เรื่องเด่น เรื่องกสิณไฟ ไม่ใช่ของร้อน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Apinya Smabut, 23 เมษายน 2019.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,398
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,633
    ?temp_hash=0668b3ab0d953e98dda8860849dce01d.jpg

    เมื่อวันพุธที่ ๑ ก.ย. ๒๕๓๖ เพื่อนของผมท่านสงสัยว่าในเมื่อกรรมฐานทุกกองเป็นของเย็น แล้วเตโชกสิณหรือกสิณไฟจะเป็นของร้อนหรือไม่ สมเด็จองค์ปฐมก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนให้หายสงสัย มีความสำคัญดังนี้

    ๑. “คำว่าไฟย่อมเป็นของร้อน แต่กสิณไม่ร้อนด้วย” ทรงตรัสแค่นี้ก็ยังไม่เข้าใจ

    ๒. ทรงตรัสต่อไปว่า “ผู้บวชเข้ามาเป็นพระในพระพุทธศาสนามีศีลเป็นบันไดรองรับขั้นต้น จิตจึงมีความเย็นด้วยศีล เมื่อปฏิบัติพระกรรมฐาน การทำสมาธิจิตเพ่งกสิณได้ก็เป็นอารมณ์จิตเย็น

    ๓. “บุคคลผู้มีโทสะจริต ใจร้อน สมาธิย่อมเกิดขึ้นได้ยาก การเจริญกสิณกองใด ๆ ก็ไม่เป็นผล

    ๔. “เจ้าจักเห็นได้ว่า บุคคลผู้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็จักมีความเยือกเย็นของจิตเพิ่มขึ้น ด้วยการทำสมาธิ มีศีล ปัญญาก็เพิ่มพูนให้จิตสบายขึ้นได้ตามลำดับ ต่างกับบุคคลผู้ทรงฌานโลกีย์ ศีลยังไม่มั่นคง ใช้กำลังสมาธิจิตไปในทางผิด ๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูเยี่ยงท่านเทวทัตในพุทธกาลนี้ แม้ได้อภิญญาแสดงฤทธิ์ได้ก็ยังเสื่อม เพราะอภิญญาโลกีย์”

    ๕. “พระกรรมฐานจักอยู่กับผู้มีอารมณ์จิตเย็นเท่านั้น ตถาคตจึงยืนยันว่า พระกรรมฐานทุกบทเป็นของเย็น ในบุคคลที่มากด้วยโมหะ โทสะ ราคะ พระกรรมฐานก็จักอยู่ด้วยไม่ได้นาน

    จากนั้นพระพุทธองค์ ก็ทรงพระเมตตาตรัสสอนต่อดังนี้

    ๑. “อย่าทะนงตนว่าเป็นผู้รู้เป็นอันขาด เพราะธรรมทั้งหลายที่พวกเจ้ารู้ได้เวลานี้ เป็นการสงเคราะห์ของพระ ยังไม่ใช่ความรู้ธรรมที่แท้จริง อันซึ่งต้องเกิดจากจิตที่พิจารณาธรรมด้วยปัญญา ยอมรับนับถือในธรรมทั้งปวง และจักต้องละกามฉันทะและปฏิฆะได้แล้ว นั่นแหละจึงจักเป็นของจริง

    ๒. “พวกเจ้าจักต้องปรามจิตเอาไว้เสมอ อย่าเผลอกล่าวธรรมเป็นเชิงอวดอ้าง อวดวิเศษทั้ง ๆ ที่ยังปฏิบัติมิได้ผล”

    ๓. “ต่อไปนี้ พวกเจ้าไม่ว่าจักคิด จักพูด จักทำอะไร จงให้ศีล สมาธิ ปัญญา ควบคุมอยู่ในเวลานั้น อย่าให้บกพร่องแม้แต่เรื่องเดียว”

    ๔. “ศีล สมาธิ ปัญญาจักละเอียดขึ้นได้ ก็อยู่ที่เอามาใคร่ครวญอยู่เสมอ การพิจารณาในขณะที่จักกระทำกรรมอยู่นั้น เป็นการทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นในจิตพร้อม ๆ กันทั้ง ๓ สิกขาบท พวกเจ้าจึงจักมีความก้าวหน้าในอริยมรรค อริยผลยิ่งขึ้น” (จิตก็สงสัยว่าศีลและปัญญานั้นใคร่ครวญได้ แต่สมาธินั้นใคร่ครวญอย่างไร)

    ๕. ทรงตรัสว่า “ดี ในเมื่อไม่เข้าใจในธรรม ก็พึงจักไต่ถามหาความกระจ่างในธรรมนั้นเป็นการถูกต้อง ดีกว่าจักไปสงสัยในธรรมแล้วเดา ตีความหมายเอาเองตามอารมณ์จิตของตนเอง อย่างนั้นไม่สมควร การปฏิบัติจักผิดพลาดได้ง่าย เพราะไม่รู้จริง”

    ๖. “การใคร่ครวญสมาธิคือ จิตมีโอกาสพักอยู่ในสมถภาวนา แต่ในบางขณะบุคคลที่มีอารมณ์เผลอ มักจักปล่อยอารมณ์ของจิตให้เคว้งคว้างขาดสติ อย่างกับคนใจลอยเดินข้ามถนนจนถูกรถชนตาย เป็นต้น จักว่ามีอารมณ์คิดก็ไม่ใช่ จักว่ามีอารมณ์พักก็ไม่เชิง จิตมันเหม่อลอยจนเพลินไป เพราะฉะนั้น ในบุคคลที่เป็นนักปฏิบัติจักต้องรู้ว่า เวลานี้จิตต้องการพัก ก็จักใคร่ครวญ คือ ตรวจสอบดูว่าอารมณ์จิตนั้นจับอยู่ในสมถภาวนาหรือไม่ หรือว่าเผลอเรอ ปล่อยสมาธิที่กำหนดรู้สมถภาวนานั้นไปจากจิต

    ๗. “คนฉลาดเขาจักต้องรู้และทำการศึกษา ใคร่ครวญ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้อยู่ในจิตเสมอ ๆ เยี่ยงนี้แหละเจ้า เข้าใจไหม อย่าทิ้งความเพียรในการกำหนดรู้ศีล สมาธิ ปัญญาในจิตนี้ ทำบ่อย ๆ ใจเย็น ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ในที่สุดจิตจักชิน ศีล สมาธิ ปัญญาก็จักอยู่ในจิตได้ตลอดเวลา

    ๘. “ในเมื่อเข้าใจแล้ว ก็จงหมั่นนำไปปฏิบัติด้วย แต่อย่าสร้างอารมณ์หนักใจให้เกิด พยายามรักษาอารมณ์จิตให้เบา ๆ แต่เต็มไปด้วยความพร้อมที่จักปฏิบัติเข้าไว้ให้ทุกเมื่อ ด้วยอารมณ์มัชฌิมาปฏิปทา มรรคผลก็จักเกิดขึ้นได้โดยง่าย

    ๙. “หากความหนักใจในอารมณ์เกิดขึ้น ก็จงกำหนดรู้ว่า อารมณ์นี้ไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะเป็นอารมณ์ของความทุกข์ จักต้องหมั่นหาทางแก้ไขอารมณ์นั้นทิ้งไป”

    ๑๐. “การเจริญพระกรรมฐาน มุ่งหวังให้จิตเป็นสุข สงบเยือกเย็น ไม่ว่าจักเป็นทางด้านสมถะหรือวิปัสสนา ต้องหมั่นดูผลที่ได้เยี่ยงนี้อยู่ตลอดเวลา เป็นการตรวจสอบอารมณ์ของจิต อย่าให้เดินมรรคได้ผลผิด ๆ

    ธัมมวิจัย จากคำสอนของพระองค์ หลวงปู่ หลวงพ่อ มีความสำคัญดังนี้

    ๑. กรรมทั้ง ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทำให้เกิดอารมณ์ ๓ คือ โมหะ โทสะ ราคะ ทุกองค์เน้นเรื่องศีล สมาธิ ปัญญาทั้งสิ้น

    ๒. ในการปฏิบัติให้พร้อมอยู่ที่จิตเสมอ เพราะจิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นใหญ่ ทุกสิ่งสำเร็จได้ที่จิตทั้งสิ้น

    ๓. ให้ยอมรับกฎของกรรม (ด้วยปัญญา) ยอมรับกฏธรรมดาของโลก คือ สัจธรรม ๕ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวัง) หากไม่ยอมรับ จิตจะเกิดอารมณ์ ๒ ขึ้น คือ ไม่พอใจ (ปฏิฆะ) กับพอใจ (ราคะหรือโลภะ) เป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน และสร้างอกุศลกรรมต่อไป คือ ต่อกรรม สร้างกรรมทั้ง ๓ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรรมจึงไม่มีทางลดลงจากจิต มีผลทำให้จิตต้องมาเกิดเพื่อรับผลของกรรมที่ตนเองทำไว้ จึงมีการเกิดแล้วตาย ๆ อยู่อย่างนั้น เพราะไม่เข้าใจธรรมในข้อนี้

    ๔. การเกิดจะหยุดลงได้ ก็ต้องยอมรับกฎของกรรม ซึ่งเป็นอริยสัจชั้นสูงในพระพุทธศาสนา และมีแต่เฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นไม่มีคำสอนหรืออุบายที่ทำจิตให้พ้นจากกรรมทั้ง ๓ ได้อย่างถาวร คือ เอาจิตพ้นภัยไปอยู่แดนพระนิพพาน เพราะรู้จริงว่าร่างกายไม่มีทางพ้น พ้นได้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญานี่แหละ

    ๕. พระโสดาบัน พระสกิทาคามียังมีอารมณ์ ๒ อยู่ แต่อยู่ในขอบเขตของอธิศีลและกรรมบถ ๑๐ จึงไม่สามารถทรงอารมณ์สังขารุเบกขาญาณให้อยู่กับจิตได้ตลอดเวลา เหมือนกับพระอนาคามีผลและพระอรหัตผล (จิตเจริญระดับไหนก็รู้ธรรมได้ในระดับนั้น)

    ๖. หลวงพ่อฤๅษีท่านแสดงธรรมจุดนี้ ในขณะขันธ์ ๕ ยังทรงอยู่ คือ ตอนท่านป่วยหนักครั้งใด อารมณ์จิตของท่านยิ่งสงบเย็นและเป็นสุขมากเท่านั้น หรือเป็นสุขมากกว่าธรรมดา เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จิตท่านแยกจากกายได้ตลอดเวลา เวทนาทางกายจึงทำอะไรจิตท่านไม่ได้ ท่านมีมรณาและอุปสมาอยู่กับจิตท่านทุกขณะจิต และจิตของพระอรหันต์ท่านไม่เคยพลาดจากพระนิพพาน ท่านเคารพในกฎของกรรม จึงไม่หนีกรรมที่ท่านทำไว้ในอดีต

    ๗. ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทในความตาย จึงมีมรณาและอุปสมานุสติอยู่ทุกขณะจิต มีอารมณ์สังขารุเบกขาญาณหรืออารมณ์ช่างมันอยู่อารมณ์เดียวทรงตัว เพราะมีอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาสมบูรณ์ จึงวางสักกายทิฏฐิได้ถาวร (สักกายทิฏฐิ พระท่านแปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย) ท่านจึงไม่มีอารมณ์เกาะกายหรือขันธ์ ๕ อันประกอบด้วยธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ สกปรก ไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ เหมือนต้องติดคุกไปตลอดชีวิต เหมือนต้องเลี้ยงลูกอ่อนตลอดชีวิต จึงเอาจิตทิ้งกายไปแดนที่ไม่มีการเกิดการตายอีกต่อไปอย่างผู้ฉลาด

    ๘. พระอรหันต์ที่จบกิจแล้ว แต่ร่างกายยังทรงอยู่ จิตท่านเป็นสุขก็จริง แต่กายท่านยังต้องรับกรรม (ตามกฎของกรรมที่เที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย) ที่ท่านทำไว้ในอดีต ท่านเคารพในกฎของกรรม ท่านจึงไม่หนี ยอมรับความจริงหรือยอมรับกฎของกรรมด้วยความเคารพ แต่กฎของกรรมก็เล่นงานจิตของท่านไม่ได้ เล่นงานได้แค่ร่างกายที่จิตท่านมาอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อกายป่วยหนักครั้งใด จิตท่านจึงเป็นสุขมากเท่านั้น เพราะกำลังจะพ้นจากคุกหรือขันธ์ ๕ อย่างถาวร

    ๙. หลวงพ่อฤๅษี ท่านเมตตาสงเคราะห์ให้ได้เห็นอารมณ์จิตของท่านในขณะนั้นว่า มันเป็นสุข โปร่งเบาสบายมากอย่างไร จิตไม่มีการวิตกกังวล หรือเกี่ยวข้องกับสมมุติต่าง ๆ ในโลก ซึ่งไม่เที่ยงแม้แต่น้อย ก็นึกว่า อ้อ อารมณ์สังขารุเบกขาญาณนั้นเป็นอย่างนี้เองหนอ

    หลวงพ่อฤๅษีท่านก็เมตตามาสงเคราะห์ สอนว่า

    ๑. “สบายกว่าปกติเพราะเห็นหลักชัย พ้นจากเครื่องจองจำจิตอยู่รอมร่อ อารมณ์มันจึงมีความเฉยในร่างกาย ที่มันกำลังจะพัง ยิ่งกว่ายามปกติที่เฉยอยู่อีกหลายเท่า”

    ๒. “เมื่อเข้าใจ ก็จงรู้เอาไว้ถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎของกรรม เพื่อตัดกรรมให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงคือ ความเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่าน หลวงปู่ หลวงพ่ออีกหลาย ๆ องค์ เพียรมาสอนกฎของกรรมซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายรูปแบบ ไม่ว่ากฎของกรรมที่เกิดจากอารมณ์โกรธ อารมณ์รัก หรืออารมณ์หลง อันซึ่งทำให้มีการเสพกามในรูปแบบต่าง ๆ ก็ดี หรือทำให้มีการอาฆาตพยาบาทก็ดี ก็เพื่อให้พวกเอ็งเห็นโทษของกฎของกรรม ที่ส่งผลให้เกิดกรรมนั้น ๆ ต่อเนื่องกันมา”

    ๓. “ศึกษาจุดนี้เอาไว้ให้ดี ๆ อย่างร่างกายของพ่อ หรือของหลวงปู่ชาซึ่งโดนกระทำ ก็เนื่องมาจากกรรมปาณาติบาต อันมีแรงโทสะ อาฆาตพยาบาท เป็นแรงจูงใจให้เขาทำกรรมขึ้นมา แต่ในลูกของพระพุทธเจ้า ศึกษาธรรมหรือกรรมมาดีแล้ว ก็ย่อมจะมีความเข้าใจในกฎของกรรมมาตามลำดับ และยอมรับนับถือกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ กรรมใด ๆ ถ้าเราไม่เคยทำเอาไว้ก่อน กรรมนั้นจะส่งผลมาให้เราต้องรับนั้นไม่มี ลูกขององค์สมเด็จพระชินสีห์ หากเข้าถึงอริยมรรค อริยผลเบื้องสูง จะมีความเคารพในกฎของกรรมอย่างแรงกล้า จึงจะมีอภัยทานให้แก่ทุกท่านที่มาทวงหนี้กรรมของเขาคืน ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บหรือถูกคนหรือสัตว์ทำร้าย ลูกพระพุทธเจ้าเต็มใจใช้คืนเขาไป เพื่อให้หมดกรรมตามกล่าวมาแล้ว

    ๔. “อุเบกขาในพรหมวิหาร ๔ เข้มข้นมาก เป็นสังขารุเบกขาญาณ การยอมรับกฎของกรรม โดยความเข้าใจความเป็นจริงในกฎของกรรมนั้น ๆ เป็นสาเหตุให้ปล่อยวาง ละอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะได้ในที่สุด

    ๕. “ขอให้พวกเอ็งตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดของการหมดกรรมได้ คือ หมดไปเสียจากการมีร่างกาย หมดไปเสียจากการเกิด จะด้วยอารมณ์โลภ โกรธ หลงก็ตาม พ่อจะดีใจมากและรอการมาพระนิพพานของพวกเอ็งทุกคน”

    ๖. “การปฏิบัติธรรมเป็นสมบัติของพวกเอ็งที่จะนำติดตัวมาพบพ่อได้ แต่ไม่ใช่เร่งความตายให้ใกล้เข้ามา จำไว้ ร่างกายยังมีชีวิตอยู่ จงทำหน้าที่ตอบสนองคุณพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนพระธรรม จนพ่อนำมาสอนพวกเอ็งให้พ้นทุกข์ได้อย่างเต็มความสามารถ ทำด้วยกำลังใจที่เบิกบาน

    ๗. “อนาคตอะไรที่รออยู่ข้างหน้านั้นไม่เที่ยง แต่ความตายของร่างกายของพวกเอ็งนั้นเที่ยงแน่ กฎของกรรมมันก็เที่ยง เพราะฉะนั้นพวกเอ็งจงอย่าประมาท รีบทำความเพียรให้จิตเที่ยง เพื่อมาพระนิพพานดีกว่า ทำความเพียรอย่างผู้มีสติ คือ ไม่ใช้ความเพียรด้วยอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ จำไว้ ถ้าทำแล้วโมหะ โทสะ ราคะเพิ่ม อันนี้ไม่ใช่ความเพียรที่ถูกทาง ต้องให้ทำแล้วโมหะ โทสะ ราคะลดลง อันนั้นแหละเป็นความเพียรที่ถูกทาง

    ๘. “พวกเอ็ง ๒ คน อย่าทิ้งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการปฏิบัติธรรม ชี้แนะแก่กันและกัน ตรวจสอบความบกพร่องในการปฏิบัติธรรมกันอยู่เสมอ ๆ ไม่จำเป็นต้องคุยกันมาก เอาแต่เนื้อหาสาระมาแนะนำ ปรึกษากันในเวลาเล็กน้อย ที่พบในขณะทำวัตรเช้าและเย็น และกรรมฐานเที่ยงก็พอ ไม่จำเป็นต้องคุยกันมากเหมือนสมัยก่อนแล้ว หลีกเลี่ยงโลกะวัชชะ ทำคนอื่นที่นินทาให้เดือดร้อนนั้นเราไม่ทำ เลิกเบียดเบียนตนเองด้วย เลิกเบียดเบียนคนอื่นด้วย ค่อย ๆ ทำไป อย่าใจร้อน แต่ก็ห้ามใจเย็นจนเกินไป ทำให้พอดี ๆ ก็แล้วกัน เทานี้นะ พ่อไปละ”


    ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน


    ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com

    ที่มา วัดท่าขนุน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • ksp.jpg
      ksp.jpg
      ขนาดไฟล์:
      7.9 KB
      เปิดดู:
      525
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,242
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,108
    ค่าพลัง:
    +70,447
    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
    อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
    [​IMG]
    [​IMG]

    พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]


    ๓. มหาวรรค ๕. กสิณสูตร


    ๕. กสิณสูตร
    ว่าด้วยบ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์๑-
    [๒๕] ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการนี้
    บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
    ๑. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปฐวีกสิณ(กสิณคือดิน)เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง
    ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
    ๒. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอาโปกสิณ(กสิณคือน้ำ) ...
    ๓. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดเตโชกสิณ(กสิณคือไฟ) ...
    ๔. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวาโยกสิณ(กสิณคือลม) ...
    ๕. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดนีลกสิณ(กสิณคือสีเขียว) ...
    ๖. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปีตกสิณ(กสิณคือสีเหลือง) ...
    ๗. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโลหิตกสิณ(กสิณคือสีแดง) ...
    ๘. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโอทาตกสิณ(กสิณคือสีขาว) ...
    ๙. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอากาสกสิณ(กสิณคือที่ว่างเปล่า) ...
    ๑๐. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวิญญาณกสิณ(กสิณคือวิญญาณ)เบื้องบน เบื้องต่ำ
    เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
    ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการ นี้แล
    กสิณสูตรที่ ๕ จบ
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,242
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,108
    ค่าพลัง:
    +70,447
    [๔๕๒] พ. ดูกรอนุรุทธ พวกเธอต้องแทงตลอดนิมิตนั้นแล แม้เราก็เคยมาแล้ว
    เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้เองด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการ
    เห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้
    เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเรา
    หายไปได้ ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า วิจิกิจฉาแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็วิจิกิจฉา
    เป็นเหตุสมาธิของเรา จึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
    เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉาขึ้นแก่เราได้อีก ฯ


    .....

    [๔๖๖] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตกมีวิจารบ้าง ได้เจริญ สมาธิไม่มีวิตก
    มีแต่วิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มี
    ปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ฯ
    ดูกรอนุรุทธ เพราะสมาธิชนิดที่มีวิตกมีวิจารบ้าง ชนิดที่ไม่มีวิตกมี แต่วิจารบ้าง ชนิดที่
    ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ชนิดที่มีปีติบ้าง ชนิดที่ไม่มีปีติบ้างชนิดที่สหรคตด้วยสุขบ้าง ชนิดที่
    สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง เป็นอันเราเจริญแล้วฉะนั้นแล ความรู้ความเห็นจึงได้เกิดขึ้นแก่เราว่า
    วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้ เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธจึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของ
    พระผู้มีพระภาคแล ฯ
    จบ อุปักกิเลสสูตร ที่ ๘
     
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,242
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,108
    ค่าพลัง:
    +70,447
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
    อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต





    [๒๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญปฐวีกสิณแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้ว
    มือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา
    ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึง
    ผู้กระทำให้มากซึ่งปฐวีกสิณนั้นเล่า ถ้าภิกษุเจริญอาโปกสิณ ... เจริญเตโชกสิณ ...
    เจริญวาโยกสิณ ... เจริญนีลกสิณ ... เจริญโลหิตกสิณ ... เจริญโอทาตกสิณ ...
    เจริญอากาสกสิณ ... เจริญวิญญาณกสิณ ... เจริญอสุภสัญญา ... เจริญมรณ-
    *สัญญา ... เจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา ... เจริญสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ... เจริญอนิจจ
    สัญญา ... เจริญอนิจเจทุกขสัญญา ... เจริญทุกเขอนัตตสัญญา ... เจริญปหาน
    สัญญา ... เจริญวิราคสัญญา ... เจริญนิโรธสัญญา ... เจริญอนิจจสัญญา ...
    เจริญอนัตตสัญญา ... เจริญมรณะสัญญา ... เจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา ... เจริญ
    สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ... เจริญอัฏฐิกสัญญา ... เจริญปุฬุวกสัญญา ...
    เจริญวินีลกสัญญา ... เจริญวิจฉิททกสัญญา ... เจริญอุทธุมาตกสัญญา ... เจริญ
    พุทธานุสสติ ... เจริญธัมมานุสสติ ... เจริญสังฆานุสสติ ... เจริญสีลานุสสติ ...
    เจริญจาคานุสสติ ... เจริญเทวตานุสสติ ... เจริญอานาปานสติ ... เจริญมรณ
    สติ ... เจริญกายคตาสติ ... เจริญอุปสมานุสสติ ... เจริญสัทธินทรีย์ อัน
    สหรคตด้วยปฐมฌาน ... เจริญวิริยินทรีย์ ... เจริญสตินทรีย์ ... เจริญสมาธินทรีย์
    ... เจริญปัญญินทรีย์ ... เจริญสัทธาพละ ... เจริญวิริยพละ ... เจริญสติ
    พละ ... เจริญสมาธิพละ ... เจริญปัญญาพละ ... เจริญสัทธินทรีย์อันสหรคต
    ด้วยทุติยฌาน ฯลฯ เจริญสัทธินทรีย์อันสหรคตด้วยตติยฌาน ฯลฯ เจริญสัทธินทรีย์
    อันสหรคตด้วยจตุตถฌาน ฯลฯ เจริญสัทธินทรีย์อันสหรคตด้วยเมตตา ฯลฯ
    เจริญสัทธินทรีย์อันสหรคด้วยกรุณา ฯลฯ เจริญสัทธินทรีย์อันสหรคตด้วยมุทิตา
    ฯลฯ เจริญสัทธินทรีย์อันสหรคตด้วยอุเบกขา ... เจริญวิริยินทรีย์ ... เจริญ
    สตินทรีย์ ... เจริญสมาธินทรีย์ ... เจริญปัญญินทรีย์ ... เจริญสัทธาพละ ... เจริญ
    วิริยพละ ... เจริญสติพละ ... เจริญสมาธิพละ ... เจริญปัญญาพละ แม้ชั่วกาลเพียง
    ลัดนิ้วมือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา
    ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า จะป่วยกล่าวไปไยถึง
    ผู้กระทำให้มากซึ่งปัญญาพละ อันสหรคตด้วยอุเบกขาเล่า ฯ

    เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๑๑๓๖ - ๑๑๖๒. หน้าที่ ๕๐ - ๕๑.
    http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=1136&Z=1162&pagebreak=0
    อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ ที่ :-
    http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=224&items=&preline=&mode=bracket
    ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
    http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=207
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,242
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,108
    ค่าพลัง:
    +70,447
    “ผู้บวชเข้ามาเป็นพระในพระพุทธศาสนามีศีลเป็นบันไดรองรับขั้นต้น จิตจึงมีความเย็นด้วยศีล เมื่อปฏิบัติพระกรรมฐาน การทำสมาธิจิตเพ่งกสิณได้ก็เป็นอารมณ์จิตเย็น
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...