หลวงปู่มา ญาณวโร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย aprin, 13 สิงหาคม 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    หลวงปู่มา ญาณวโร เป็นผู้บริบูรณ์อยู่ในฐานะ 4 ประการ คือ อาจารย์ที่ดี ครูที่ดี ผู้นำที่ดี และมิตรที่ดี อันต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการ....

    ก่อนที่กระแสบูชาพระนวโกฏิจะพุ่งสูงในปีนี้ ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น พระมงคลญาณเถร หรือ หลวงปู่มา ญาณวโร ประธานสงฆ์แห่งวัดสันติวิเวก บ้านโนนคำ ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พระมหาเถระผู้สร้างพระเศรษฐีนวโกฏิมานานกระทั่งเป็นเสมือนเจ้าตำรับกลับมรณภาพไปเสียก่อนในวันที่ 2 พ.ย. 2552

    น่าเสียดายว่า คนที่บูชาพระนวโกฏิจำนวนมากก็ไม่ได้รู้จักหลวงปู่มา
    น่าเสียดายว่า คนอีกจำนวนไม่น้อยก็รู้จักหลวงปู่มาแค่พระเศรษฐีนวโกฏิ เพราะแท้จริงแล้วท่านมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ

    เมื่อหลวงปู่มามรณภาพ มีหนังสือพิมพ์บางฉบับรายงานว่า เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำชีสิ้นแล้ว แม้การรายงานดังกล่าวจะเป็นการเปรียบเทียบแบบโลกๆ เพราะพระกับเทพย่อมเทียบกันไม่ได้ แต่ความมุ่งหมายก็คงต้องการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อท่าน ของอย่างนี้แท้จริงอย่างไรต้องดูวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาของท่านและฟังครูบาอาจารย์

    [​IMG]
    หลวงปู่มา ญาณวโร

    สำหรับประการหลังนั้น คุณดำรงค์ ภู่ระย้า เคยเขียนไว้ในหนังสือโลกทิพย์ ฉบับเดือน ก.พ. 2533 ว่า หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ และหลวงปู่อ่อน จักกธัมโม อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ (2505-2529) ได้ระบุถึงหลวงปู่มาตรงกันว่า “เป็นพระดี ขยัน มีความคุ้นเคยกับหมู่คณะง่าย เคร่งครัดในระเบียบวินัย หากพูดถึงภาระที่ถูกมอบหมายให้ ท่านจะทำกิจอันนั้นให้ลุล่วงทุกครั้ง ไม่มีจะตำหนิกันเลยทีเดียว เป็นคนสม่ำเสมอ ครูอาจารย์รักชอบกันทุกคน”

    นับถัดใกล้เข้ามาอีกนิด เมื่อท่านละขันธ์ ไม่เพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพและพระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ พระมหาเถระทั้งหลายก็กล่าวถึงท่าน ซึ่งถ้อยคำเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นถึงวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาของท่านเป็นอย่างดี อาทิ เป็นรัตตัญญู เป็นพระเถระสุปฏิบัติ เป็นพระสงฆ์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเพชรเม็ดงามในวงการคณะสงฆ์ เป็นผู้ทรงคุณธรรม ทรงวิทยาคม มีเมตตาโดยเสมอหน้า

    “เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มุ่งมั่นทำความเพียร ปฏิบัติภาวนาทำความดี...อาตมามีความผูกพันเคยอยู่ใกล้ชิด ได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติและปฏิปทาของหลวงปู่แล้วมีความประทับใจ ชีวิตท่านเป็นไปเพื่อพุทธศาสนาโดยแท้” (หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร)

    เป็นผู้บริบูรณ์อยู่ในฐานะ 4 ประการ คือ อาจารย์ที่ดี ครูที่ดี ผู้นำที่ดี และมิตรที่ดี อันต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการ คือ 1.เป็นที่รัก 2.เป็นที่เคารพ 3.เป็นที่นับถือ 4.เป็นผู้เฉลียวฉลาดในการพูดจาปราศรัย 5.เป็นผู้อดทนต่อการรบกวนของลูกศิษย์ 6.เป็นผู้กล่าวคำสุขุมลุ่มลึกให้ตื้นเขิน ผู้ฟังเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ผลสำเร็จ 7.เป็นผู้ไม่ชักจูงแนะนำไปในทางที่ผิด (พระเทพวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหนองแวง) ฯลฯ

    หลวงปู่มา มีนามเดิมว่า มา วรรณภักดี เกิดเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่บ้านโนนคำ ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในสกุลชาวไร่ชาวนา ซึ่งมีนายคูณและนางตั้ว วรรณภักดี เป็นหลัก มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 5 คน โดยท่านเป็นบุตรลำดับที่ 4

    ท่านลิขิตชีวิตตนเองโดยคำของมารดา

    ขณะอายุได้ 8 ขวบ โยมมารดาป่วยหนัก ระหว่างนั้น แม่ได้สั่งเสียท่านว่า “เมื่อแม่ตายแล้ว ให้บักน้อยบวชให้แม่เด้อ” เมื่อโยมมารดาเสียชีวิต เด็กชายมาจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2464 โดยพระอธิการสอน อุตฺตโม เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดดอนประดิษฐาราม บ้านดอนน้อย ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

    บรรพชาเช้า บ่ายสามเณรมาก็จูงศพมารดาไปสู่ป่าช้าดอนหมากเหลื่อม ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านราวกิโลเศษ เสร็จพิธีแล้วตกเย็นโยมบิดา พี่ชาย และพี่สาว ก็ไปหาที่วัด ถามว่า “จะสึกไหม” ท่านก็บอกว่า “ยังไม่สึก เพราะก่อนตายแม่สั่งไว้ว่าให้น้อยบวชให้แม่ น้อยจะอยู่ไปก่อน”

    ตั้งแต่บัดนั้นและต่อมาถึง 89 ปี ผ้าเหลืองก็ไม่เคยพรากจากตัวและตั้งแต่แม่สั่งจนถึงกาลที่ตัวเองต้องสิ้นไปคำว่า “เมื่อแม่ตายแล้ว ให้บักน้อยบวชให้แม่เด้อ” ก็ยังติดหูไม่รู้ลืม

    “ความคิดที่จะสึกไปใช้ชีวิตอย่างฆราวาสไม่เคยเกิดขึ้นในสมองแม้แต่ครั้งเดียว คิดเพียงว่าให้หลุดพ้น และขอตายคาผ้าเหลือง” ท่านว่า
    ระหว่างเป็นสามเณร ก็ได้ติดตามครูบาอาจารย์ไปศึกษาเล่าเรียนยังที่ต่างๆ และฉายแววว่า มีความสามารถโดดเด่นต่างจากคนอื่นเพราะฝึก “แหล่” คือ เทศน์เป็นทำนองตามภาษาเฉพาะถิ่นแล้วปรากฏว่า ได้รับการโจษกันทั่วไปว่า เป็นสามเณรเสียงทอง จากนั้นมาไม่ว่าละแวกใกล้หรือไกลยโสธร ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นแค่อำเภอยังมิได้เป็นจังหวัด จึงมักนิยมนิมนต์สามเณรมาไปเทศน์มหาชาติอยู่เนืองๆ

    ตลอดเวลา 12-13 ปี แห่งการเป็นสามเณรนั้น นอกจากประสบความสำเร็จเรื่องเทศน์แหล่แล้ว ท่านยังสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอกได้ 3 ปีติดต่อกัน คือ ระหว่าง พ.ศ. 2471-2473 และต้องรับหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรมไปพร้อมๆ กับได้รับการฝึกให้รับผิดชอบงานต่างๆ เพราะอยู่กับพระเถระและครูบาอาจารย์มาตลอด

    พออายุครบ 20 ปี ใน พ.ศ. 2475 ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี หลวงปู่สอน อุตฺตโม วัดดอนประดิษฐาราม บ้านดอนน้อย ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ฉิม ฉันโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาสะอาด โมขิโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    [​IMG]

    หลวงปู่มามีครูบาอาจารย์หลายรูป ที่ท่านเอ่ยถึงก็มี หลวงปู่สอน พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์ อินฺทสาโร) หรือหลวงปู่เสือ วัดมิ่งเมือง ต.กลาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) วัดมิ่งเมือง หลวงปู่มหาดไทย วัดบ้านบัว ต.เหล่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด และหลวงปู่พรหม พระธุดงค์ ซึ่งปรากฏแหล่งที่อยู่และเป็นหลวงปู่สอนผู้เป็นพระอุปัชฌาย์นี่เองที่เป็นผู้จาริกนำท่านไปสู่สำนักพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

    คุณดำรงค์ ภู่ระย้า ได้ลำดับการศึกษาเล่าเรียนของหลวงปู่มาไว้อย่างน่าสนใจว่า

    1.เรียนพระปริยัติธรรมจนได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่เป็นสามเณร ณ สำนักหลวงปู่สอน อุตฺตโม

    2.เรียนกรรมฐาน ติดตามธุดงค์ไปศึกษากรรมฐาน ณ สำนักหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยมีหลวงปู่สอนนำไปศึกษา เป็นศิษย์อยู่หลายพรรษา

    3.เรียนวิชาแพทย์โบราณ ได้รับความรู้ความสามารถในการต่อกระดูกให้ประสานกันได้สนิท ณ สำนักท่านพระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์ อินฺทสาโร) หรือหลวงปู่เสือ แห่ง จ.ร้อยเอ็ด

    4.เรียนภาษาขอมและมูลกัจจายน์ ท่านได้ไปศึกษาความรู้จากหลวงปู่โส ผู้เรืองเวทวิทยาคมแห่งวัดบ้านฟ้าเลื่อม อ.อาจสามารถ

    5.เรียนวิชาอาคม จากหลวงปู่เสือและหลวงปู่พรหม

    ท่านร่ำเรียนมาหลายอย่างก็จริง แต่กว่าครึ่งศตวรรษถัดมาท่านได้กล่าวว่า ช่วงอยู่ในสำนักหลวงปู่มั่นนั้น เป็นช่วงที่ได้สุดยอดวิชา

    ช่วงที่ท่านไปสู่สำนักหลวงปู่มั่นห้วงเวลานั้นเป็นจังหวะที่หลวงปู่มั่นยังไม่ได้ผินหลังจากภาคอีสานมุ่งไปวิเวกทางเหนือ

    ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นหลายพรรษา กระทั่งพระอาจารย์มั่นขึ้นเหนือ ท่านจึงอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่สอน

    อะไรคือสุดยอดวิชาที่ท่านได้จากหลวงปู่มั่น?

    คำตอบนั้นมีอยู่ว่า

    “สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น
    เห็นนั้นเห็นอะไร?

    เห็นในกายเรานี้ กายของเรามองเห็นแต่ภายนอกก็เนื้อหนังติกิเลส ตัณหา โลภ โกรธ หลง มองไม่ค่อยเห็น ไม่รู้จักกัน ฉะนั้นวิชานี้จึงเป็นวิชาสุดยอด

    ใครได้เรียนรู้ก็ควรทำความเข้าใจ เรียนแล้วก็อย่าทิ้งเสีย”

    วัดของท่านสอนพระปริยัติธรรม ท่านสร้างวัตถุมงคล และมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นทหารและนักปกครองเยอะ คนใช้วัตถุมงคลของท่านแล้วมีประสบการณ์กันก็มากราย แต่ท่านว่า

    “กรรมฐานเป็นเอกในวิชาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ป่าเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ที่สุด มหาวิทยาลัยทางโลกทั่วๆ ไปเรียนเท่าไหร่ก็มองไม่เห็นตัว เห็นแต่ของภายนอกทั้งนั้น สู้ป่าดงพงไพรไม่ได้ รู้ละเอียดถึงภายในดวงจิตดวงใจ กายเราหรือที่ประชุมธาตุ ใครปฏิบัติก็จะรู้เองเห็นเอง”

    ตั้งแต่หนุ่มยันชราท่านรับภาระทางการปกครองสงฆ์ การพัฒนา เป็นพระธรรมทูต การสงเคราะห์ผู้คน ฯลฯ แต่ตลอดเวลานั้นท่านปฏิบัติภาวนาเยี่ยงพระป่ากรรมฐานอยู่เสมอ

    ท่านเคยกล่าวถึงผู้ที่คนมาขอให้ท่านช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ว่า

    “มันมาขอฉันทุกอย่าง มันคิดว่าฉันเป็นผู้วิเศษที่จะดลบันดาลให้ได้ตามที่ขอ ที่มาขอเลขขอหวยก็เยอะ ขอให้รวย ขอให้ประสบความสำเร็จก็มากมี...”

    “คนที่อยากรวยมันคงคิดว่า วัดของฉันเป็นโรงงานผลิตเหรียญผลิตแบงก์ ไอ้พวกที่มาขอเลข (หวย) มันคงคิดว่า วัดเป็นกองสลาก ถ้าฉันรู้ฉันจะไปบอกบุญญาติโยมทำไมกัน ฉันจะไปช่วยมันหมดทุกคนได้อย่างไร ขนาดฉันยังต้องช่วยตัวเองเลย และฉันยังต้องให้คนอื่นช่วยเหลือฉันด้วย อย่างห่มจีวรยังต้องให้ลูกศิษย์ช่วยเลย”

    เมื่อถูกถามว่า แล้วของดีล่ะ (วัตถุมงคล) แล้วของดีนั้นดีจริงหรือเปล่า?
    ท่านว่า “อันนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เมื่อมันอยากได้อะไรฉันก็ให้ไป มันก็คิดว่าเป็นของดีหมด มันคิดว่าเป็นของขลัง โดนยิงก็ยังตายอยู่ พวกที่มาเพื่อให้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองนั้น ฉันก็บอกไปว่า พยายามรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ใช้แต่พอประมาณอย่าน้อยหรือมากเกินไป ฉันจะบันดาลให้ใครรวยทันตานั้นเห็นเป็นไปไม่ได้เลย คิดเอาง่ายๆ ก็แล้วกัน ขนาดกุฏิฉันยังต้องออกแรงสร้างเองเลย”
    ขณะที่คนจำนวนมากบูชาพระเศรษฐีนวโกฏิ เพราะเชื่อว่าจะบันดาลโชคลาภให้นั้น ท่านกลับว่า เวลาคนที่นิมนต์ท่านไปนั่งปรกในพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังนั้น ท่านหลับตาทำสมาธิ

    “ของมันจะขลังไม่ขลัง เป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาว่าไม่ขลังก็ไม่ขลัง ถ้าเขาว่าขลังมันก็ขลัง มันอยู่ที่คนถือ จะถืออะไร ถ้าเขาคิดว่าอะไรขลังมันก็ขลัง มันอยู่ที่จิตของเขาไม่ได้อยู่ที่จิตของเรา” (คม ชัด ลึก 28 เม.ย. 2548)

    สำหรับท่านเองนั้นได้ตำราพระมหาเศรษฐีนวโกฏมาจากเจ้าคุณปราจีนบุรี ส่วนเจ้าคุณปราจีนบุรียุคนั้นก็ได้มาจากท่านเจ้าคุณอุบาลี (จันทร์ สิริจันโท) ซึ่งอัญเชิญตำรานี้มาจากลาว

    พระรูปประหลาดที่มีพระพักตร์เป็นหน้าถึง 9 หน้านั้นเป็นอุบายซึ่งมีคติธรรมแทรกอยู่ว่า ในครั้งพุทธกาลมีเศรษฐี 9 คนที่ร่วมประกอบบุญกัน และต่างก็เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไปทั้งสิ้น ท่านนั่งสมาธิเพชรหมายถึงความมุ่งมั่น มั่นคงในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ โดยไม่แปรเปลี่ยน การประณมมือหมายคงความอ่อนน้อมพร้อมอุทิศขันธ์ 5 เพื่อปฏิบัติบูชาโลกุตตรธรรมทั้ง 9 เกศบัวตูมหมายถึงปัญญาที่พร้อมจะโผล่พ้นน้ำ ฯลฯ แต่กี่คนจะน้อมหรือนึกถึงอุบายธรรมเหล่านี้หรือปฏิบัติตามที่เศรษฐีทั้ง 9 ซึ่งเคยค้ำจุนศาสนาครั้งพุทธกาล
    หลวงปู่มา ได้ชื่อว่าพระปฏิบัติและปฏิบัติดี แล้วผลแห่งการปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร?

    หลวงปู่ว่า คนคิดว่าท่านสำเร็จพระอรหันต์ แต่ท่านว่า ฉันยังเป็นพระที่มีกิเลสเต็มตัวเหมือนพระทั่วไป

    “มันคิดว่าฉันสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ฉันก็ย้อนไปว่า ฉันก็ยังเป็นพระที่มีกิเลสเต็มตัวเหมือนพระทั่วๆ ไป”

    ไม่ว่าท่านจะว่าอย่างไร แต่ท่านก็เป็นที่พึ่งของปวงชนมายาวนาน จนกระทั่งเดือน พ.ค. 2552 หลังฉลองอายุวัฒนะครบ 97 ปี ก็เริ่มมีอาการอาพาธและมรณภาพ ด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 10.59 น. วันที่ 2 พ.ย. 2552

    ยุติสังขารนี้ไปขณะอายุ 97 ปี พรรษา 77

    หลวงปู่มา ญาณวโร อรหันต์มีกิเลสแห่งลุ่มน้ำชี
     

แชร์หน้านี้

Loading...