เรื่องเด่น การปฏิบัติแรกเริ่มให้ละความกังวลให้ได้

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 1 กุมภาพันธ์ 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,212
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,515
    ค่าพลัง:
    +26,348
    84330599_3072406262810034_8036650080226246656_n.jpg

    วันนี้จะกล่าวถึงเรื่องของการปฏิบัติของพวกเราตั้งแต่แรกเริ่ม ก็คือพอเราตั้งใจจะทำสมาธิ โดยทั่วไปก็มักจะมีความกังวลต่าง ๆ นานา ความกังวล ความห่วง โดยเฉพาะถ้าปฏิบัติธรรมอยู่นอกบ้าน ก็จะห่วงใยกังวลเรื่องทางบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เป็นครอบครัว เป็นลูก เป็นสามีภรรยา เป็นต้น เราต้องสลัดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกจากใจของเราไปให้ได้ เพราะว่าเราอยู่ในสถานที่นี้ คิดถึงบ้าน เป็นห่วงบ้านไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้

    แล้วเรายังโดนรบกวนด้วยนิวรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิเลสหยาบคอยกั้นความดีไม่ให้เข้ามาสู่ใจ ประกอบไปด้วย กามฉันทะ คือความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ พยาบาท ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญ และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ จึงให้ไม่ทุ่มเทจริงจัง

    ไม่ว่าจะเป็นความกังวล หรือว่านิวรณ์ที่มากั้นเราก็ตาม จะสามารถขับไล่ออกจากใจเราได้ก็ต่อเมื่อเราตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออก จนอารมณ์ใจเริ่มทรงตัว พออารมณ์ใจเริ่มก้าวเข้าสู่สมาธิที่แนบแน่นขึ้น กำลังของสมาธิจะตัด จะละ สิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ความกังวลก็จะหมดสิ้นไปเอง เพราะใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับการภาวนา นิวรณ์ทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ เพราะใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับการภาวนา

    เมื่ออารมณ์ใจเริ่มทรงตัวก็ให้เราตั้งใจว่าจะภาวนานานเท่าไร จะเอาสัก ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง หรือ ๒ ชั่วโมง เป็นต้น

    ถ้าสภาพจิตเราก้าวเข้าสู่ปีติ มีความอิ่มเอิบ ไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติ ก็ต้องกำหนดเวลาเอาไว้ว่าจะไม่ให้เกิน ๑ ชั่วโมงหรือ ๒ ชั่วโมง เพราะว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนา ถ้าเรายังไม่มีความคล่องตัว ไม่สามารถกำหนดการเข้าออกสมาธิได้ทันทีที่ต้องการ ถ้าเรารู้สึกว่าอารมณ์ใจวันนี้ทรงตัว แล้วก็โหมไปภาวนามาก ๆ ทีหนึ่ง ๔-๕ ชั่วโมง วันต่อ ๆ ไปเราจะทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าสภาพจิตที่เหนื่อย ที่เครียดจากการภาวนาวันก่อน ทำให้เราเกิดความฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่สามารถเข้าสู่สมาธิภาวนาได้อีก

    เมื่ออารมณ์ใจทรงตัว จึงต้องกำหนดเวลาว่า เราต้องการภาวนาเป็นระยะเวลาเท่าไร ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันการที่สมาธิเข้าถึงระดับลึก ถ้าสมาธิเข้าถึงระดับลึกแล้ว เราไม่ได้กำหนดว่าจะภาวนาเท่าไร บางทีผ่านไปครึ่งวันหรือวันหนึ่งก็ไม่รู้ตัว

    เมื่อสมาธิทรงตัวแล้ว ก็ให้ทุกท่านตั้งใจแผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งความหวังดี ปรารถนาดีว่า เขาทั้งหลายเหล่านั้นเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา เรารักสุขเกลียดทุกข์อย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์แบบนั้น เราจึงควรเมตตาต่อเขาด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ

    เมื่อแผ่เมตตาจนอารมณ์ใจของเราทรงตัวแล้ว ก็คลายอารมณ์ออกมาพิจารณาให้เห็นในสามัญลักษณะ คือสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ว่ามีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติ ไม่สามารถยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ตามปกติ

    เมื่อพิจารณาจนสภาพจิตยอมรับแล้ว ก็มาทบทวนศีลของเราทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้มั่นคง ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กำหนดสติรู้ตัวว่าเราจะต้องตายเอาไว้เสมอ ถ้าหากว่าเราตายลงไปในวันนี้หรือเดี๋ยวนี้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ หรือเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราต้องการอย่างเดียวก็คือพระนิพพาน

    เมื่อวางกำลังใจเช่นนี้ได้ก็ให้ดูลมหายใจเข้าออกของเรา ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ก็ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ก็กำหนดคำภาวนาไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลงหรือหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้อยู่ว่าลมหายใจเบาลงหรือหายไป ตอนนี้คำภาวนาหายไป อย่าไปดิ้นรนเพื่อหายใจใหม่ และอย่าพยายามฝืนเพื่อเข้าไปสู่สภาพนั้น เรามีหน้าที่กำหนดดูกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของเราเท่านั้น ส่วนสภาพจิตจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ตั้งใจว่าถ้าเราต้องตายลงไปเพราะการปฏิบัติครั้งนี้ เราก็ขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานแห่งเดียว

    ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...