รู้ชีวะชุบชีวิต

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 22 มิถุนายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    [​IMG]

    ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักพันธุกรรมศาสตร์คนสำคัญของโลกที่รวบรวมองค์ความรู้เป็นตำรา "วิวัฒนาการแห่งชีวิต" กล่าวไว้ถูกต้องแล้วว่า สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นถึงอยู่รอด


    [COLOR=#00000]กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ [/COLOR]:
    และในโลกศตวรรษที่ 21 ระหว่างมนุษย์กับไวรัส แบคทีเรีย ใครจะเป็นผู้อยู่รอด ความรู้ทางด้านชีวโมเลกุลจะยื้อลมหายใจของมนุษย์ได้นานสักแค่ไหน ปองพล สารสมัคร ค้นหาคำตอบ
    อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ พุทธภาษิตนี้ยังคงเป็นสิ่งสากลที่นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกยุคทุกสมัย แม้เวลาได้ล่วงเลยมาสองพันห้าร้อยกว่าปี แต่ประโยคนี้เป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีที่ช่วยทำให้ชีวิตของมนุษย์ยืนยาวขึ้น
    แต่เมื่อสภาพแวดล้อมภายในโลกกลมๆ ใบนี้เปลี่ยนไป โรคระบาดและโรคอุบัติใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พุทธภาษิตอย่างเดียวคงต้านทานไว้ไม่อยู่
    การแพทย์สมัยใหม่จำเป็นต้องหาหนทางรักษาชีวิตของมนุษย์ไว้ให้ได้ จนกว่าจะสิ้นอายุขัยตามกาลและเวลาของร่างกาย
    ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนสามารถรู้โครงสร้างและส่วนประกอบ พันธุกรรมของมนุษย์และนำไปสู่การค้นพบตัวยาและหนทางใหม่ที่รักษาโรคร้าย
    "ข้อมูลทางดีเอ็นเอ จะบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อโรคของมนุษย์ ได้อย่างชัดเจน ทำให้รู้วิธีว่าจะทำให้อายุยืนได้อย่างไร มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งวิธีการรักษาโรคใหม่ๆ ในระดับเซลล์และโมเลกุล จากเดิมโอกาสหายจากโรคอยู่ที่ร้อยละ 50 แต่ปัจจุบันโอกาสหายมีมากถึงร้อยละ 80 เนื่องจากการค้นพบวิธีการรักษาโรคใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม" นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ทีเซลส์) ให้ข้อสังเกต
    ที่ผ่านมา ความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบและกลไกทำงานของสารพันธุกรรม หรือยีน ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าหาเงื่อนงำถึงสาเหตุของโรคต่าง ๆ ตลอดจนความแก่ชรา ความผิดปกติทางจิตใจ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่มีผลต่อร่างกาย และรหัสทางพันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ภายใต้ร่างกายนี่แหละจะเป็นกุญแจไขไปสู่การพัฒนายาที่ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตยาวขึ้น
    รหัสพันธุกรรมช่วยอธิบายว่า ทำไมบางคนจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางโรคในขณะที่บางคนไม่มีความเสี่ยงต่อโรค ทำไมบางคนมีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการ
    รักษาบางอย่าง แต่บางคนกลับไม่มี จากพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับพันธุกรรมช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค้นพบวิธีป้องกันโรคที่เฉพาะเจาะจง สำหรับแต่ละบุคคล

    จ่ายยาตามยีน
    ดูเหมือนว่า โรช บริษัทยายักษ์ใหญ่จะเข้าใจถึงความรู้พื้นฐานนี้เป็นอย่างดีจนนำไปสู่การออกแบบยาและวิธีการตรวจวินิจฉัยที่จำเพาะเฉพาะบุคคลให้แม่นยำมากขึ้น
    ดร.ฮานโน แลงเกน รองหัวหน้าศูนย์พันธุวิศวกรรมการแพทย์แห่งใหม่ของโรช สำนักงานใหญ่ ณ เมืองบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่า ผลของการรักษาด้วยยาตัวเดียวกัน อาจให้ผลการรักษาที่แตกต่างกันในผู้ป่วย แต่ละราย ผู้ป่วยรายหนึ่งอาจทนต่อยาได้ดี แต่บางรายอาจจะพบอาการข้างเคียง
    สาเหตุหลักมาจากพันธุกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ความรู้ความเข้าใจทางด้านพันธุศาสตร์ การศึกษาจีโนมิกส์และกลุ่มของโปรตีนที่ประกอบตัวกันในสิ่งมีชีวิตช่วยให้ความก้าวหน้าทางการแพทย์รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและทำให้การศึกษาวิจัยพัฒนายาได้ดีขึ้น
    "จากการวิจัยทางคลินิกทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมบางคนให้ผลตอบสนองทางยาแตกต่างกัน แม้ว่าจีโนมเหมือนกัน แต่โปรตีนอาจแตกต่างกัน ซึ่งทำให้เราสามารถออกแบบยาให้มีความปลอดภัยมากเพิ่มขึ้นกว่าเดิม" ดร.ฮานโน กล่าว
    จากความรู้เรื่องพันธุกรรมนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ที่ทำให้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น เครื่องหมายชีวภาพหรือไบโอมาร์คเกอร์ เป็นเครื่องมือทางการแพทย์อีกชนิดหนึ่งที่บริษัทโรชพยายามพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์
    โทมัส เม็ทคาล์ฟ หัวหน้าโครงการเครื่องหมายชีวภาพ บริษัทโรช กล่าวว่า เครื่องหมายทางชีวภาพชนิดใหม่ ๆ มีบทบาทสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนายา รวมทั้งเครื่องหมายชีวภาพชนิดใหม่ที่ใช้เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค
    "เครื่องหมายทางชีวภาพช่วยทำให้เราเห็น การตอบสนองของร่างกายต่อตัวยาที่ใช้ในการรักษา ทำให้แพทย์ผู้รักษาคนไข้ หรือแม้แต่นักวิจัยวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าคนไข้ต้องการตัวยาขนาดเท่าไหร่ ที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ หรือว่าตัวยามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่" โทมัส กล่าว

    สมุนไพร: เวชภัณฑ์พื้นบ้าน
    แม้ว่าการผลิตยาจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเพื่อให้ตัวยาที่ผลิตได้ออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บริษัทโนวาร์ติช หนึ่งในบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก กลับมองว่า สารสกัดจากสมุนไพรจะกลายเป็นคำตอบสำหรับการรักษาโรคในอนาคต
    "ธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดยาสำหรับมนุษย์มานับพันปี และปัจจุบันยังคงเป็นแหล่งสำคัญในการค้นพบยาใหม่ ๆ ที่พัฒนาสู่การผลิตได้ การค้นคว้าวิจัยผลิตผลจากธรรมชาติของโนวาร์ติชล้วนมาจากผลิตผลจากธรรมชาติมากมายหลายวิธี" ดร.แอสเธอร์ เคชมิตต์ ผู้อำนวยการด้านจุลชีววิทยา แผนกผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สถาบันวิจัยด้านชีวเวชศาสตร์ของโนวาร์ติช กล่าว
    การค้นคว้าวิจัยดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2440 โดยริเริ่มจากการเก็บรวบรวมสารสกัดธรรมชาติจากทั่วโลกไว้ในห้องสมุดสารสกัดที่มีสารจากธรรมชาติจำนวน 1,600,000 ชนิดและเก็บรวบรวมมามากกว่า 100 - 200 ชนิด
    "เราต้องการหาโมเลกุลยาขนาดเล็กที่อาจทำให้โปรตีนของมนุษย์ทำงานได้มากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการรักษาโรค" ดร.แอสเธอร์กล่าวย้ำและเน้นถึงความสำคัญในการสร้างห้องสมุดตัวยาสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อนำมาคัดเลือกเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยา
    ปัจจุบันบริษัทโนวาร์ติชมีความร่วมมือกับนานาประเทศในการค้นหาสารจากธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตยา รวมทั้งความร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ประเทศไทยเพื่อพัฒนายาที่มาจากผลิตผลทางธรรมชาติที่พบในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายหาความเป็นไปได้ในการใช้จุลินทรีย์และสารประกอบจากธรรมชาติเพื่อใช้ประกอบในการผลิตยา
    ดร.แดเนียล วาเซลลา ประธานและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของโนวาร์ติช กล่าวว่า เป้าหมายคือการมองหาความเป็นไปได้ จากความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในธรรมชาติในประเทศไทยเพื่อนำมาพัฒนายารักษาโรค อาทิ มะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคเขตร้อนอื่นๆ
    ทั้งนี้ผลิตผลจากธรรมชาติเป็นสารประกอบที่มีประสิทธิภาพในเชิงชีววิทยาซึ่งพบได้ตามธรรมชาติ และสามารถนำมาใช้เป็นยาเพื่อบำบัดรักษาโรคของมนุษย์ได้
    สารเหล่านี้มีทั้งแบบตามธรรมชาติและรูปแบบที่พัฒนาจากสารธรรมชาติ โดยสารนี้มักได้รับการสกัดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือ พืช ที่ได้รับการคัดแยกออกมาจากแหล่งธรรมชาติเพื่อนำมาพัฒนาเป็นตัวยาที่ดีที่สุด

    รู้ชีวะชุบชีวิต
    การวิจัยทางด้านชีววิทยาศาสตร์ได้ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนและกำลังก้าวไปสู่ข้างหน้าเพื่อค้นหาตัวยาและวิธีการรักษาโรคแห่งอนาคต หลังจากรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ถูกเปิดเผยออกมาจนหมดเปลือก ขณะเดียวกันการศึกษาด้านชีวโมเลกุลกำลังทำให้มนุษย์เข้าใจถึงโครงสร้างของโรคต่างๆ ที่ลึกลงไปในอีกระดับหนึ่ง
    ศาสตราจารย์ เซอร์ เดวิด เวเธอร์ออลล์ ผู้ก่อตั้งสถาบันเวเธอร์ออลล์ด้านเวชศาสตร์เชิงโมเลกุล กำลังศึกษาวิจัยโรคสำคัญๆ ตั้งแต่โรคมะเร็งจนถึงโรคเอดส์ โดยใช้ศาสตร์ด้านชีววิทยาเชิงโมเลกุลและ ชีววิทยาของเซลล์เป็นอาวุธที่ใช้ในการศึกษา
    สถาบันแห่งนี้มีโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะโดยที่มีการทำงานประสานกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้านคลินิกและนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ทำคลินิก ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา
    ความร่วมมือดังกล่าวปรากฏผลออกมาเป็นรูปธรรม ได้แก่ การค้นพบความรู้พื้นฐานระดับโมเลกุลของโรคหลายชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของยีน และความผิดปกติในการตอบสนองทางจิตใจ เกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบทั่วไป อาทิ โรคเบาหวานและโรคข้ออักเสบจากการใช้รูมาติก รวมทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมที่ทำให้คนเรามีโอกาสเสี่ยงมากหรือน้อยต่อการเกิดโรคติดเชื้อที่พบทั่วไป
    ความก้าวหน้าในการวิจัยด้านชีววิทยาเชิงโมเลกุลและชีววิทยาของเซลล์ของสถาบันแห่งนี้ส่งผลให้เกิดศักยภาพมหาศาลในการวิจัยและปฏิบัติทางการแพทย์ เริ่มตั้งแต่การค้นพบสาเหตุของโรคทางพันธุกรรม และควบคุมโรคเหล่านั้น ในระยะยาว ความก้าวหน้าจากผลการวิจัยเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการอธิบายสาเหตุของโรคบางโรคที่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้และไม่สามารถแก้ไขด้วยการแพทย์สมัยใหม่
    "ศาสตร์ทางด้านชีววิทยากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนก้าวผ่านยุคปฏิวัติพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเกี่ยวกับการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันการแพทย์กำลังดำเนินมาในทางที่ถูกต้องมากขึ้น เราสามารถรักษาโรคให้เฉพาะทางมากขึ้น และความรู้ทางด้านพันธุกรรมจะทำให้เราทำนายได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น" เซอร์ เดวิด กล่าว
    การประยุกต์ความรู้ด้านชีววิทยาเชิงโมเลกุลและชีววิทยาของเซลล์ในการแพทย์กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในอุตสาหกรรมยา ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการจดสิทธิบัตรเป็นจำนวนมาก กระนั้นก็ดี การวิจัยและพัฒนายารักษาโรคเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถพิชิตโรคร้ายได้ หากปราศจากความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของโรคนั้น
    สถาบันแม็กซ์ พลังค์ แห่งประเทศเยอรมนี กำลังค้นคว้าหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคทางระบบประสาทอย่างเช่น โรคลมชัก เป็นต้น
    "เรากำลังหาคำอธิบายเกี่ยวกับรหัสของเซลล์ประสาทว่า เซลล์ประสาทชนิดใดทำหน้าที่สื่อสารและกลไกของการเปลี่ยน แปลงรูปทรงของสมองเป็นอย่างไร ซึ่งอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุโรคทางประสาทในระดับเซลล์ และโมเลกุล" ดร.เบิร์ต แซคมานน์ หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยาของเซลล์ กล่าวถึงงานวิจัยพื้นฐานด้านประสาทวิทยาของสถาบันแห่งนี้
    ดร.แซคมานน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ร่วมกับเออร์วิน เนเฮอร์ ในปี 2534 โดยพวกเขาสองได้ค้นพบการทำหน้าที่ของช่องทางของประจุไฟฟ้าในเซลล์ซึ่งโรคหลายโรคมีสาเหตุจากความล้มเหลวหรือ ไม่ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ของช่องทางของประจุไฟฟ้าในเซลล์
    โรคเหล่านี้ได้แก่ โรคไมเกรนที่มีสาเหตุจากอาการอัมพาตครึ่งซีก เนื่องจากโรคสมองหรือไขสันหลัง ที่เกิดจากกรรมพันธุ์ และภาวะกล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยโรคทั้งสองชนิดนี้เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวโดยร่างกายไม่สามารถบังคับได้
    ช่องทางของประจุไฟฟ้าในเซลล์ยังเกี่ยวข้องกับโรคต่อไปนี้คือ ภาวะหัวใจเต้น ผิดจังหวะเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ภาวะหลอดเลือดแข็ง อาการปวดเค้นหัวใจ และอาการชักอันเกิดจากโรคลมชัก
    ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ฮารัลด์ ซูร์ เฮาเซ่น อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมะเร็งของประเทศเยอรมนี กำลังขะมักเขม้น กับงานวิจัยหาแนวทางป้องกันโรคมะเร็ง ปากมดลูกซึ่งพบมากในผู้หญิงและ เป็นสาเหตุการตายลำดับต้น ๆ ของประชากรโลก โดยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดเนื้องอกไม่ร้าย
    ดร.ซูร์ เฮาเซ่น พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสหูด หรือ แพ็บพิโลม่าไวรัสของคน ชนิด เอชพีวี 16 และเอชพีวี 18
    การค้นพบของ ศ.ดร.ซูร์ เฮาเซ่น ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกถูกต้องมากเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การป้องกัน และการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกที่ดีขึ้น รวมทั้งลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี
    และที่สำคัญองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยพื้นฐานของ ศ.ดร.ซูร์ เฮาเซ่น ยังนำไปสู่การคิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคในอนาคตอีกด้วย
    "เมื่อเรารู้ลักษณะโมเลกุลไวรัส โดยเอายีนของไวรัสมาดู ทำให้รู้ถึงโปรตีนของไวรัสว่ามีลักษณะอย่างไร แล้วเอาโปรตีนออกมาทำวัคซีน ทั้งนี้ โมเลกุลของไวรัสทำให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานสูง อยู่ในร่างกายได้นาน ไม่มีผลอะไร และสามารถนำมาเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งได้"
    ดร.ซูร์ เฮาเซ่น หวังว่าความรู้ที่ได้จากงานวิจัยจะช่วยทำให้การผลิตวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งมีราคาถูกลงและทำให้โรคมะเร็งหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว
    นอกจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งประเทศเยอรมนี ยังสนใจศึกษาหาสาเหตุของโรคมะเร็งอื่นๆ อาทิ โรคมะเร็งตับอ่อน โดยหาข้อมูลดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ และการแสดงออกของโปรตีน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยทำให้พบกลไกการเกิดมะเร็ง และนำไปสู่การพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์โรคมะเร็งในระยะต้นๆ
    ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยมะเร็งได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วยุโรปเเพื่อหาแอนติบอดีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวิเคราะห์โรคมะเร็ง โดยตั้งเป้าว่าจะได้ข้อมูลมากพอสมควรที่ช่วยวิเคราะห์โรคร้ายนี้ได้ แต่หนทางที่ดีที่สุด ดร.ซูร์ เฮาเซ่น แนะนำว่าควรตรวจหามะเร็งในระยะต้นซึ่งช่วยป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที


    ที่มา
    [​IMG]
     
  2. aonwit01

    aonwit01 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    681
    ค่าพลัง:
    +1,025
    ไม่รู้จะชุบชีวิตได้ยังไง แต่ก็เป็นความรู้ครับ ขออนุโมทนา
     
  3. ปีศาจร้าย

    ปีศาจร้าย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    666
    ค่าพลัง:
    +1,240
    ตอนนี้ชีวิตเราก็เหมือนตายไปแล้วทั้งเป็น
     
  4. aonwit01

    aonwit01 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    681
    ค่าพลัง:
    +1,025
    คล้ายๆกับเลย ครึ่งชีวิตครึ่งความตาย
     

แชร์หน้านี้

Loading...