หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 4 มกราคม 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ ท่านเกิดปีมะโรง เดือน 5 วันอังคาร พ.ศ.2389 ที่บ้านวังด้งจังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรนายยิ่ง และนางเปี่ยม ซึ่งประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง
    อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน มี พระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด
    บวชแล้วได้ร่ำเรียนหนังสือขอม บาลี มงคลทีปนี มูลกระจายน์ สูตรสนธิ จนชำนาญหากด้วยความชมชอบที่จะร่ำเรียนพุทธาคมหลวงปู่ยิ้ม ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์แดงพระคู่สวดว่า ที่เมืองบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม มีพระเกจิอาจารย์ที่เก่งๆ หลายรูปเช่นนั้นหลวงปู่ยิ้ม จึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชา
    หลวงปู่ยิ้ม ท่านศึกษากับพระปลัดทิม วัดบางลี่น้อย อำเภออัมพวา ร่ำเรียนวิชาทำธงกันอสุนีบาต (สายฟ้า) และพายุคลื่นลม วิชาหวายลงอักขระทำรูปวงกลม วิชาทำลูกอมหมากทุย ซึ่งหลวงปู่ยิ้ม ได้นำวิชาจากพระปลัดทิมมาทำหวายคาดเอว เป็นหวายผ่าซีกขัดลงอักขระคาถากำกับตรงปลายหวายทั้งสองถักเชือกเป็นปมและห่วงสำหรับคล้องเวลาคาด
    ห้วงนั้นยังร่ำเรียนวิชาจาก หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม อำเภออัมพวา เรียนทางมหาอุตม์ ผ้าเช็ดหน้า ทางเมตตามหานิยม เชือกคาดเอว ถักเป็นรูปกระดูกงูกันเขี้ยวงา และเรียนกับ หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ อำเภออัมพวา เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอ มหาประสาน เชือกคาดชื่อ ตะขาบไฟ หรือไส้หนุมาน มีตะกรุดคู่อยู่หัวเชือก
    วัตถุมงคลของหลวงปู่ยิ้ม นอกเหนือจากหวายคาดเอวที่กล่าวถึงแล้วนั้น ยังมีอีกมากมายหลายชนิด ดังปรากฏในบันทึกลายมือของพระโสภณสมาจารย์ (เหรียญ สุวณฺโชติ) ศิษย์เอกของหลวงปู่ยิ้ม และเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบต่อมา ว่า "ท่านอุปัชฌาย์ยิ้ม เกิดที่ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน เมื่ออยู่จนปกครองตนเองได้ จึงเที่ยวเรียนวิชาทางพุทธศาสนาในสำนักต่างๆ ในที่สุดมาในสำนักหลวงพ่อกลิ่น เจ้าอาวาสวัดหนองบัว
    เรียนวิชาทางไสยศาสตร์จนเชี่ยวชาญ ก็พอหลวงพ่อกลิ่นถึงแก่มรณภาพลง จึงได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน จวบจนอายุได้ 66 ปี เป็นพรรษาที่ 46 ก็ถึงมรณภาพ
    หลวงปู่ยิ้มท่านมีนิสัยพอใจในทางหมอ และทางเวทมนต์ ท่านสวดมนต์หรือบังสุกุลมาได้เป็นปัจจัยเท่าใด ไม่เคยใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกจากซื้อกิน และเรียนวิชาเท่านั้น
    สมัยนั้นทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เมื่อผ่านจังหวัดกาญจนบุรีจะต้องมาหาท่าน เพื่อขอของไปคุ้มตัว จนบางครั้งท่านต้องหลบออกนอกวัดไปอาศัยจำวัดตามร่มไม้นอกวัด เจ้านายเท่าที่จำได้ก็มีกรมหลวงชุมพรฯ ได้มาหา 2 ครั้ง ได้รับมีดหมอไป 1 เล่ม เขาว่าลอยน้ำได้ด้วย เฉพาะบรรพชิตผู้สนใจทางนี้ ตลอดในลำน้ำแม่กลองและในคลองต่างๆ ฤดูออกพรรษาแล้วจะต้องมาขอเป็นศิษยานุศิษย์ท่านบ้าง ขอแลกเปลี่ยนความรู้กันบ้าง ผู้ใดได้ของแปลกก็ต้องนำมาถวาย ดังปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนหนองบัว
    หลวงปู่ยิ้มเป็นผู้มีจิตเข้มแข็ง ชอบใคร เท่าไรเท่ากัน ถ้าชังแล้วไม่ไว้ใคร มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งทำอะไรแล้วต้องสำเร็จลุล่วง จิตใจของท่านจึงมีสมาธิแน่วแน่เรียนทางเวทมนต์ เรียกกันว่าถือขลัง เพราะจิตเป็นสมาธิได้
    เครื่องรางในสมัยท่าน มีหลายชนิด เช่นลูกอมทำด้วยทองคำ เงิน ทองแดง กระดาษเชือกคาดเอว ทำด้วยผ้าและหวายรอบเดียว สองรอบ ตะกรุดมีหลายชนิด ผ้าประเจียดผ้าเช็ดหน้า หมวก เสื้อ ธง และพระผง เฉพาะพระผงนี้ทำด้วยผงอิทธิเจ ปถมัง พุทธคุณมหาราช ตรีนิสิงเห และเลขยันต์คาถาอาคมต่างๆ ประสมด้วยว่าน 108 เกสรดอกไม้บูชาพระ 108 ไคลโบสถ์ ไคลเจดีย์ ไคลเสมา ใบโพธิ์ ข้าวสุกบาตรพระพุทธ ขี้เหล็กจารหนังสือใหญ่ ผสมบดแล้วอัดพิมพ์เป็นรูปพระ วิธีบรรจุพิมพ์ ให้ภิกษุสามเณรผู้มีศีลทำในพระอุโบสถ ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องนุ่งขาวห่มขาวสมาทานเบญจศีลแล้วจึงทำได้ สำเร็จรูปแล้วทำพิธีปลุกเสก
    ในสมัยที่หลวงปู่ยิ้ม ยังมีชีวิตอยู่ คราวใดที่พระยาประสิทธิสงคราม (นุชมหานีรานนท์) เจ้าเมืองกาญจนบุรี มีเหตุต้องมาราชการที่กรุงเทพฯ บรรดาเจ้านายและข้าราชการต้องถามหาตะกรุด ลูกอมหลวงปู่ยิ้ม จุดนี้ย่อมบ่งให้รู้ว่าชื่อเสียงในเครื่องรางและวัตถุมงคลของหลวงปู่ยิ้ม ได้เป็นอย่างดียิ่ง
    เซียน"หนุ่ย เมืองกาญจน์" เปิดตำนานพระปิดตาปู่ยิ้ม
    นามจริง "อำนาจ ยิ้มละมัย" ส่วนชื่อในวงการพระ "หนุ่ย เมืองกาญจน์" เป็นคนเมืองกาญจนบุรีโดยกำเนิด ศึกษาหาความรู้พระเครื่องจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ว่าจะเป็นพระกรุ พระเก่า พระเกจิอาจารย์ในอดีต แต่ที่ชำนาญมากก็คือวัตถุมงคล "หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว"
    วัตถุมงคลของหลวงปู่ยิ้ม ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ของท่านทุกอย่าง ดีครบทุกประการ ทุกคนในวงการพระเครื่องปรารถนาที่จะได้มาเป็นสมบัติของตัวเอง
    "ผมพกพาติดตัววัตถุมงคลของหลวงปู่ยิ้มอยู่ตลอดเวลา เชื่อและมีประสบการณ์ในเรื่องของแคล้วคลาด ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ จนนับครั้งไม่ถ้วน จึงรู้รายละเอียดประวัติความเป็นมาของวัตถุมงคล หลวงปู่ยิ้มดี การสร้างพระปิดตาวัตถุมงคลของหลวงปู่ยิ้ม เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมีขั้นตอนการจัดสร้างอย่างพิถีพิถัน เริ่มจากการหามวลสาร ผงวิเศษ จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย"
    หลวงพ่อเฒ่ายิ้มท่านได้สร้างพระพิมพ์พระเครื่องรางของขลังแจกลูกศิษย์และสาธุชนผู้เลื่อมใสไว้ใช้คุ้มครองตัวหลายแบบเช่น ตะกรุดลูกอม ลงหัวใจโลกธาตุ "อินธินาทะยิ" ทำด้วยทองคำ เงิน ทองแดง และต้องมีน้ำหนัก 1 สลึง และมีความยาว 7 ใบมะขามเรียง สัตตโภชฌงค์ 7 มีชื่อเสียงปรากฏทั่วประเทศ อาศัยที่ท่านได้ไปศึกษามาหลายอาจารย์และเอามาคิดค้นจนสำเร็จจึงได้ถ่ายทอดวิชาให้สานุศิษย์ โดยท่านที่จะมาขอเรียนวิชาตะกรุดลูกอม จะต้องทดสอบนั่งวิปัสสนาเพ่งไส้เทียนขาดด้วยพลังจิต ท่านจึงจะมอบวิชาให้ จัดได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในวิชาตะกรุดลูกอมทีเดียว
    "เชือกคาดเอว ทำด้วยผ้าและหวาย ลงอักขระทั้งเส้น มีทั้งแบบรอบเดียวและแบบวัดสองรอบเอว ตะกรุดทอง นาก เงิน และทองแดงขนาดต่าง ๆ ผ้าเช็ดหน้า ผ้ารองหมวก เสื้อยันต์ธงค้าขาย ธงกันไฟ กันฟ้าผ่า พระพิมพ์แบบต่าง ๆ ที่เป็น ผงคลุกรัก ก็มีผงพุทธคุณล้วนก็มีและเป็นที่โด่งดัง เป็นที่เสาะแสวงหามากที่สุดก็คือ พิมพ์ภควัมบดี (ปิดตา) ขนาดต่าง ๆ ส่วนขันน้ำมนต์ ขันล้างหน้าทำด้วยไม้มงคลไม้ส้มป่อยขนาดต่าง ๆ ลงรักปิดทอง ติดพระพิมพ์ไว้ภายในขันนั้น สร้างในสมัยหลวงปู่เหรียญ แต่พระพิมพ์ที่นำมาติด โดยเฉพาะองค์ที่ติดตรงกลางขันจะเป็นพระของหลวงปู่ยิ้ม"
    การสร้างพระปิดตา เนื่องจากหลวงปู่พ่อเฒ่ายิ้ม มีวิชาอาคมมาก เพราะศึกษามาหลายสำนัก ท่านจึงสร้างผงวิเศษไว้มากพอสมควร ครั้นได้ฤกษ์งามยามดีท่านก็แกะแม่พิมพ์ ด้วยหินมีดโกน เป็นแบบปิดตา และพระสังกัจจายน์ แล้วสร้างเป็นพระพิมพ์ โดยแบ่งพิมพ์ทรงออกเป็น 4 พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่นิยม หรือพิมพ์ชะลูด พิมพ์นี้องค์พระจะมีสัณฐานสูงชะลูดชาวบ้าน เรียกคิดปากว่า "พิมพ์ยืด" ส่วนสูงของพิมพ์นี้ประมาณ 2.5 ซ.ม. ลักษณะของ องค์พระเป็นรูปลอยองค์พระหัตถ์สองข้างปิดพระเนตร ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเพลา (ส่วนขา) เหยียดตรงติดกัน จนมีลักษณะคล้ายฐานเขียงไม่ปรากฏการซ้อนพระชงฆ์ (แข้ง) แต่อย่างใด รายละเอียดอื่น ๆ ไม่ปรากฏชัดเจนส่วนด้านหลังจะเป็นแบบหลังปาดเรียบ
    พิมพ์พระสังกัจจายน์ พิมพ์นี้ชาวบ้านจะเรียกว่า พิมพ์พุงป่อง หรือ พิมพ์อุ้มท้อง ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อผง ที่มีวรรณะค่อนข้างจะออกขาวอมเหลือง มีความแห้งจัด องค์พระจะมีความสูง ประมาณ 1.2 ซ.ม. ลักษณะของพิมพ์ดูแตกต่างจากพิมพ์ชะลูดโดยชัดเจน มีลักษณะการใช้พระหัตถ์ที่ประสานเหนือตักในท่านั่งสมาธิรับกับช่วง พระชานุ (เข่า) จะเป็นมุมสามเหลี่ยมไม่มีลักษณะของฐานเขียง ปรากฏแต่อย่าใด
    พิมพ์แข้งซ้อน พระพิมพ์นี้มีส่วนสูงประมาณ 2 ซ.ม. ฐานกว้างประมาณ 1.5 ซ.ม. ลักษณะขององค์พระเป็นรูปลอยองค์แบบครึ่งซีก พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกปิดพระเนตรอย่างกลมกลืน ไม่ปรากฏนิ้วมือ ประทับนั่งสมาธิราบ พระเพลา ข้างขวาทับพระเพลาข้างซ้ายแต่ส่วนปลายของพระเพลาขวากลับชี้ขึ้น จนมีลักษณะเหมือนกับยกแข้ง จึงมองดูคล้าย "แข้งซ้อน" และเท่าที่พบเห็น พระส่วนมาก จะมีปีกเกินด้านหลังจะอูมนูนคล้ายกับหลังเบี้ย มวลสารวรรณะจะมี สีเทาอมเขียว
    พิมพ์โบราณ พระพิมพ์นี้จัดได้ว่าเป็นการสร้างพระเครื่องรุ่นแรก ๆ ของท่านเท่าที่พบส่วนมากจะมีลักษณะคล้ายพระปิดตาพิมพ์ยืดและพิมพ์พระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นคนละพิมพ์กันกับพระพิมพ์นิยมและพระพิมพ์ ส่วนมากจะเป็นเนื้อผงคลุกรัก ด้านหลังจะเป็นแบบหลังปาดเรียบ สำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญในเรื่องของพระเครื่อง หลวงปู่เฒ่ายิ้ม จะไม่ขอแนะนำให้สะสม
     

แชร์หน้านี้

Loading...