พระท่านว่า ถ้าหากปฏิบัติแล้วเกิดความเดือดร้อนนั่นถูก ถูก แล้ว ถ้าหากมันเดือดร้อน ถ้าปฏิบัติแล้วไม่เดือดร้อน ไม่ถูก ถ้ากิน สบาย นอนสบาย อยากจะไปไหนก็ไปตามเรื่อง อยากจะพูดอะไรก็ พูดตามเรื่อง อยากทำตามใจมันทุกอย่างนั้น มันไม่ถูก ฉะนั้น ธรรมะ คำสั่งสอนของพระศาสดาท่านว่า ขัด ขัดอะไร? โลกุตตระ ขัด โลกียะ ความเห็นชอบ ขัด ความเห็นผิด ความบริสุทธิ์ ขัด ความไม่บริสุทธิ์ เรื่อยไป

    ฉะนั้น จึงมีอุบายที่ตามตำรากล่าวว่า “สมเด็จพระบรม ศาสดาก่อนตรัสรู้นั้น ท่านไปรับข้าวจากนางสุชาดา เมื่อท่านทรงฉัน เสร็จแล้ว ก็ทรงลอยถาดลงในน้ำ ธรรมดาน้ำมันไหลลง ท่านได้ทรง อธิฐานจิตว่า ถ้าหากว่าได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ แล้ว ขอให้ถาดนี้ไหลลอยไปเหนือน้ำ แล้วถาดก็ลอยไหลไปเหนือน้ำ” ความจริง ถาดก็คือ ความเห็นชอบของพระองค์ท่านนั่น

    แหละ ผู้รู้หรือพุทธภาวะของท่านที่เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาแล้วนั้น ไม่ได้ปล่อยตามใจของสัตว์ แต่ไหลขึ้นไปทวนกระแส ใจของท่านทวน ขึ้นไปหมดทุกอย่าง ไม่ได้ฟังเสียงใคร ฉะนั้น พระธรรมเทศนาของ พระองค์จึงทวนใจของพวกเราจนทุกวันนี้ โลภท่านก็ว่าไม่ให้โลภ โกรธท่านก็ไม่ให้โกรธ ให้ทำลายมัน อยากหลงก็ไม่ให้หลง ให้ทำลาย มัน มีแต่เรื่องทำลายมันอย่างเดียว

    ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ท่านจึงทรงเชื่อแน่ว่า จิตของท่านนั้นทวนกระแสขึ้นไปนั้นเอง มันทวนสัตว์โลกหมด ทวน กระแสสัตว์โลก สิ่งที่ว่าสกลร่างกายสวย ท่านว่าไม่สวย โลกว่าอัน สกลร่างกายเป็นของเรา ท่านว่าไม่ใช่ของเรา อันนี้ว่าเป็นแก่นเป็นสาร ท่านว่าไม่เป็นแก่นเป็นสาร ความเห็นชอบอย่างนี้เหนือ เหนือสัตว์โลก ขึ้นไป สัตว์โลกนั้นตามลงมากับน้ำ

    ต่อมา “ท่านได้รับหญ้าคา จากโสตถิยะพราหมณ์ แปดกำมือ ท่านทรงทำอธิฐานเป็นบัลลังก์เพื่อนั่งสมาธิ ว่าถ้าไม่ตรัสรู้จะไม่ทรง ลุกขึ้น แล้วท่านก็ตรัสรู้ที่ตรงนี้” ถ้าจะกล่าวเป็นธรรมาธิษฐานแล้ว หญ้าคาก็คือโลกธรรมแปดนี่แหละ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา เหล่านี้แหละโลกธรรมแปดประการ หญ้าคาแปดกำมือ ฟังแต่ชื่อมันซิ หญ้าคา “คา” คาอะไร? นักบวชของเรา เมื่อบวชเข้ามาก็คาสิ่งเหล่านี้แหละ มาคาลาภ มาคา ยศ มาคาสรรเสริญ มาคาสุข มาคาทุกข์ มาคานินทา โลกทั้งหลาย มาคาอยู่ที่นี่หมด

    สมเด็จพระศาสดาจึงทรงอธิฐานเป็นบัลลังก์ นั่งทับลงไปด้วย สมาธิธรรม อาการที่นั่งทับคือ สมาธิ นั่งทับคือ จิตของท่านเหนือกว่า โลกธรรม จิตในขณะนั้นเป็นโลกุตรธรรม ทับ โลกียธรรมไว้ แต่ก็ยัง เกิดเป็นมารต่างๆนานามาหลอกล่อ ซึ่งความจริงก็เป็นอาการของจิต นั่นเอง จนกระทั่งท่านได้ตรัสรู้ธรรม ก็ได้ชนะมารในที่นั้น ชนะคือชนะ โลกนี่เอง ไม่ใช่ชนะอะไรอื่นไกล ฉะนั้น ท่านจึงทรงเจริญมรรคในที่นั้น มรรคจึงฆ่าโลกธรรมทั้งหลายเหล่านั้น



    เห็นธรรมเป็นธรรมก็มีดวงตาเห็นธรรม

    ผู้ ประพฤติหรือผู้ปฏิบัติของเราทุกวันนี้นั้น ศรัทธามันน้อย พอปฏิบัติได้ ปีสองปี เดือนสองเดือน ก็อยากจะได้ อยากไปไวๆ ไม่รู้ จักนึกบ้างเลยว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านทรงสร้างบารมีของท่าน มานานแสนนานเพียงใด แล้วท่านยังต้องมาต่อสู้ในพระชาติสุดท้าย อยู่อีกถึงหกปี ฉะนั้น ท่านจึงทรงตั้งนิสัยพระนวกะว่า จะต้องอยู่ฝึกอบรม กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อยห้าพรรษา ผู้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ปฏิบัติที่มี ปัญญาตรวจค้น มีศรัทธาจริงๆ ผู้บากบั่นพยายามตลอดห้าพรรษานี่ ก็เรียกว่าใช้ได้ แต่ให้ปฏิบัติจริงๆนะ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ถ้าเราพยายาม ทำจริงๆได้ห้าพรรษา แล้วจะได้รู้ว่าคุณค่าของพระพุทธโอวาท ที่ สมเด็จพระบรมศาสดาท่านบัญญัติไว้นั้น มันเป็นเช่นไร จะได้รู้จัก ห้าพรรษาคือคนใช้ได้ จิตใจก็ใช้ได้ อะไรก็พอเป็น พอไปแล้ว

    แน่นอน ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นพระอริยะบุคคลขั้นแรก แต่ ทว่าต้องไม่ใช่ห้าพรรษาแต่อายุเท่านั้น ต้องเป็นห้าพรรษาในจิตด้วย ผู้ปฏิบัติเข้าถึงจิตใจเช่นนี้ จะมีความกลัว ความละอาย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ทั้งในที่มืดและที่แจ้ง เพราะเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว อาศัยพระธรรม อาศัยพระสงฆ์ แล้วมีพระพุทธเจ้า มีพระ พุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งแล้ว ถ้าพึ่ง พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็ต้องเห็นพระพุทธเจ้า ต้องเห็นพระธรรม ต้องเห็น พระสงฆ์ ถ้าเราขอพึ่งท่าน ขอพึ่งพระพุทธ พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์ แล้วเรายังไม่เห็นท่านนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร ถ้าเราขอพึ่งท่านก็ ต้องรู้จักท่าน จะรู้จักแต่กายเท่านั้นยังไม่พอ ต้องรู้จักด้วยใจจึงจะใช้ ได้ ถ้าเข้าใจถึงแล้ว

    จึงจะรู้ได้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระ ธรรมเป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระสงฆ์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระพุทธเจ้า เป็นรูปลักษณะอาการอย่างนั้นอย่างนั้น พระธรรมก็เช่นเดียวกัน จึง จะได้เป็นที่พึ่งของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดอยู่ที่จิตของเรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามมีพระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์ อยู่ เรื่อยไปในจิตผู้นั้น ฉะนั้น ผู้นี้จึงไม่กล้ากระทำบาป พระอริยะบุคคล ขั้นแรก ท่านจึงไม่เข้าไปสู่อบาย ตรงแน่วแน่ไปเลย ไม่มีชาติที่แปด เกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะมันแน่นอนแล้วน่ะซิ มันแน่นอนแล้ว เมื่อ เข้าหนทาง ก็ไม่ได้สงสัย ทีนี้ค่อยเคลื่อนไปไม่ได้มีความสงสัย ไม่ถึง วันใดก็จะต้องถึงวันหนึ่ง จะให้กลับมาทำบาปทำกรรม ด้วยกาย ด้วย วาจาอีกไม่มี พ้นจากความเดือดร้อนที่จะเป็นนรกแล้ว

    ฉะนั้น ท่านจึงว่าอริยบุคคลพ้นอบายภูมิ จิตก็ไม่ไปถึงอบาย ไม่ไปสู่อบาย จึงเป็นผู้ไม่กลับ คือไม่กลับมาทำชั่ว ใจนั้นมาทำความ ชั่วไม่ได้อีก อันนี้จะได้เห็นเองว่าใจมันทำไม่ได้ ก็แปลว่ามันเปลี่ยนไป เป็นอริยชาติแล้ว มันกลับมาไม่ได้แล้ว มันเปลี่ยนในชาตินี้เอง เรื่อง เหล่านี้จะรู้จักเฉพาะเจ้าของเอง

    ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ที่ยังไม่ได้เห็นธรรม เมื่อได้ยินอย่างนี้ อาจจะคิดว่าการรู้ธรรม การเห็นธรรม การปฏิบัติธรรมเช่นนั้น จะเป็น ไปได้อย่างไร เป็นการยากอยู่ เรื่องเหล่านี้น่ะก็คือธรรมชาติธรรมดาที่ มันเป็นอยู่นี้แหละ

    ทุกวันนี้ บางทีเรามีความสุขใจ บางทีเรามีความทุกข์ใจ มี ความดีใจ มีความเสียใจ เพราะอะไร? เพราะไม่รู้ธรรม เพราะไม่เห็น ธรรม ไม่รู้ธรรมชาติ ไม่เห็นธรรมชาติ คือธรรมชาติมันเป็นของมันเช่น นั้นเรื่อยๆ ทั้งกายและจิต คือรูปและนาม ฉะนั้น พระบรมศาสดาท่าน จึงได้หมายขันธ์ห้า วางขันธ์ห้า เลิกขันธ์ห้า ละขันธ์ห้า

    ที่ละมันไม่ได้เพราะอะไร? เพราะไม่เห็นมัน เพราะไม่รู้เท่าทัน มัน เห็นว่ามันเป็นเรา เห็นเราว่าเป็นมัน เห็นเราว่าเป็นสุข เห็นสุขว่า เป็นเรา เห็นทุกข์ว่าเป็นเรา เห็นเราว่าเป็นทุกข์ มันแยกออกจากกันไม่ ได้ เมื่อแยกออกจากกันไม่ได้ ก็แปลว่าเราไม่เห็นธรรม คือธรรมชาติ อย่างนี้มันไม่เป็นเรา แต่เราเข้าใจว่าเป็นเรา สุขก็มาถูกเรา ทุกข์ก็มา ถูกเรา เสียใจก็มาถูกเรา เพราะเราเข้าไปขวางอยู่ตรงนั้น เราก็คือก้อน อัตตา ตัวตน เมื่อมีก้อนอัตตาเมื่อใดแล้ว สุขก็ถูกเรา ทุกข์ก็ถูกเรา อะไรก็ถูกหมด

    ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ท่านจึงว่าให้ทำลายก้อนอัตตา เมื่อทำลายก้อนอัตตา คือสักกายทิฐินี้แล้ว หมดก้อนอัตตาแล้ว อัตตา มันก็ไม่ต้องเรียกมันเป็นของมันเอง เมื่อหมดอัตตา อนัตตาก็เกิดขึ้น มาเอง

    เมื่อบุคคลถือเนื้อถือตัว ก็จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตน เห็นว่าเรา สุข เห็นว่าเราทุกข์ เห็นว่าเราดี เห็นว่าเราชั่ว เห็นว่าเราต่างๆนานา ความจริงสิ่งเหล่านี้ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แต่เรากลับไปเอาธรรม ชาติมาเป็นเรา เอาเรามาเป็นธรรมชาติ เลยไม่รู้ว่าธรรมชาติคืออะไร ธรรมชาติมันดีก็หัวเราะกับมัน ธรรมชาติมันร้ายก็ร้องให้กับมัน ความจริงธรรมชาติก็คือสังขาร อย่างเราว่า “เตสัง วูปสโม สุโข” ความสงบของสังขารนั้นเป็นสุข สงบอะไรล่ะ? ก็คือถอน อุปาทานออกมาว่า เห็นธรรมชาติตามเป็นจริงของมัน เดี๋ยวนี้ความ เป็นจริงของมันมีอยู่ มันเป็นจริงอยู่ ต้นหญ้า ภูเขา เถาวัลย์ มันเป็น ของมันอย่างนั้น มันเกิดมันก็ดับ มันดับมันก็เกิด มีเลื่อนไหลไปมา ธรรมชาติมันเป็นจริงอยู่ แต่เราผู้ไม่จริง เมื่อไปเห็นแล้วก็ตื่นเต้น ธรรม ชาติไม่ตื่นเต้น มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าใครจะร้องให้ ใครจะหัวเราะ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนั้นมันเป็นของจริง เราไม่รู้จักของจริง เมื่อเป็นเห็นของจริงแล้วกระตือรือร้น ร้องให้ หัวเราะ ต่างๆนานา เสีย อกเสียใจ ดีอกดีใจ

    ถึงเราจะดีใจเสียใจอย่างไรก็ตาม สภาวะร่างกาย รูปนี้ของ เราก็เป็นอยู่ของมันเช่นนี้ มันเกิดมาแล้ว มันก็แปรตามธรรมชาติ แปร ไป เจ็บไป ตายไป พลัดพรากจากกันไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติมัน เป็นอย่างนี้ เมื่อหากว่าบุคคลผู้ใดจะเอาธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง เหล่านี้ให้มันเป็นตัวเรา เป็นของเรา อย่างนี้มันก็เป็นการแบกทุกข์ไว้ ฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะท่านจึงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” คำ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหมายความรวมตลอดเลย จะเป็นรูปหรือเป็นนาม ก็ช่าง ใช่หมดทั้งนั้น ความเห็นของท่านในขณะที่ท่านฟังเทศน์ของ พระพุทธองค์นั้น เปลี่ยนขึ้นมาจนเห็นแจ้ง ออกจากที่นั่งแล้วก็ยังเห็น อยู่อย่างนั้น จริงอยู่อย่างนั้น อาการอย่างใดผ่านเกิดขึ้นมา ก็เห็น ความเกิด อันมันดับไปแล้ว ท่านก็เห็นความดับ เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้ว ก็เกิด

    ท่านก็เห็นมัน อันใดมันเกิดแล้วก็ดับ อันใดมันดับแล้วก็ดับ ไป เป็นอยู่เรื่อยไป สุขทุกข์ก็มากระทบจิตของท่านอยู่เสมอ แต่ว่าจิต ของท่านเพียงแต่รับทราบ ไม่พลอยตกนรก ไม่พลอยไปสู่อบาย ไม่ พลอยไปดีใจ ไม่พลอยไปเสียใจกับสิ่งเหล่านั้น จิตของท่านตั้งมั่นเด่น อยู่ พิจารณาอยู่อย่างนั้น นั่นเพราะท่านอัญญาโกณฑัญญะท่านได้ ดวงตา ได้ดวงตาอันหนึ่งที่เห็นธรรมชาติตามเป็นจริง ความรู้เท่าตาม เป็นจริงของสังขาร สังขารมันเป็นจริงอย่างไร ก็รู้เท่าตามเป็นจริงของ มันอย่างนั้น นี่เรียกว่าผู้รู้ธรรม ผู้เห็นธรรม รู้แล้ว ละ เลิก ถอน ถ้ายังไม่เห็น ก็ยังพากันอด พากันละ มันไม่เห็นหรอก ที่มา อดละ อดกลั้น อดทน อดทานนั่นนะ แต่ถ้าถึงที่ของมันแล้ว ก็จะไม่มี เรื่องอดละ อดกลั้น ไม่มีเรื่องใดได้อด เรื่องผู้เห็นธรรมแล้ว ก็เป็นธรรม ไม่มีเรื่องอดกลั้น นี่เรายังไม่ทันรู้จักธรรม ไม่เป็นธรรม จึงเอาธรรมมา ใช้ เอาความเพียรมาใช้ มันเป็นอย่างนี้

    ทีนี้ถ้าเรามาเพียรแล้ว มันไม่เกียจคร้านแล้ว ความเพียรก็ไม่ ต้องเอามาใช้ มันรู้เท่าต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว มันไม่สุข ไม่ ทุกข์กับมัน ก็ไม่ต้องเอาขันติมาใช้ เมื่อมันเป็นธรรมแล้ว มันเกิดมา มันก็เป็นธรรม ผู้รู้ก็รู้ตามธรรม แล้วก็เลยเป็นธรรม รู้ธรรมแล้วเห็น ธรรม เรียนธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม เป็นธรรม

    เมื่อมันเป็นธรรมแล้วก็หยุด สงบแล้ว ทีนี้ไม่ได้เอาธรรมมาใช้ เพราะมันเป็นธรรมแล้ว ภายนอกก็เป็นแล้ว ภายในก็เป็นแล้ว ผู้รู้ ธรรม ก็เป็นธรรม สภาวะมันก็เป็นธรรม อันที่รู้มันก็เป็นธรรม เป็นอยู่ อย่างนั้น เป็นอย่างเสรี เป็นหนึ่งเสียแล้ว ธรรมชาติอันนี้จึงไม่เกิด ธรรมชาติอันนี้จึงไม่แก่ ธรรมชาติอันนี้จึงไม่เจ็บ ธรรมชาติอันนี้จึงไม่ ตาย ธรรมชาติอันนี้จึงไม่สุขไม่ทุกข์ ธรรมชาติอันนี้ไม่น้อยไม่ใหญ่ ไม่ หนักไม่เบา ไม่สั้นไม่ยาว ไม่ดำไม่ขาว

    ไม่มีเรื่องเปรียบเทียบ ไม่มีเรื่อง จะเอามาเปรียบ สมมุติอะไรๆเข้าไม่ถึงเข้าไม่ถึงที่นั่น

    ฉะนั้น พระนิพพานท่านจึงว่าไม่มีสีสรร วรรณะ สีเขียว สีแดง สีดำ อะไรไม่มี เรื่องสีเขียวสีดำ อะไรต่างๆเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่อง บัญญัติในโลกีย์ เมื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว ไม่มีเรื่องเหล่านี้ตามไป ถึง ดังนั้นจึงกล่าวว่าสิ่งนั้นเป็นโลกุตตระ ธรรมอันนั้นท่านจึงว่าเป็น ปัจจัตตัง อันผู้รู้ก็ได้เฉพาะเจ้าของ ประกาศไม่ได้ มีแต่อุบาย ผู้ที่เข้า ไปถึงแล้วก็แล้ว จะเอาสมมุติบัญญัติมาพูดไม่ได้ มันหมดมันสิ้น

    Home Main Page



    หมายเหตุจากผู้จัดทำ (คุณเจริญชัย เจริญทั้งเมือง)

    เรื่อง นี้ผมใช้หนังสือ นอกเหตุเหนือผล ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนัก พิมพ์ ธรรมสภา มาเป็นต้นฉบับ พิมพ์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมได้ปรับปรุงตำแหน่งการเว้นวรรคและย่อหน้าให้เหมาะสม แต่ยังคงข้อความเดิมไว้ทั้งหมด ยกเว้นมีการแก้ไขข้อความคาดว่า ต้นฉบับเดิมจะพิมพ์ผิด หรือเพื่อลดความสับสน โดยได้ใส่วงเล็บ กำกับไว้ ณ จุดที่แก้ไขแล้ว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

    จุด 1 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “เกิดขึ้นมาเบื้องต้น ท่ามกลางแล้วก็แปรไป ขน เล็บ ฟัน หนัง มันแปรไป” แก้สองอย่าง คือ อย่างแรกคำว่า “ท่ามกลางแล้วก็เปลี่ยนไป” รู้สึกว่า “แล้ว” น่า จะมาอยู่ข้างหน้า และอีกอย่างหนึ่งคือคาดว่าจะตกคำว่า “ผม” เพราะจากเรื่องอื่นๆ หลวงพ่อชา พูดถึงเรื่องนี้ทีไร จะต้องมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จึงจะครบชุด ดังนั้นจึงแก้เป็น “เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น แล้วท่ามกลางก็แปรเปลี่ยนไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันแปรไป”

    จุด 2 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “ท่านทรงชี้ธรรมขาติ คือ ธรรมชาติ” แก้เป็น “ท่านทรงชี้ธรรม คือ ธรรมชาติ”

    จุด 3 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “จนเป็นตัวว่าสุขก็เหมือน กัน จะเป็นตัวว่าทุกข์ก็เหมือนกัน” แก้เป็น “จะเป็นตัวว่าสุขก็เหมือน กัน จะเป็นตัวว่าทุกข์ก็เหมือนกัน”

    จุด 4 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “พุทธะภาวะ” สะกดผิด แก้เป็น “พุทธภาวะ”

    จุด 5 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “แล้วมีความแปรไป สิ่ง เหล่านี้ก็ดับไป” แก้เป็น “แล้วมีความแปรไป แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ดับไป”

    จุด 6 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “อย่างเด็กก็แปรจากเด็ก ดับจากเด็กมามาหนุ่ม จากหนุ่มก็ดับไปเป็นแก่ จากแก่ก็เป็นชรา จากชราก็ตาย” แก้เป็น “อย่างคนเราเกิดมาเป็นเด็ก จากเด็กแปรมา หนุ่ม จากหนุ่มก็แปรไปเป็นแก่ จากแก่แปรไปเป็นชรา จากชราแล้วก็ ตายดับไป”

    จุด 7 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “ถ้ายังมีสีลัพพตปรามาส อยู่ วิจิกิจฉาก็ยังอยู่” แก้เป็น “ถ้ายังมีสักกายทิฐิอยู่ วิจิกิจฉาก็ยังอยู่ สีลัพพตปรามาสก็ยังอยู่”

    จุด 8 พบว่าต้นฉบับเดิมมีการใช้ทั้งคำว่า “อุปาทาน” และ “อุปทาน” ปะปนกันอยู่ จึงทำการค้นหาและแก้ไขให้เป็นคำว่า “อุปาทาน” ทุกจุด

    จุด 9 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “อยู่ในโลกผู้ที่ไม่สงบ” คำ ว่าคำว่า “ผู้” น่าจะเกินมา จึงแก้เป็น “อยู่ในโลกที่ไม่สงบ”

    จุด 10 ต้นฉบับเดิมนั้นการกล่าวถึง โลกธรรม (อันประกอบ ไปด้วย ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์) แต่ ละครั้ง จะเรียงลำดับไม่เหมือนกัน กลับไปกลับมา สันนิฐานว่าตอนที่หลวงพ่อชาท่านพูด ก็คงจะพูดด้วยสำนวน ที่ท่านติดปาก แต่อาจจะเป็นเพราะเรียงไม่ตรงกับในตำราปริยัติ หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมีคนพยายามจะแก้คำพูด แต่ก็แก้ไม่ครบทุกจุด ก็เลยดูเหมือนเรียงกลับไปกลับมา ทำนองเดียวกันกับข้อความว่า “ดิน น้ำ ลม ไฟ” ซึ่งในเรื่อง อื่น หลวงพ่อชาท่านจะพูดว่า “ดิน น้ำ ไฟ ลม” เสมอ ต่างจากที่พวก เรามักจะเรียงลำดับกันว่า “ดิน น้ำ ลม ไฟ” แต่พอมาอ่านเรื่องนี้ ผม พบว่ามีอยู่สองจุด พูดสองอย่าง ก็คาดว่าหลวงพ่อท่านก็คงจะพูด อย่างที่ท่านเคยพูดนั่นแหละ แต่ถูกแก้ให้เป็นสำนวนตามที่พวกเรา ชอบพูดกัน แล้วก็แก้ไม่ครบทุกจุด กรณีของ “ดิน น้ำ ลม ไฟ” นี้ผมก็ไม่ได้แก้กลับ ยังปล่อยไว้ ตามต้นฉบับเดิม เพราะทั้งสองจุดอยู่ห่างกันเกือบสิบหน้า ผู้อ่านคง ไม่รู้สึกอะไรมาก ไม่ต้องการแก้ไขต้นฉบับเดิมโดยไม่จำเป็น ส่วนกรณีของโลกธรรมนี้ ปรากฏอยู่ใกล้ๆกัน สิบกว่าครั้ง ถ้า ขืนปล่อยไว้ ผู้อ่านก็คงจะสับสน ฉะนั้น จึงทำการเรียงใหม่ให้เหมือน กันทุกจุด โดยเรียงตามสำนวนอันหนึ่งที่คาดว่าคงเป็นของเดิมที่ไม่ถูก แก้ คือ “ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา”

    จุด 11 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “โลกธรรมต่างจากใจ แล้วนั้น” แก้เป็น “โลกธรรมห่างจากใจแล้วนั้น”

    จุด 12 ตรงจุดนี้ ต้นฉบับเดิมได้มีหมายเหตุท้ายหน้าไว้ว่า วิปัสสนู ย่อมาจาก วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งเกิดจากการเอาคำว่า วิปัสสนู รวมกับคำว่า อุปกิเลส โดยที่ วิปัสสนูปกิเลส คือสิ่งที่ทำให้ วิปัสสนา หรือปัญญา เศร้าหมอง ด้วยทำให้เข้าใจผิดว่าตนได้บรรลุธรรมแล้ว แต่ผมสงสัยว่าจะมีอะไรผิดสักอย่าง เพราะถ้าบอกว่า “วิปัสสนู” เป็นคำย่อ “วิปัสสนูปกิเลส” แล้วยังบอกว่า “วิปัสสนูป กิเลส” เกิดจาก “วิปัสสนู”รวมกับ “อุปกิเลส” ก็หมายความว่า “วิปัสสนูปกิเลส” ก็จะเกิดจาก “วิปัสสนูป กิเลส” คือตัวมันเองรวมกับ “อุปกิเลส” ไม่น่าจะเป็นไปได้

    ที่มา::
     
  2. น้ำดี1

    น้ำดี1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    13,402
    ค่าพลัง:
    +43,432
    ขอบคุณค่ะ................
     
  3. เ่ต่าโบราณ

    เ่ต่าโบราณ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2010
    โพสต์:
    713
    ค่าพลัง:
    +3,624
    ขอบคุณ ที่หาบทความดีๆ มาให้อ่านค่ะ
     
  4. ดวงใจปฐพี

    ดวงใจปฐพี Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    92
    ค่าพลัง:
    +104
    ปากอย่าไว
    ใจอย่าเบา
    เรื่องเก่าอย่าไปรื้อฟื้น
    เรื่องอื่นอย่าไปคิด
    อดีตคือความฝัน
    ปัจจุบันคือความจริง

    (k)
     

แชร์หน้านี้

Loading...